Skip to main content
sharethis

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย จี้ยุติการผลักดัน ‘สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย’ เสนอชื่อนายกฯ ชี้หาก กกต.ไม่รีบจัดเลือกตั้ง รบ.รักษาการมีอำนาจกำหนดได้ วอนหยุดคุกคามสื่อและใช้ความรุนแรงต่อกัน

14 พ.ค. 2557 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. ออกแถลงการณ์ ชื่อ ‘เลือกตั้ง = ทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน’ เรียกร้องให้สถาบันและกลุ่มการเมืองต่างๆ หยุดละเมิดรัฐธรรมนูญ ยุติการผลักดันให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ซึ่งยังไม่มีสถานะประธานวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ เสนอชื่อนายกฯ รวมทั้งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการสามารถพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ใหม่ได้เอง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง รวมทั้งแทรกแซงข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

แถลงการณ์ สปป. ระบุถึงการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่ผ่านมาด้วยว่า มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยซิดนีย์ รองรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กฎหมายที่ซื่อตรง มีมาตรฐานสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับนานาชาติ

โดย แถลงการของ สปป. ยืนยันด้วยว่าการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อทำให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชนนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการฟังเสียงของคนกลุ่มเดียวบนท้องถนน หรือจากการฉ้อฉลต่ออำนาจหน้าที่บุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่การปฏิรูปต้องเริ่มต้นด้วยการยึดโยงกับความต้องการของประชาชนที่หลากหลายและเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่านั้น

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
เลือกตั้ง = ทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน
 
ตลอดหกเดือนของการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.และพรรคพวกที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ถึงการร่วมมือกันของ กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ ศาล กกต. วุฒิสมาชิกบางส่วน และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่พยายามปิดกั้นหนทางการแก้ปัญหาของประเทศด้วยหลักกฎหมายและประชาธิปไตย กฎหมายถูกตีความบิดเบือนเพื่อใช้เป็นอาวุธขจัดฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงรับรองความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ใช้อำนาจบาตรใหญ่ละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการอย่างอุกอาจ เพื่อหวังให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือแม้แต่เกิดกลียุคเพื่อให้ทหารเข้ายึดรวบอำนาจให้กับฝ่ายของตนเอง 
 
มาบัดนี้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีอีก 9 นายพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังได้มีความพยายามต่อเนื่องให้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่พ้นสภาพ หรืออยู่ในภาวะง่อยเปลี้ยจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และบิดเบือนหลักกฎหมายเพื่อให้เกิด “นายกฯเถื่อน” ขึ้นมาให้ได้ สร้างความคับแค้นใจและความสับสนในเรื่องข้อกฎหมายให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยอันเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่ยืนยันในหลักการ “คนเท่ากัน” ขอแถลงจุดยืนต่อปัญหาที่ดำรงอยู่ดังต่อไปนี้ 
 
1. สถาบันและกลุ่มการเมืองทั้งหลายต้องยุติการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ หยุดตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย หยุดขยายขอบเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยุติการผลักดันให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ผู้ซึ่งยังไม่มีสถานะประธานวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ เสนอชื่อ “นายกฯเถื่อน” ขึ้นทูลเกล้าฯให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย 
 
2. หากในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้งพยายามบิดพลิ้วขัดขวางเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเห็นว่ารัฐบาลรักษาการสามารถออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ใหม่ได้เอง ทั้งนี้ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล สามารถทำหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่าปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีไม่สามารถกระทำเรื่องดังกล่าวได้ 
 
อนึ่ง งานวิจัยจากโครงการการเลือกตั้งที่ซื่อตรง (Electoral Integrity) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ระบุว่าการเลือกตั้งในไทยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมานั้นเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กฎหมายที่ซื่อตรง มีมาตรฐานสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับนานาชาติ แต่สิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐานคือการทำงานของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งเอง และความพยายามของ กปปส. ที่สกัดกั้นการเลือกตั้งและนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง
 
3. ทุกฝ่ายต้องหยุดการกระทำที่ใช้ความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหยุดแทรกแซงข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 
 
4. การปฏิรูปทางการเมืองเพื่อทำให้สถาบันการเมือง กระบวนการยุติธรรมและระบบราชการมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการฟังเสียงของคนกลุ่มเดียวบนท้องถนน หรือจากการฉ้อฉลต่ออำนาจหน้าที่บุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่การปฏิรูปต้องเริ่มต้นด้วยการยึดโยงกับความต้องการของประชาชนที่หลากหลายและเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่านั้น หากปราศจากซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ การปฏิรูปก็เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อรวบอำนาจไว้กับมือของชนชั้นปกครองที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น 
 
ด้วยความห่วงใยต่อสังคมไทย
 
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย 
14 พฤษภาคม 2557 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net