‘อำนวย ปะติเส’ เชื่อ โค่นยางพาราไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ทำราคายางดีขึ้น

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ระบุราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากผลงานเร่งโค่นยางกว่า 1 ล้านไร่ คาดผลผลิตทั้งปีลดลง 5 แสนตัน พร้อมเตรียมถกมาตราการรับมือรอบ 57/58 ดันบัฟเฟอร์ฟันด์ ส่วนข้อเสนอเกษตรกรเรื่องชดเชยส่วนต่าง กระทรวงไม่เห็นด้วย

28 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันของไทยที่ปรับขึ้นถึง กก.ละ 60 บาทในปัจจุบัน ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ยางที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากมาตรกรเร่งโค่นยางในพื้นที่ป่า เขตอุทยาน รวมทั้งการโค่นยางในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) 1 ล้านไร่ แยกเป็น เขตป่าสงวนอุทยาน รวม 6 แสนไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานได้ใช้มาตรการเร่งรัดกลุ่มนายทุนให้ดำเนินการอย่างรีบด่วน ในขณะที่ ส.ก.ย. คาดว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้นคาดว่าในปี 2558/59 นี้ ผลผลิตของไทยจะลดลงเหลือ 3.9 ล้านตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 4.4 ล้านตัน  นอกจากนี้ยังคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะไม่ปรับตัวลดลงอีกต่อไป ปริมาณยางสังเคราะห์จะลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ราคายางโดยปกติจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอยู่แล้ว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตตาม ดังนั้นแนวโน้มยางพารายังดี

"ราคายางที่ต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิต อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยไปกว่าไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ เดิมไม่ค่อยจะตื่นเต้นกับรายางที่ตกต่ำมาก โดยอินโดนีเซีย ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะปลูกในเขตป่าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ มาเลเซียเป็นประเทศที่จัดการกับปัญหาได้ดีเพราะมีพื้นที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ แต่การตกต่ำของราคาครั้งนี้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเช่นเดียวกับเวียดนามที่แม้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดไม่มาก ก็หันมาที่จะเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ จากเดิมที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่มทุกครั้ง แม้แต่จีนที่ปลูกได้แต่กรีดได้น้อยก็ต้องการเข้ามาแก้ปัญหานี้" อำนวย กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะลดพื้นที่ปลูกไปมาก แต่การขยายพื้นที่ปลูกของประเทศเพื่อนบ้านยังมีอยู่ ดังนั้นความเสี่ยงของปัญหาราคาตกต่ำยังคงจะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยางในประเทศไทยได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องใช้มาตรการลดการพึ่งพาการส่งออก แล้วหันมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่ามีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตัน จากเดิมที่จะใช้เพียง 300,000 ตัน นั้นคิดว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการสำรวจตามต่างจังหวัดมีการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสำรวจอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ในหมวดว่าด้วยการแปรรูป  ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชุมชนจาก พ.ร.บ.เดิมจะต้องขอตั้งงบประมาณในส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการ และห้ามไม่ให้มีการประกวดราคารับจ้างข้ามถิ่น ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมน้อย ผลงานจึงไม่เกิดขึ้น ตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้ จะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วม  วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศได้มากขึ้น

ส่วนการเตรียมรับมือผลผลิตยางปี 57/58 นั้น ในวันที่ 29 พ.ค. จะหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายสภาเกษตรกรฯนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาชดเชยส่วนต่างของราคายางในตลาดกับราคาที่กำหนดโดยต้องการให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อที่กก.ละ70บาทแทน แนวทางเดิมที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่จะใช้วงเงินที่มีอยู่12,000 ล้านบาทในโครงการมูลภัณฑ์กันชน  หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ต่อ เนื่องจากจีนมีข้อตกลงใหม่ ที่จะซื้อยางจากไทยถึง 2 แสนตัน   โดยพร้อมจะบวกราคาเพิ่มสูงกว่าราคาตลาดทำให้โครงการบัฟเฟอร์ฟันด์จะมีรายได้ จากตรงนี้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้มาตรการชดเชยส่วนต่างตามที่สภาเกษตรกรเสนอนั้น ต้องใช้งบประมาณถึง  39,000 ล้านบาท  ถือว่าสูงมากและรัฐบาลไม่มีงบดำเนินการแล้ว ข้อเสนอของสภาเกษตรกรฯครั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรจึงไม่เห็นด้วย แต่พร้อมจะหารือเพื่อรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ   

สำหรับราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 57.89 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันแตะระดับ 60.60 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้น 0.62 บาท/กก. และ 0.05 บาท/กก. โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปี ประกอบกับอุปทานยางยังคงออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและนักลงทุนเทขายทำกำไร เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจบางรายการออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางในในระดับหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท