Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ วัชรากร ไชยแก้ว หรือซัน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้อาสาอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษในการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีจนเป็นเหตุให้โดนคดี ม.112 พร้อมเปิดมุมมองความคิดที่ได้จากการทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงการบอกเล่าภาพฝัน และทิศทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอนาคต


ตลอดเวลา 1 ปีเศษที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเริ่มต้นเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมือง ภาพแห่งความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจของใครหลายคน คือ ภาพการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่ประชาชนนับพันคนไปรวมตัวกันจนเต็มพื้นที่ ถ.สาทร บริเวณแยกวิทยุ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามข้อสงสัย 4 ข้อเกี่ยวกับการพำนักอาศัยและการใช้อำนาจอธิปไตยในประเทศเยอรมนีของในหลวงรัชกาลที่ 10

กิจกรรมสำคัญของในวันนั้น คือ การอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และเยอรมัน ซึ่ง วัชรากร ไชยแก้ว หรือซัน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม คือ หนึ่งในอาสาสมัครผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ โอกาสนี้ ประชาไทขอชวนไปทำความรู้จัก ‘ซัน’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรม ภาพฝันที่วาดไว้ในอนาคต ไปจนถึงทิศทางการต่อสู้แบบสันติวิธีของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

'รุ้ง ปนัสยา' คือผู้พาลุยเส้นทางนักกิจกรรม

“เริ่มแรก ผมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัย ชื่อพรรค ‘ท่าพระจันทร์ Awaken’ จากนั้นเพื่อนก็ชวนไปทำงานที่สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ตอนนั้น รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) น่าจะเป็นโฆษกอยู่ แล้วก็มี อั๋ว (จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์) เป็นประธาน ส่วนเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) น่าจะทำงานด้านยุทธศาสตร์อยู่ เรามีโอกาสได้รู้จักกันตอนไปทำงานสมัชชาของสหภาพนี่แหละ หลังจากนั้นรุ้งก็ชวนเราไปทำงานเคลื่อนไหวบ้าง จนกระทั่งช่วงจะจัดกิจกรรมในวันที่ 10 ส.ค. ปีที่แล้ว รุ้งก็ชวนเรามาทำงานอีก มาถามเราว่าอยากทำไหม มีตำแหน่งอย่างนี้อย่างนั้นนะ เราก็ตอบตกลงไปว่าจะร่วมงานด้วย”

ซัน บอกว่าเขารับหน้าที่ดูแลจัดการกลุ่มการ์ดของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และช่วยประสานงานกับการ์ดอาสากลุ่มอื่นๆ ในการจัดกิจกรรมเมื่อปีที่แล้ว

“ตอนนั้นเราดูแลจัดการเรื่องการ์ด น่าจะเป็นครั้งแรกเลยที่เราเข้าไปอยู่ในการชุมนุมด้วย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการต่อสู้เมื่อปี 2563 แต่ตอนนี้ เราไม่ได้ดูเรื่องการ์ดแล้ว เรามาทำด้านประชาสัมพันธ์และประสานงานกับต่างประเทศ เช่น ตอนที่ อ.อนุสรณ์ อุณโณไปยื่นหนังสือ เราก็ไปด้วย ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อและหน่วยงานต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นเมื่อเขาได้รับฟังก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษชนที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้”

ทำไมถึงสนใจการเมือง

“จริงๆ ก็เป็นคนสนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว พอเริ่มเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ (ช่วงมหาวิทยาลัย) เราก็สนใจประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น แรงงานข้ามชาติ สิทธิเสรีภาพ ความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก ต่อมา เรามีโอกาสไปทำงานร่วมกับกลุ่ม NGO ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำเรื่องแรงงานข้ามชาติผู้หญิงชาวพม่า เราก็ได้เห็นกระบวนการทำงานของกลุ่ม NGO และชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน พี่ที่ทำงานอยู่ตรงนั้นเขาเล่าให้เราฟังว่าการจัดการทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ งบประมาณเหล่านั้นก็ต้องมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งรัฐก็ต้องเล็งเห็นถึงอะไรตรงนี้ด้วย ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การยื่นงบประมาณเข้ามาเพื่อคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดมันผูกติดกับการเมือง การจัดการของรัฐ การจัดสรรงบประมาณ เราเลยคิดว่าถ้าทุกอย่างมันเป็นเพราะการเมือง การจะแก้ปัญหาทุกอย่างมันก็ต้องไปที่การเมือง ก็ต้องไปที่รัฐ”

ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษหน้าสถานทูตเยอรมนี

ซัน เล่าถึงที่มาที่ไปถึงการกระโดดขึ้นไปเป็นหนึ่งในแนวหน้าบนเวทีปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ในกิจกรรม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน โดยเขาเป็น 1 ใน 3 คนที่อ่านแถลงการณ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษ

“ม็อบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพื่อนของเราโดนจับตอนเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่ามันจำเป็นต้องมีใครมาทำอะไรสักอย่าง เราเองก็อยากอุทิศตนให้กับการเคลื่อนไหวนี้ จึงอาสาขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ ประกอบกับว่าตอนนั้นไม่มีคนอาสาช่วยอ่านด้วย เราเลยอาสาทำหน้าที่ตรงนี้ แต่หลังจากนั้นก็มีคนเสนอตัวช่วยอ่าน ก็เลยแบ่งกันอ่าน เหตุการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีจึงมีคนโดนคดีหลายคน”

 

ความรู้สึกหลังอ่านแถลงการณ์จบ

ซัน บอกว่าหลังอ่านแถลงการณ์จบ เขาคิดทันทีว่าจะต้องเกิดผลกระทบอะไรบางอย่างขึ้นกับตัวเองแน่นอน แต่สถานการณ์ที่ประเมินไว้ในตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นโดนคดีจาก ม.112

“คิด คิดนะ เพราะตอนนั้นมันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงด้วย เราคิดว่ามันก็มีความเสี่ยงอะไรหลายๆ อย่าง แต่ตอนนั้นกฎหมาย ม.112 ยังไม่ถูกนำมาใช้ เราจึงคิดว่ามากสุดก็คงโดน ม.116 ซึ่งก็เป็นคดีการเมืองอย่างชัดเจน แต่ตอนนั้นก็มาโดน ม.112 เพิ่ม แต่โดนแล้วก็...โอเค แล้วไงล่ะ เราโดน ม.116 มาแล้ว โดน ม.112 อีกก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ตอนนี้ก็คือเราโดนกล่าวหาว่ามีความผิด 1 คดี 2 ข้อหา แต่จากที่คุยกับทนาย เขาบอกว่าถ้าข้อหาไหนโทษหนักสุดก็จะเอาตรงนั้นมาเป็นตัวตั้ง ตอนนี้ก็เท่ากับว่ายึดที่คดี ม.112 เป็นหลัก เพราะว่าโทษสูงสุด”

ความรู้สึกระหว่างรอฟังผลสั่งฟ้องจากอัยการ

“เรารู้สึกว่ามันปั่นประสาทมากเลยนะ คือเราไม่รู้ว่าอนาคตของชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ถ้าสมมติว่าโดนฝากขังขึ้นมา เราก็ฝากทนายเตรียมไว้ประมาณนึงว่าต้องทำอย่างไร แต่มันก็เหมือนอยู่กับความไม่แน่นอน ถ้าได้ประกันตัว ก็เหมือนได้ต่อลมหายใจให้ชีวิตไปอีกนิดหนึ่ง เพื่อนเราก็จะไม่ได้เสียกำลังใจด้วย เราก็จะได้มาคุยกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้เพื่อนเราได้ออกมา แต่ในกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัว มันก็แย่กับเพื่อนๆ เราด้วย เพราะเสียคนช่วยคิดไป อย่างน้อยๆ ก็ 4 คนในเหตุการณ์นี้ที่มาจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ”

“ส่วนเรื่องการเรียน ตอนนี้ปี 3 เหลืออีก 1 ปีก็จะจบ แต่ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว เราคงต้องพักการเรียนไว้ก่อน แม้ว่าเราจะเคยถามทนายว่าถ้าเราถูกฝากขัง เราจะเรียนได้ไหม แต่พอเราเห็นกรณีของเพนกวิน ที่แม่พยายามจะฝากหนังสือเรียนเข้าไปให้ยังไม่ได้เลย เราเลยมองว่า โอ้โห มันไม่ยุติธรรมเลย มันยากจังที่ขออนุญาตให้ได้อ่านหนังสือ ให้ได้เรียนจากข้างในนั้น”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กระบวนการยุติธรรมที่ปิดโอกาสการสู้คดี

