Skip to main content
sharethis

ในงานเสนองานวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ เพื่อการปฏิรูป นักวิชาการจากกระทรวงการคลังเสนอจำกัดภาษีส่งเสริมการลงทุน ชี้นำภาษีประชาชนไปหนุนกลุ่มนายทุนโดยอาจไม่คุ้มกับผลกำไร พร้อมเสนอแก้ปัญหาความยากจนด้วย "เงินโอน แก้จน คนขยัน" 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 55 ราว 11.00 น. ในงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย (ร่าง) "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" โดยศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสนองานวิจัยเรื่อง "การปฏิรูประบบภาษี" โดยดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยปัณณ์เสนอว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเก็บภาษี โดยหากมีการปรับปรุงระบบภาษี จะทำให้ไทยสามารถเก็บได้เพิ่มอีกราวร้อยละ 5 ของจีดีพี คิดเป็นราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนรายจ่ายด้านสวัสดิการ เช่นการศึกษา และสาธารณสุขได้ 

ชี้ภาษีส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้เป็นแรงจูงใจหลักแก่นักลงทุน

เขาเสนอว่า ไทยควรยกเลิกภาษีส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เนื่องจากเป็นการนำภาษีประชาชนเพื่อไปธุรกิจรายใหญ่โดยไม่ได้คำนึงอย่างแท้จริงว่า ผลกำไรที่ได้คุ้มกับต้นทุนที่เสียไปหรือไม่ และยังเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบกิจการรายย่อยในประเทศด้วย 

"เรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุน งานวิจัยของสภาพัฒน์บอกว่า กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมีอำนาจต่อรองสูงมาก ทำให้ลักษณะการเจริญเติบโตเอื้อต่อเจ้าของทุนมากกว่าเจ้าของแรงงาน"

"พอไปดูแชร์ในช่วงที่ผ่นมา การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์ สมมุติเรามีค่าตอบแทนสี่อย่าง ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร ตัวที่เป็นค่าจ้าง จะอยู่ที่เป็น 40% ส่วนตัวที่มองไม่เห็นเป็น unearned income ที่ไม่ได้ออกแรง คือ 60% ปรากฎว่าเจ้าของทุนเอาไป 60 เจ้าของแรงงานเอาไป 40 โดยประมาณ"  

โดยภาษีส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน ประกอบด้วยการยกเว้นภาษีนิติบุคคลและเว้นเงินปันผล 3-8 ปี การลดหย่อนเงินได้ภาษีบุคคลอีกสูงสุด 5 ปี การลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยแบ่งตามโซนต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายการลงทุนตามภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปัณณ์ชี้ว่า ในความเป็นจริง ภาษีส่งเสริมการลงทุนไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้มากนัก 

"ส่วนนโยบายเรื่องส่งเสริมการลงทุนให้กระจายสู่ภูมิภาค แต่ในความเป็นจริงการลงทุนกระจายอยู่ใน 5 จังหวัด ซึงเชื่อมโยงกับเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มี infrastructure ดีกว่า นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนมากชี้ว่า ส่วนใหญ่ที่นักลงทุนมาลงทุนจะดูที่อินฟาสรัคเจอร์ เรื่องตลาด และคุณภาพแรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษี"

"นโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ปีหน้าจะลดภาษีเหลือ 20 มันคล้ายกับการสร้างเขื่อนเพื่อไปกั้นน้ำ คนที่อยู่วงนอก น้ำจะสูง ในขณะที่คนได้รับการยกเว้นภาษีที่อยู่วงใน มันจะค่อยๆ ขยายมากขึ้น ทำให้ภาระตกอยู่กับคนนอก ทั้งๆ ที่คนที่อยู่ภายใน เราให้ประมาณ 1000 โครงการต่อปี แต่คนที่อยู่วงนอก เรามีนิติบุคคล 3.7 แสนนิติบุคคล มันก็จะมีคำถามเรื่องความเป็นธรรมตามมา" 

โดยปัณณ์เสนอว่า การปรับลดภาษีนิติบุคคลที่รัฐบาลเสนอ ควรทำควบคู่ไปกับการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการส่งเสริมการลงทุน ว่ากำไรคุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ และชี้ว่าควรต้องจำกัดการให้สิทธิการลงทุนให้แคบลง โดยดูจากอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มากขึ้น

"ประเทศอื่นๆ ก็พยายามยกเลิกการยกเว้นภาษีนิติบุคคลหมดแล้ว และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยนั้นใจดีเกินไป และประสบการณ์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ใช่ปัจจัยในการดึงดูดเงินลงทุน ประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกตรงนี้หมดแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังยกเลิก"  

เสนอจำกัดการลดหย่อนภาษี เพิ่ม "เงินโอน แก้จน คนขยัน" 

ปัณณ์อภิปรายว่า การลดหย่อนภาษีในโครงสร้างภาษีไทยในปัจจุบัน ทั้ง LTF (Long Term Equity Fund - กองทุนรวมหุ้นระยะยาว), RMF (Retirement Mutual Fund - กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ), ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย, ประกันชีวิตและอื่นๆ อีกกว่า 20 รายการ ทำให้การเก็บภาษีมีความซับซ้อนมากขึ้นและนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม ถึงแม้การเว้นการเก็บภาษีเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจในบางภาคส่วน แต่หากมาดูจริงๆ จะพบว่าทำให้การเก็บภาษีไม่มีอัตราก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น และคนรวยกลับได้ประโยชน์จากการลดหย่อนสูงมากกว่า เนื่องจากสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ทั้งนี้ เขาเสนอให้จำกัดแนวทางเงินค่าลดหย่อนภาษี ควบคู่ไปกับการจำกัดการใช้สิทธิลดหย่อนเป็นรายกรณี

นอกจากนี้ ในการแก้ปัญหาความยากจน เขายังเสนอให้เพิ่ม "เงินโอน แก้จน คนขยัน" (Earned income tax credit) ในลักษณะ negative tax income เพื่อหนุนกลุ่มคนยากจนลดหลั่นตามรายได้ และเป็นแรงจูงใจให้คนอยากทำงานและยื่นแบบภาษีมากขึ้น เพราะจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ปัณณ์อธิบายว่า การจัดสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินเบี้ยคนชรา พบว่า คนจนได้ประโยชน์จากสวัสดิการน้อยกว่าคนไม่จน และทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากเกินจำเป็น เพราะไม่ทราบสถิติคนจนที่แน่นอนและจำกัดเส้นความยากจนไว้ค่อนข้างต่ำ

ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ยังเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งโดยรัฐบาลกลาง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการผลักดันการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน่าจะเกิดได้ยาก จึงอาจจะเริ่มจากครัวเรือนที่มีทรัพย์สิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.65 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ หากสามารถเก็บได้ อาจจะเก็บรายได้ราว 30,000 ล้านบาท  

ซึ่งในข้อเสนอนี้ ผู้วิจารณ์ รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่าควรจำกัดให้ชัดเจนว่าภาษีมั่งคั่งคืออะไร เก็บจากทรัพย์สินชนิดไหนได้บ้างเพื่อความชัดเจน เนื่องจากเป็นฐานภาษีที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บมากกว่าเพื่อใช้ในการพัฒนาบริการต่างๆ ในท้องถิ่น

นวลน้อย ยังเสนอด้วยว่า ควรยกเลิกการเก็บภาษี LTF เพราะไม่มีจุดประสงค์ใดอื่นนอกจากสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น โดยหากตลาดหลักทรัพย์มีแรงจูงใจมากเพียงพอนักลงทุนก็จะไปลงทุนเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net