Skip to main content
sharethis

โสภณ ระบุฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มาแล้ว  แนะ ให้มีสัดส่วนเงินดาวน์เพิ่มขึ้น คุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านเป็น "ภาคบังคับ" ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อผ่อนภาระของผู้กู้ และจำกัดและควบคุมการออกหุ้นกู้ของบริษัทมหาชน และให้การคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้ให้มากขึ้น

26 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ว่า จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ฯ พบข้อมูลที่อาจถือเป็นการเตือนภัยก็คือ ณ พ.ศ.2560 มูลค่าโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ จะมากที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาในรอบ 23 ปี ตั้งแต่ปี 2537 ที่อยู่ในยุคบูมสุดๆ 

โสภณ ระบุว่า จากตารางข้างต้นในรอบ 11 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนโครงการใหม่ 364 โครงการ ลดลง 15% จากในช่วงเวลาเดียวกัน มีจำนวนหน่วยเปิดใหม่แล้ว 107,353 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าสินค้าเปิดใหม่ 408,970 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 14% และเมื่อนำตัวเลขข้างต้นมาประมาณการทั้งปี จึงคาดว่าในปี 2560 จะมีโครงการเปิดตัวใหม่ 397 โครงการ น้อยกว่าปีก่อน 13%  แต่มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 8% โดยมี 117,112 หน่วย  และมีมูลค่ารวมสูงถึง 446,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 22%

โสภณ ตั้งข้อสังเกต ว่าตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย สินค้าเฉลี่ยมีราคา 3.81 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วสินค้าราคาเฉลี่ย 3.365 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13%  แสดงว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าแต่ก่อน  ปรากฏการณ์ประหลาดนี้ก็คือสินค้าราคาถูก หรือราคาปานกลางค่อนข้างถูก ขายได้ยาก  แต่สินค้าราคาแพงหรือปานกลางค่อนข้างแพงกลับขายดีกว่า ทุกวันนี้แม้แต่ บมจ.แอลพีเอ็นดีเวลลอปเมนท์ ที่มีคุณูปการต่อชาติเป็นอย่างยิ่งที่สร้างบ้านราคาถูกขายแก่ประชาชน ก็ยังหันมาสร้างบ้านราคาสูงขึ้น เพราะบ้านราคาถูกไม่มีคนซื้อ ไม่ใช่คนไทยรวยขึ้น แต่เพราะคนจนมีฐานะแย่ลง ไม่มี "ปัญญา" ซื้อ  แต่คนรวยกลับรวยขึ้นต่างหาก  โดยนัยนี้การจะส่งเสริมให้คนจนซื้อบ้าน จึงเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยาก  ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนซื้อบ้าน เพราะซื้อกันเองอยู่แล้วโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีรายได้ค่อนข้างสูงหรือมีรายได้ที่แน่นอน เช่น พวกข้าราชการ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ
       
โสภณ ระบุว่า การที่มีโครงการที่มีมูลค่ารวมสูง ๆ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเรากำลังเริ่มเกิดฟองสบู่ชัดเจนแล้วในปี 2560 แต่ไม่ใช่ฟองสูงสินค้าระดับล่าง แต่เป็นระดับสูงที่มีคนซื้อไว้เก็บกำไรมากขึ้นทุกที  และหากกระแสเก็งกำไรมีมาก และหากวันหนึ่งเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ปล่อยทิ้งสินค้า ซึ่งมักมีสัดส่วนเงินดาวน์ต่ำ ทำให้เกิดวิกฤติแก่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินและสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ได้
       
แถลงของ โสภณ ระบุต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายน อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการเปิดตัวโครงการคึกคักมากเป็นพิเศษ หลังจากมีการชะลอการเปิดตัวไปในเดือนตุลาคม โดยในเดือนนี้มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ทั้งหมด 49 โครงการ เป็นการพัฒนาในกลุ่มที่อยู่อาศัย 48 โครงการ และเป็นอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ 1 โครงการ มีจำนวนหน่วยขายทั้งหมด 16,368 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 82,226 ล้านบาท เมื่อเจาะลึกลงในเดือนล่าสุด จำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้มีทั้งหมด 16,368 หน่วย โดยประเภทที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดในเดือนนี้ยังคงเป็นอาคารชุดเช่นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนหน่วยเปิดขาย 9,251 หน่วย (56.5%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 4,052 หน่วย (24.8%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 2,369 หน่วย (14.5%) ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด
         
ผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (มหาชน) จำนวน 15 บริษัท  บริษัทมหาชนครองส่วนแบ่งในตลาดถึง 80% บริษัท SMEs กลับร่อยหรอลง นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวมากเช่นกัน  ปรากฏการณ์นี้จะแก้ไขอย่างไร มีทางออกดังนี้  1. การให้มีสัดส่วนเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เช่น แทนที่จะเป็น 5% อาจเป็น 15%-20% เพื่อความมั่นใจในการซื้อ-ขายที่แน่ชัด 2. ให้มีการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านเป็น "ภาคบังคับ" เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์  3. ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อผ่อนภาระของผู้กู้ เพราะสถาบันการเงินก็มีรายได้ทางอื่นอยู่มากแล้ว ระบบธนาคารมีกำไรดีและมั่นคงโดยพบว่า “สำหรับผลประกอบการของธนาคารในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 33,953 ล้านบาท. . .รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 23,272 ล้านบาท. . .รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 11,419 ล้านบาท” 
 
และ 4. จำกัดและควบคุมการออกหุ้นกู้ของบริษัทมหาชน และให้การคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้ให้มากขึ้นในทางตรงกันข้าม ยังควรห้ามดำเนินการ 2 ประการคือ 1. ห้ามธนาคารเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ทุกวันนี้ธนาคารได้รับการผ่อนผันให้ประเมินค่าทรัพย์สินในวงเงินสินเชื่อถึง 100 ล้านบาท ทำให้กลับเข้าสู่กลียุคเดิมที่สถาบันการเงินล้มระเนระนาดเพราะปล่อยกู้โดยการประเมินกันเอง ควรให้บริษัทประเมินที่เป็นกลางเป็นผู้ประเมินให้ ควรสร้างความโปร่งใสมากกว่านี้ 2. ไม่ควรให้ธนาคารเลือกปฏิบัติด้วยการปล่อยกู้แต่โครงการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเท่ากับทำลายบริษัทพัฒนาที่ดินระดับ SMEs ถ้ารัฐบาลบังคับให้ทุกบริษัทคุ้มครองเงินดาวน์ คุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกัน ก็จะทำให้ธนาคารอำนวยสินเชื่อโดยเท่าเทียมมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากขึ้น ประชาชนมีโอกาสเลือกซื้อมากขึ้น เป็นต้น
       
สำหรับ ภาวะฟองสบู่ โสภณ อธิบายว่าคือการเกิดขึ้นของโครงการที่น่าจะมากเกินความต้องการ เฟื่องฟูกันใหญ่เลย โดยแรก ๆ จะมีคนซื้อคนขายกันคึกคัก แต่ในช่วงต่อมาก็จะมีแต่คนขาย มีการผลิตมากมาย แต่คนซื้อชักหดตัว เรียกว่า Oversupply หรือ Overbuilt สุดท้ายฟองสบู่ก็แตก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540  ที่โครงการต่าง ๆ พากันลงเหวกันยกใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net