คุยกับ ‘เอฟ ชลธิศ’ ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทยหน้าสถานทูตเยอรมนี และผู้โดนคดี ม.112 เพราะไม่อาจทนความอยุติธรรม

รายงานสัมภาษณ์ ชลธิศ โชติสวัสดิ์ หรือเอฟ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รักการอ่านหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่การอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทยในการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี พร้อมเปิดเผยมุมมองความคิดทางการเมือง สังคม และความรู้สึกหลังก้าวเข้าสู่ถนนนักกิจกรรม

ภาพประชาชนนับพันรวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จนเต็มพื้นที่ ถ.สาทรเหนือ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความชัดเจนใน 4 ประเด็นเกี่ยวกับการพำนักอาศัยและการใช้อำนาจอธิปไตยในประเทศเยอรมนีของในหลวงรัชกาลที่ 10 รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ โดยกิจกรรมสำคัญ คือ การอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และเยอรมัน ซึ่ง ‘ชลธิศ โชติสวัสดิ์’ หรือ ‘เอฟ’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนร่วมคณะและอุดมการณ์ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน คือ หนึ่งในคนที่อาสาอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทยในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เป็นเหตุให้ต่อมาเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โอกาสนี้ ประชาไทขอชวนไปทำความรู้จัก ‘เอฟ’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรม ทบทวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ท่าทีของคณาจารย์ในคณะ การปรับทิศทางข้อเรียกร้อง การเตรียมตัวเตรียมใจกับการถูกดำเนินคดีที่อาจไม่ได้สิทธิประกันตัว และภาพฝันที่วาดไว้ในอนาคต ไปจนถึงการแนะนำหนังสือเล่มโปรดที่ช่วยเบิกทางสู่ถนนสายประชาธิปไตย

เดินสู่เส้นทางนักกิจกรรมเพราะ ‘เพนกวิน’

“โดยจุดยืนพื้นฐานของผมแล้ว ผมเป็นคนที่ทนเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ได้อยู่แล้ว ทำให้เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งผมเจอกับเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ครั้งแรก เราเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่เกิดกรณีพิธีถวายสัตย์ของเนติวิทย์ หลังจากนั้นเราก็เริ่มทำงานกิจกรรมอื่นๆ เช่น ตั้งพรรคโดมปฏิวัฒน์ และทำงานร่วมกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

จุดเริ่มต้นความสนใจด้านการเมือง

เอฟ เล่าว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาสนใจการเมืองไปโดยปริยาย เพราะประวัติศาสตร์และการเมืองนั้นต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป

“ผมสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ช่วง ม.ต้น ผมชอบอ่านหนังสือและศึกษาประวัติศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เข้าใจ ณ เวลานั้น คือ สภาพสังคมไทยนับตั้งแต่เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ทำไมบางเรื่องเราพูดไม่ได้ หรือไม่ได้รับการพูดถึงเลย เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเฉพาะในการศึกษาภาคบังคับของรัฐ ทำให้เราต้องสืบเสาะกลับไปหาว่าปัญหาของการเมืองไทยคืออะไร จนเราได้เห็นว่าบางเรื่องในสังคมไทยถูกปิด บางเรื่องในสังคมไทยกลับถูกเยินยอจนเกินปกติ เราเลยเข้าใจว่าการเมืองไทยมันอาจจะเป็นรากฐานของอะไรหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ณ ปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 80 กว่าปีที่เรามีประชาธิปไตย เราอยู่ในคราบแฝงของอะไรบางอย่างที่ทำให้คนไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้ช่วยจุดประกายให้ผมสนใจเรื่องราวด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น”

“ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนตามระบบการศึกษาภาคบังคับของภาครัฐ แต่การอ่านหนังสือช่วยทำให้กรอบการเมืองของผมกว้างขึ้น จากเริ่มแรกที่เราไปเปิดหาข้อมูลในวิกิพีเดีย บางเรื่องก็ เอ๊ะ ข้อมูลน้อยจัง เราก็ค้นเพิ่ม เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ข้อมูลน้อยมาก แค่เหตุการณ์เดียวทำไมไม่มีคนพูดถึง ทำไมถึงมีคนที่พูดถึงไม่ได้”

หนังสือการเมืองเล่มแรกที่แนะนำให้อ่าน

“ถ้าให้แนะนำหนังสือเล่มแรก เปิดพื้นฐานของการเมืองไทยในภาพรวม ผมแนะนำให้อ่าน ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ’ ของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ แต่ถ้าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยที่ผมอ่าน คือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ และ ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล”

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘เด็กรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง’

“แล้วสังคมไทยที่ดีมันเป็นอย่างไร เรายังพูดถึงไม่ได้เลย สังคมไทยที่เปิดระบความเป็นจริงที่หลากหลาย เรายังพูดถึงมันไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมเลยไม่ค่อยเชื่อนะ คำพูดที่ว่า ‘หนังสือล้างสมองคน’ เพราะเราเห็นเหตุการณ์รุนแรงมาตั้งเยอะแล้วนะ อย่างผม เร็วที่สุดก็คงเป็นเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 เราเห็นมาขนาดนั้น ยังมีคนไม่เชื่ออีก นี่ขนาดไม่ใช่หนังสือนะ”