ซัน เผยว่า เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับแม่ของเพนกวิน และสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมที่ถูกฝากขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี โดยทั้ง 2 คนบอกกับเขาว่าการถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นอุปสรรคใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมที่ขัดขวางการต่อสู้คดีตามสิทธิอันพึงมี

“พี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) บอกเราว่าการต่อสู้คดีจากในคุก เราไม่สามารถเข้าถึงสำนวนคดีได้ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีที่ให้เก็บเอกสารในเรือนจำ อย่างคดีของเพนกวิน เราคุยกับแม่ของเพนกวินมา แม่บอกว่ามีเป็นพันๆ หน้า เขาไม่มีห้องให้เก็บ ไม่มีที่เงียบๆ ให้นั่งอ่าน ไม่สามารถเข้าถึงสื่อที่มันเป็นหลักฐานดิจิทัลได้ ไม่สามารถเปิดซีดีได้ ไม่สามารถอ่านสำนวนคดีของตัวเองอย่างละเอียดเพื่อที่จะได้เตรียมตัวสู้คดี ทำไม่ได้เลย แล้วเราจะสู้คดีได้อย่างไรหากเราถูกฝากขัง ทั้งๆ ที่เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลยังไม่ตัดสินเลยว่าผิด แล้วมันยุติธรรมตรงไหน พอได้ยินแบบนี้แล้วเราก็หมดหวังกับตรงนี้มาก”

ซัน อยากให้ศาลมีความยุติธรรมในการพิจารณาและตัดสินคดี โดยอย่างน้อยที่สุด จงให้สิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ถูกกล่าวหาในชั้นพิจารณาคดี เพื่อให้เขาและเพื่อนๆ มีโอกาสได้สู้คดีตามกระบวนการ

ท่าทีของอาจารย์ในคณะและมหาวิทยาลัย

“อาจารย์ในคณะก็มีสอบถามมาบ้างว่าเทอมนี้ลงวิชาอะไรบ้าง ซึ่งเขาอาจจะช่วยประสานงานให้ได้ในตรงนี้ แล้วก็มี ผศ.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ที่ติดต่อมาหาเราโดยตรง ถามเราว่าเรื่องคดีเป็นอย่างไรบ้าง อยากให้ช่วยเหลือเรื่องอะไรไหม ก็มีคนที่คอยออกมาช่วยอยู่ แต่จะทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามมหาวิทยาลัย”

“แต่มหาวิทยาลัยของเรามีการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ด้วยออกแถลงการณ์เรื่องสิทธิการประกันตัว บอกว่านักศึกษาจำเป็นที่จะต้องได้ออกมาเรียน อะไรประมาณนี้ เรารู้สึกว่าอาจเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารด้วย เลยทำให้อาจารย์ที่สนับสนุนประชาธิปไตยสามารถแสดงท่าทีอะไรบางอย่างต่อคณะผู้บริหารได้ ส่วนคณะของเราก็มีคณะกรรมการนักศึกษาหรืออาจารย์บางคนพยายามแสดงท่าทีและให้ความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ออกมาในนามของวิทยาลัยสหวิทยาการ หรือในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตรงอยู่ดี ซึ่งทำให้เรารู้สึกผิดหวังประมาณหนึ่ง เราว่ามหาวิทยาลัยควรที่จะออกมาทำอะไรให้ได้มากกว่านี้”

ความรู้สึกของครอบครัวและคนรอบข้าง

แน่นอนว่าครอบครัวของ ซัน รู้สึกกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่โดยส่วนตัว เขาไม่ต้องการให้ครอบครัวกังวลมากจนเกินไป

“ที่บ้านก็กังวล แต่เราก็พยายามพูดไม่ให้เขาคิดมากจนเกินไป พยายามไล่เรียงลำดับว่าถ้าเข้าไปอยู่นั้น (ถูกฝากขัง) แล้วที่บ้านจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างไร ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ส่วนเพื่อนๆ ก็เป็นห่วง แต่จริงๆ เราไม่ค่อยได้บอกเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ รับรู้ แต่ก็คิดว่าหลายๆ คนที่รู้ก็เป็นห่วงเรามาก เวลาเจอกันก็กอดให้กำลังใจกัน”

เมื่อถามว่าเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรหากสุดท้ายแล้วศาลมีคำสั่งรับฟ้องและไม่ให้ประกันตัว ซัน ตอบว่า “ก่อนหน้านี้เราพยายามใช้ลมหายใจสุดท้ายของเราไปทำในสิ่งที่เราอยากทำ ออกไปข้างนอก ไปนั่งร้านกาแฟบ้าง ไปใช้ชีวิตปกติสัก 2-3 วัน แล้วก็กลับไปทำงานต่อ คือเราออกไปข้างนอกบ่อยก็จริงแต่ส่วนใหญ่ไป สน. ไป สภ. ไม่ค่อยมีเวลาได้ใช้ชีวิตส่วนตัว”

ความรู้สึกถึงเพื่อนเรา

ซัน เผยว่า เขารู้สึกแย่ที่เพื่อนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมอุดมการณ์กันมาต้องถูกคุมขังและไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ถึงกระนั้น เพื่อนทุกคนที่อยู่ในเรือนจำกลับส่งกำลังใจออกมาให้คนที่สู้อยู่ข้างนอก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้ ซัน ยิ้มได้

“เรารู้สึกแย่นะ เราอ่านจดหมายของรุ้งที่พี่สาวของรุ้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งรุ้งพูดถึงเพนกวินในนั้น เราอ่านแค่ 2 ย่อหน้าแรก เราร้องไห้เลย คือรุ้งพูดถึงเพนกวินว่าชอบให้รุ้งขับรถพาไปไหนมาไหน แล้วเพนกวินก็จะเล่าประวัติศาสตร์ ขับรถผ่านตรงไหน เจออะไรก็จะบอกเล่าความเป็นมาของที่นั้นๆ ซึ่งเราก็อยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย พอนึกถึงแล้วเราก็ร้องไห้”

“อย่างวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เพนกวินก็ฝากข้อความมาให้ เพนกวินบอกว่า ‘ไม่ว่าเย็นนี้จะมีคนชูสามนิ้วที่เวทีกี่คน ให้บวกเพิ่มไปอีกหนึ่งคนเพราะตรงนี้ก็จะชูให้ด้วย’ เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าข้อความนี้มันเติมเต็มกำลังใจให้เรา อ่านแล้วยิ้มเลย”

ถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นนักกิจกรรม

“คงเสียดายเนอะ ถ้าไม่ได้อยู่ในการเคลื่อนไหวนี้ เราคิดว่าเราคงเสียดายมากที่ไม่ได้รู้จักกับเพื่อนทุกคนที่ทำงานด้วยกัน ถ้าไม่ได้เป็นนักกิจกรรม... (หยุดคิด) เราคงทำอย่างอื่น แต่สุดท้ายก็คงคิดได้ว่าทุกอย่างมันต้องกลับมาแก้ที่การเมือง แต่คงไม่ได้ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นปกติหรอกนะ ในสภาพการเมืองอย่างนี้ (หัวเราะ) เราก็จินตนาการไม่ออกว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไร”

 

“แต่ถ้าการเมืองนี้ เราคงเรียนอยู่ หรืออาจจะเรียนจบแล้ว และอาจจะไปเรียนต่อต่างประเทศ จริงๆ เราชอบพวกเพลงและศิลปะด้วย (ผู้สื่อข่าว: ชอบฟังเพลงแนวไหน) ชอบฟังแนวอัลเทอร์เนทีฟ แจ๊ส บลูส์ เราชอบเพลงแนวนี้เพราะรู้สึกว่ามันเปิดโอกาสให้เราได้ตีความเนื้อหาของเพลง เหมือนกับว่าเราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเพลงเพื่อที่จะได้เข้าใจและตีความสิ่งที่อยู่ลึกลงไปมากกว่าเนื้อเพลง ต่างจากเพลงไทยในยุคหลังๆ มานี้ ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ถูกตีความมาแล้วแบบสำเร็จรูป”

