Skip to main content
sharethis

หลัง กรธ. วางกรอบระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนนำคะแนนผู้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระบบเขต มารวมกับระบบบัญชีรายชื่อ ‘วรเจตน์’ เตือนออกแบบระบบเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสม ไม่เป็นผลดีไร้เสถียรภาพ สภาไม่ฟังก์ชั่น แนะต้องคำนึงหลักความยุติธรรมของการนับคะแนนเสียงกับประสิทธิภาพในการทำงานของสภา

จากกรณีที่ เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยที่ประชุม กรธ.ได้ร่วมกันกำหนดหลักการ 4 ประการสำคัญ เพื่อให้เป็นกรอบการพิจารณาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งในอนาคต ประกอบด้วย 1.ส.ส.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2.ระบบการเลือกตั้งไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย 3.เพื่อเป็นการเคารพประชาชนที่ลงคะแนน จึงพยายามทำให้คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร คะแนนเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า 4.เป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้ประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มอีก 1 ประเด็น คือควรให้เข้ากับบริบทหรือวิถีชีวิตของคนไทย โดยไม่ขัดหลักสากล

เดลินิวส์ ยังรายงานอีกว่าหลังจากที่ประชุมได้กำหนด 4 กรอบ จึงได้มีข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้งว่าจะใช้ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้เอาคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยประชาชนจะลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบ โดยมีการยกตัวอย่างว่า สมมติเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 5 พรรค หากพรรค ก.ได้รับคะแนนสูงสุดให้ถือว่าผู้สมัครพรรคนั้นได้เป็น ส.ส.ทันที แต่ให้เอาคะแนนของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 4 พรรค ไปคำนวณเพื่อหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคต่อไป ขณะที่ คะแนนของพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.เขตแล้ว จะไม่ถูกนำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

‘วรเจตน์’ ชี้ว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่ปัญหาสำคัญคือการไม่เคารพผลเลือกตั้ง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

วันนี้ VoiceTV รายงานด้วยว่า วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตกรณี การกำหนดระบบเลือกตั้ง ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แบบจัดสรร ปันส่วนผสม โดยนำคะแนนผู้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระบบเขต มารวมกับระบบบัญชีรายชื่อ ว่า ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาการเมืองโดยมุ่งเน้นไปที่ระบบเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งบ่อยครั้ง ไม่เกิดประโยชน์

แต่ประเด็นสำคัญ เห็นว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะเคารพผลการเลือกตั้งอันเป็นเจตน์จำนงของประชาชนหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะออกแบบระบบเลือกตั้งเช่นไร ก็จะเป็นเพียงเครื่องมือในการเอาชนะทางการเมือง เพียงอย่างเดียว วรเจตน์ เสนอให้บัญญัติกฎหมายเลือกเลือกตั้งขึ้นมาเฉพาะ ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเฉพาะหลักการสำคัญเท่านั้น

“ระบบเลือกตั้งในช่วงหลังอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองมากเกินไป เราจำได้ใช่ไหมครับว่าหลังรัฐประหารปี 49 ก็มีการออกแบบระบบเลือกตั้งแบบหนึ่ง แบบที่มีหลายๆ เขต ไม่ให้ประเทศเป็นเขตใหญ่เขตเดียว เพราะกลัวว่าจะมีคนเคลมว่าได้กี่ล้านคะแนน และมารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ก็แก้กลับไปเป็นแบบเดิมมันแก้กลับไปกลับมาแบบนี้ ผมไม่คิดว่าประเทศชาติจะได้อะไรเท่าไหร่จากการแก้กลับไปกลับมาแบบนี้

ระบบเลือกตั้งที่ดีคือระบบที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน และในขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานในรัฐสภาด้วย คือถ้าใช้ระบบสัดส่วนล้วนๆ หรือเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากในสภา ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือสภาผู้แทนราษฎรมันจะไม่ฟังก์ชั่น เพราะฉะนั้นเวลาเขาคิดระบบเลือกตั้งเขาพยายามผสานคุณค่า 2 อย่างเข้าไว้ด้วยกัน คือ หลักความยุติธรรมของการนับคะแนนเสียงของประชาชนกับประสิทธิภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร มันต้องมีดุลยภาพ 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน ระบอบประชาธิปไตยมันถึงเดินไปได้

ในขณะที่ตอนนี้เราออกแบบระบบเลือกตั้งโดยมุ่งเป้าหมายไปที่อยากมีรัฐบาลผสม ซึ่งมันไม่ควรเป็นธงหรือเป็นเป้าหมายของการออกแบบระบบเลือกตั้ง มันจะไม่ช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ สภาก็ไม่ฟังก์ชั่นทำงานไม่ได้ มันจะเกิดสภาพแบบนั้น ซึ่งโดยรวมไม่เป็นผลดี” วรเจตน์ กล่าว

สำหรับวันนี้วันนี้ วรเจตน์ เดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อรับฟังการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ คดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวต่อ คสช.  แต่เนื่องจากฝ่ายโจทก์ ไม่ได้ยื่นหลักฐานตามที่เคยแสดงไว้  จึงไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายจำเลย ศาลทหารจึงวินิจฉัย ให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2559

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net