ขนส่งสั่งเลิก Grab Bike-Uber MOTO สร้างความไม่สงบ-แก่งแย่งผู้โดยสารวิน จยย.

กรมการขนส่งทางบก-กองพล 1-นครบาล-เทศกิจ สั่งเลิกบริการ Grab Bike-Uber MOTO พร้อมชี้แจง จยย.รับจ้างทั้ง 2 ระบบ แก่งแย่งผู้โดยสารจากวิน จยย.สาธารณะที่จัดระเบียบกับ คสช แล้ว ก่อให้เกิดความแตกแยก สร้างความไม่สงบในสังคม เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากวิน จยย. ขอให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการทันที ที่ผ่านมาจับไปแล้ว 66 ราย หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะใช้ระเบียบ คสช.

17 พ.ค. 2559 หลังเริ่มบริการขนส่งผู้โดยสารด้วยมอเตอร์ไซต์ในราคาเริ่มต้น 10 บาท ราคาเฉลี่ยกิโลเมตรละ 5 บาท และต่อมาถูกกรมการขนส่งทางบกสั่งให้ยุติดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. ในรายงานของวิทยุ จส.100 กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวันเชิญบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล Grab Bike และ Uber MOTO เข้าหารือเพื่อชี้แจงกฎระเบียบ และประเด็นปัญหาที่ขัดต่อกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง หลังจากเคยมีการพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ และได้เคยแจ้งให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการที่ผิดกฎหมายทันที

โดยฝ่ายกรมการขนส่งทางบกอ้างว่า ที่ผ่านมายังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมาย โดยทั้ง 2 บริษัทได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเปิดรับสมัครผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นสมาชิกเพื่อให้บริการรับจ้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพฤติกรรมแก่งแย่งผู้โดยสารจากวินจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้อง

ทั้งนี้นายณันทพงศ์  เชิดชู  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดว่า การเข้ามาของ Uber Moto และ Grab Bike สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมให้กับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่ระบบการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อให้เกิดความแตกแยกและมีผู้ได้รับผลกระทบซึ่งสร้างความไม่สงบในสังคม และอาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ดังนั้น ขอให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการโดยทันที หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง จะดำเนินการตามระเบียบของ คสช. ต่อไป

กรมการขนส่งทางบก ย้ำรถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน และเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายกรมการขนส่งทางบกจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจการขนส่งทางบก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมายผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยหากตรวจสอบพบการกระทำความผิดจะเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกรายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้แก่

ความผิดตามมาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

มาตรา 5(15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบการฝ่าฝืนและสามารถจับกุมได้แล้วทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งเป็น Grab Bike 37 ราย Uber Moto 29 ราย บันทึกประวัติไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบความผิดซ้ำจะพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

อนึ่ง เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สำรวจ ' ซุ้ม-เสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง' พบส่วนต่างเป็นเหตุดึงค่าโดยสารสูงเกินจริง บางวินราคาสูงถึงครึ่งล้าน ระบุค่าโดยสารที่แพงเพราะบวกราคาเสื้อวิน ขณะที่บริการเรียกรถออนไลน์ถูกกว่า เพราะคิดจากราคาจริงตามระยะทาง นักวิชาการแนะรัฐเปิดแข่งขัน เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท