Skip to main content
sharethis

สื่อนิวยอร์กไทม์ระบุถึงคู่ปรับล่าสุดสำหรับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมแนวทางอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์จีน หนุ่มสาวผู้เข้าถึงการศึกษาและโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ตพากันผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สิทธิแรงงาน จนเป็นที่หวั่นใจของรัฐบาลว่าแนวคิดสังคมนิยมที่ตัวเองปลูกฝังผ่านการศึกษาจะมาขัดขาเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีจีนที่โตวันโตคืน

ภาพหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ผลักดันประเด็นสิทธิแรงงาน (ที่มา: CLB)

พวกเขาอ่านงานของมาร์กซ์ เลนิน และเหมาเจ๋อตุง พวกเขาเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่รวมกลุ่มกันเพื่อหารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าของระบอบสังคมนิยม คนรุ่นใหม่เหล่านี้พากันสืบสาวว่ามีการปฏิบัติต่อชนชั้นแรงงานอย่างไรบ้างไม่ว่าจะเป็นภารโรง คนทำอาหาร หรือคนงานก่อสร้าง พวกเขาอาสาสมัครช่วยเหลือครอบครัวในชนบทที่กำลังขัดสนดิ้นรน พวกเขายังถือเป็นหน้าที่ในการที่จะท่องคำขวัญของผู้นำจีนคนปัจจุบันคือประธานาธิบดีสีจิ้นผิงด้วย

หลังสำเร็จการศึกษา พวกเขาเหล่านี้พากันพยายามทำตามอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามโรงงานและประท้วงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงานที่ดีกว่านี้ แต่ทว่าจุดนี้เองที่พรรครัฐบาลจีนเริ่มมองพวกเขาว่าเป็นตัวปัญหา ทำให้รัฐบาลจีนบดขยี้ความพยายามของนักกิจกรรมรุ่นเยาว์เหล่านี้ด้วยการจับกุมตัวพวกเขา

อย่างไรก็ตาม การจับกุมนักศึกษากลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กลุ่มคนหนุ่มสาวในประเทศต่างก็รู้สึกไม่พอใจกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันและวัตถุนิยมในสังคมของจีน

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าการประท้วงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในจีนโดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่ไม่มีที่พึ่งอื่นนอกจากการตั้งสหภาพที่เป็นอิสระ นับตั้งแต่กรณีการสังหารผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 เป็นต้นมา นักศึกษาพากันหันมาเน้นเรื่องการช่วยขับเคลื่อนวาระทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน โดยเน้นเรื่องการสร้างงาน ที่อยู่อาศัย และความเป็นอยู่ที่ดีทางวัตถุไปพร้อมๆ กับสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการจีน หรืออย่างน้อยก็พยายามเลี่ยงเรื่องการเมือง ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้าลงนั้น เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เริ่มกังวลว่าชาติตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเรื่องในระดับโลก และเชื่อมต่อสื่อสารทางดิจิทัลได้มากขึ้น

บทความในนิวยอร์กไทม์เน้นนำเสนอเรื่องของนักกิจกรรมที่เรียกร้องประเด็นแรงงานในเมืองหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งกลับกลายมาเป็นขวากหนามของรัฐบาลจีนในแบบที่รัฐบาลไม่เคยคาดคิดมาก่อน นักกิจกรรมเหล่านี้ถือป้ายรูปเหมาเจ๋อตุง ร้องเพลงสังคมนิยม พวกเขาพูดถึงอุดมการณ์แบบเดียวกับที่รัฐบาลพร่ำสอนพวกเขาในคาบเรียนเกี่ยวกับอุดมการณ์ มีการสะท้อนประเด็นความเจ็บปวดของผู้คนอย่างความยากจน สิทธิแรงงาน และความเท่าเทียมทางเพศ

มีนักศึกษารายหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินผู้เข้าร่วมการประท้วงกล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นถูกกฎหมายและเป็นเหตุเป็นผล "พวกเราเป็นมาร์กซิสต์ พวกเรายกย่องสังคมนิยม พวกเรายืนหยัดร่วมกับคนงาน ทางการไม่ควรจะตั้งเป้าเล่นงานพวกเรา"

กรณีพิพาทแรงงานที่เซินเจิ้น จุดเริ่มต้นของแนวร่วมแรงงาน-นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่

50 นักศึกษาจีนหายตัวไป-หลังจนท.จีนบุกจับกรณีสนับสนุนแรงงานตั้งสหภาพ

แต่แล้วทางการจีนก็ใช้ตำรวจในชุดปราบจลาจลพังประตูบุกเข้าไปในที่พักของนักศึกษาในหุ้ยโจว จับกุมตัวนักศึกษาเหล่านี้ในขณะที่พวกเขาจับมือกันร่วมร้องเพลง "L'Internationale" บทเพลงสำคัญของสังคมนิยม แม้บางส่วนจะได้รับการปล่อยตัวแต่ก็มีนักกิจกรรมและแรงงาน 14 คนที่ยังถูกคุมขัง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าแรงงานเหล่านี้เป็นตัวแทนขององค์กรต่างชาติ

นับตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้าสู่อำนาจในปี 2555 พรรครัฐบาลจีนก็พยายามจำกัดตำราจากตะวันตกและหยุดยั้งการแพร่หลายของ "คุณค่าแบบตะวันตก" ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณค่าแบบตะวันตกที่พวกเขาพูดถึงหมายถึงหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะบ่อนเซาะผู้กุมอำนาจในประเทศจีนได้ ขณะเดียวกัน สีจิ้นผิงก็เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยขยายการสอนแนวคิดของเหมาเจ๋อตุงและคาร์ล มาร์กซ์ แต่บางคนในพรรคก็รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นนักศึกษาอุทิศตัวให้กับแนวคิดเหล่านี้ เพราะพวกเขากลัวว่าการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสิทธิแรงงานมากขึ้น อาจจะกลายเป็นการบ่อนเซาะระบบตลาดแบบทุนนิยมในจีนสมัยใหม่ได้

นิวยอร์กไทม์ระบุว่า เริ่มมีนักศึกษาในจีนวิพากษ์วิจารณ์สังคมจีนด้วยแนวคิดฝ่ายซ้ายบ้างแล้วถึงแม้จะเป็นส่วนน้อย ส่วนหนึ่งเพราะทางการจีนมีความลังเลที่จะสั่งห้ามการวิพากษ์ด้วยแนวคิดเช่นนี้มากกว่าการหารือทางการเมืองในเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ ตามหน้าอินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่หลายพันคนพูดคุยกันตามห้องแช็ตเกี่ยวกับแนวคิดแบบมาร์กซิสต์และเหมาอิสต์ บางคนสร้างเว็บข่าวฝ่ายซ้าย มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องโลกาภิวัตน์ ทฤษฎีเศรษฐกิจ โดยไม่ถูกเซนเซอร์มาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานนี้

ในช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่วิทยาลัยเข้าไปคุกคามนักศึกษาที่จัดการประชุมหารือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวคิดเหมาอิสต์ กล่าวหาว่าพวกเขา "รวมกลุ่มกันเพื่อก่อกวนระเบียบในสังคม" ถึงแม้ว่าคนรุ่นเยาว์ในจีนจะถูกมองว่าไม่สนใจสังคม เห็นแก่ตัว และเห็นแก่เงิน แต่อิริค ฟิช ผู้ที่ศึกษาชาวจีนยุคมิลเลนเนียลกล่าวว่าคนที่เกิดยุคหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินจะไม่มีความกลัวผู้มีอำนาจแบบคนยุคก่อนหน้านี้

กรณีการต่อสู้ของแรงงานโรงงานจาสิคที่ต้องการจัดตั้งสหภาพอย่างเป็นอิสระนั้น เหล่านักศึกษาทราบเรื่องนี้มาจากแอพพลิเคชันส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาได้รับรู้ถึงสภาพการจ้างงานที่ค่าแรงน้อย การถูกใช้งานเยี่ยงทาส และแรงงานที่ต่อต้านจะถูกจับกุม นั่นทำให้นักศึกษาบอกว่าเขาไม่อาจ "นั่งอยู่เฉยๆ" กับเรื่องนี้ได้ นักศึกษาบางส่วนก็เคยมีประสบการณ์ความเจ็บปวดแบบเดียวกันที่พบเห็นจากในครอบครัวมาก่อน ทำให้พวกเขาหันไปหาแนวทางแบบมาร์กซ์และจัดตั้งสมาคมวิจัยมาร์กซิสต์ขึ้น สมาคมของพวกเขามีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งนักศึกษาผู้เป็นสมาชิกรายหนึ่งบอกว่ามันเป็นเรื่องของการเข้าถึงหัวอกคนเป็นแรงงานที่ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน และเป็นแรงบันดาลใจเพื่อ "อนาคตที่ดีกว่าสำหรับลัทธิคอมมิวนิสต์"

ในเมืองหุ้ยโจว นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่จะเรียกกันด้วยคำว่า "สหาย" และสวมเสื้อยืดที่มีรูปกำปั้นพร้อมคำขวัญ "สามัคคีคือพลัง" พวกเขาเดินขบวนร่วมกับแรงงานพร้อมถือป้ายที่ป่าวร้องว่า "การจัดตั้งสหภาพไม่ใช่อาชญากรรม" กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ที่เรียกตัวเองว่า "เหมาอิสต์" ดำเนินแนวทางกิจกรรมแบบสันติวิธี และมีความแตกต่างจากเหมาอิสต์ดั้งเดิมที่เน้นกำจัดอิทธิพลตะวันตกและไม่ค่อยท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงรุ่นเยาว์ก็ยืนยันว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดีที่สนับสนุนประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้ประท้วงรายหนึ่งเคยส่งจดหมายไปหาสีจิ้นผิงก่อนที่เธอจะถูกจับกุมระบุว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันมาจากเขา เธอบอกอีกว่าการประท้วงในหุ้ยโจวไม่ได้เป็นแนวคิดต่างชาติแต่อย่างใดเลย แต่มีแรงบันดาลใจมาจากการลุกฮือที่นำโดยนักศึกษาจีนเมื่อราว 100 ปีที่แล้วซึ่งเปรียบเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา นักศึกษาคนดังกล่าวยังเป็นผู้นำขบวนการ #MeToo ในจีนที่ออกมาพูดโต้ตอบการล่วงละเมิดทางเพศด้วย แต่นักศึกษาเหล่านี้กลับถูกทางการจีนจับกุม บางส่วนถูกจับกุมแบบที่คนไม่สามารถติดต่อได้ คนงานหลายคนถูกตั้งข้อหา "ก่อกวนความสงบเรียนร้อย" เพียงเพราะเรียกร้องความเป็นธรรมในสถานที่ทำงานซึ่งรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับเพิกเฉยในจุดนี้

เรียบเรียงจาก

China’s Leaders Confront an Unlikely Foe: Ardent Young Communists, New York Times, Sep. 28, 2018

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net