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กับ 10 ข้อเรียกร้อง

ซัน บอกว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ไม่เคยลดเพดานข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แต่เมื่อกระบวนการเคลื่อนไหวเติบโตมากขึ้น ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ จึงถูกนำมาสรุปรวมอยู่ในข้อ 3 ซึ่งก็คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“เราว่ามันไม่ใช่การลดข้อเรียกร้อง คือ 10 ข้อมันรวบไปอยู่ในข้อ 3 รายละเอียดปลีกย่อยของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีอะไรบ้าง มันอยู่ใน 10 ข้อนี้ แม้เราไม่ได้พูดถึงมันโดยตรง แต่เราก็รับรู้ และมันก็ไม่ได้หายไปไหน”

“ส่วนการใช้คำว่า ‘ยกเลิก 112’ มันก็ไม่ใช่การเปลี่ยนท่าทีอะไร เพราะการยกเลิก ม.112 ก็อยู่ในข้อ 3 เหมือนกัน มันก็อยู่ใน 10 ข้ออยู่แล้ว เราคิดว่าการที่คนหยิบคำนี้มาพูดถึงโดยตรงเพราะตอนนี้เรากำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้ ม.112 จริงๆ และทุกคนสามารถรับรู้ได้ว่ามันเป็นปัญหาอย่างไร คนก็เลยหยิบคำว่า ‘ยกเลิก 112’ มาพูดจนเป็นเหมือนข้อเรียกร้องหลักไป”

แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ในอนาคต

“ถ้าเราถูกฝากขัง เราก็ฝากฝังกับเพื่อนของเราหลายๆ คนให้มาสานต่อ ให้หาคนเพิ่ม คนที่อยากเคลื่อนไหวตรงนี้ให้มาทำงานต่อ ไม่ใช่ว่าพอถูกจับกันหมดแล้วมันจะไม่มีคนทำต่อ ถ้าเป็นเพื่อนที่สนิทกันก็คงรู้แล้วแหละว่าเราอยากทำอะไร และเราก็เชื่อใจเพื่อนๆ ทุกคนด้วยว่าจะมาทำงานตรงนี้ต่อได้แน่นอน”

สันติวิธี คือ หัวใจของการต่อสู้

“สันติวิธี คือ แนวทางสำคัญที่จะทำให้การต่อสู้บรรลุผล และการที่เรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จากที่เราต่อสู้มาประมาณ 1 ปี เราเห็นว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดมันไปได้ไกลและมันเห็นผล ทุกคนพูดถึงเรื่องนี้ ทุกคนในประเทศพูดถึงเรื่องนี้ ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้จบเร็วๆ นะ แต่ถ้ามันยืดยาวเราก็จะสู้ต่อไป ยกเว้นว่าเราจะตายไปก่อน”

จงอย่าลังเลที่จะออกมาสู้ร่วมกันในตอนนี้

“อย่างแรก ถ้ายังไม่ตัดสินใจตอนนี้ ระวังจะเสียใจทีหลังนะ (หัวเราะ) เราอยากให้ทุกคนหาข้อมูลดูต่อว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ การเคลื่อนไหวในตอนนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร มองให้ลึกกว่าความวุ่นวายหรือความรุนแรงที่ปรากฎ แล้วคุณก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปเลย ถ้าอยู่ในสังคมที่มีสิทธิความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการแสดงออก มีประชาธิปไตย ลองจินตนาการดูว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรถ้าการเมืองดี เราจะไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องมาเจออากาศแย่ ไม่ต้องมาเจอรถติด ไม่ต้องมาเจอรัฐบาลที่ไม่เห็นค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน”

“ส่วนเพื่อนในขบวน เราอยากให้กำลังใจทุกคนเลยจริงๆ แต่ก่อนเราพยายามอยู่ข้างหลัง พยายามที่จะไม่ให้ตัวเองถูกดำเนินคดี จนกระทั่งสถานการณ์บีบคั้นให้เราต้องเปิดหน้าตัวเอง แล้วเราก็อยากจะให้กำลังใจทุกคน ถ้าเราทุกคนก้าวออกมา คุกคงขังพวกเราไม่ไหวหรอก ยิ่งคุกไทยด้วย (หัวเราะ)”

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net