เพราะไม่อยากนิ่งเฉย จึงอาสาขึ้นอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

เอฟ เล่าว่า หลังจากที่นักกิจกรรมหลายคนถูกควบคุมตัวและนำตัวไปฝากขังในช่วง เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ทำให้เขาได้ทบทวนตัวเองถึงจุดยืนต่างๆ และตัดสินใจก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรม เพราะไม่อยากนิ่งเฉยกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น

“ช่วงเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว เพื่อนของเราถูกจับไปหลายคนในช่วงเวลานั้น ประมาณวันที่ 14-15 ต.ค. ถ้าจำไม่ผิด พี่ทนายอานนท์ เพนกวิน รุ้ง คนเหล่านี้ถูกจับไปในช่วงเวลานั้น ตอนนั้นเราเห็นว่าเพื่อนเราเสียสละขนาดนี้แล้ว ออกไปสู้และโดนจับไปขนาดนี้แล้ว ทำไมเรายังนิ่งเฉย ไม่กล้าพูด ในขณะที่เพื่อนเรามันพยายามขนาดนี้แล้ว ออกมาเป็นด่านหน้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยแล้ว ทำไมตัวเราเองถึงยังไม่ออกมาเปิดหน้าพูดตรงๆ แบบนั้นบ้าง มันเป็นจุดยืนร่วมของพวกเราที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และได้ร่วมต่อสู้มาด้วยกันหรือเปล่า เราก็ถามตัวเองแบบนั้น” เอฟ กล่าว

ภาพเหตุการณ์ #ม็อบ26ตุลา ถาม 4 ข้อสงสัยต่อสถานทูตเยอรมันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

เอฟ เผยว่า ในวันที่ 26 ต.ค. ระหว่างเคลื่อนขบวนจากสามย่านมิตรทาวน์ไปหน้าสถานทูตเยอรมนี มีการขออาสาสมัครเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ เขาจึงอาสาขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ภาษาไทย

“จะเรียกว่าเป็นการตกลงกันหน้างานแบบนั้นก็ได้” เอฟ กล่าว

ความรู้สึกหลังอ่านแถลงการณ์จบ

เอฟ เผยว่า เขาไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลเท่าไรนัก หากต้องถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุมในวันที่ 26 ต.ค. ปีที่แล้ว เพราะการถูกดำเนินคดีจากรัฐย่อมเกิดขึ้นได้ในการต่อสู้ที่ไร้ความยุติธรรม

“ผมไม่ได้กังวลเรื่องขึ้นเวทีหรือเปิดหน้า เพราะเคยขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปีที่แล้ว แต่แค่ขึ้นไปร้องเพลงช่วงท้าย แล้วก็พูดเรื่อง 3 ข้อเรียกร้อง ยังไม่ได้เป็นผู้ปราศรัยหลัก แต่สิ่งแรกที่ได้รับกลับมาจากการขึ้นเวทีในวันที่ 26 ต.ค. คือ ความกังวลว่าเราอาจจะเจอจุดเปลี่ยนอะไรบางอย่างหรือเปล่า เช่น เจอการใช้ ม.112 ดำเนินคดีกับเรา เพราะเป้าประสงค์ของการไปสถานทูตเยอรมัน เพื่ออ่านแถลงการณ์และยื่นจดหมายก็ยอมรับตามตรงว่ามันมีผลกระทบที่สูง เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และเกี่ยวข้องกับประมุขของรัฐ”

“ในการปราศรัยก่อนหน้านั้น รัฐยังใช้แค่ ม.116 อย่างเดียว แทบไม่มีการแจ้งเพิ่ม แต่พอเกิดเหตุการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีขึ้นปุ๊บ กลายเป็นว่า ม.112 ได้ถูกหยิบกลับมาใช้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัวผม ผมไม่ได้กลัว เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าการออกไปอย่างนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็กังวลบ้าง ถ้าพูดว่าไม่กังวลก็คงจะไม่ถูกสักทีเดียว”

“ส่วนครอบครัว ถ้าบอกว่าเขาไม่กังวลก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราคุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่าผมอาจจะโดนคดีแบบนี้ได้ และเรื่องอาจจะขยายไปไกลกว่านั้นได้เหมือนกัน แต่ด้วยความที่ผมทำกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 1 เราก็มีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้มาไว้ประมาณหนึ่ง แต่ก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าเราจะโดน ม.112 เร็วขนาดนี้ (หัวเราะ) คุณพ่อผมสนับสนุนเรื่องการทำกิจกรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคุณแม่ เขาจะกังวล ซึ่งก็เข้าใจได้ ด้วยความเป็นแม่อะเนอะ เขาก็กังวลว่าเราโดนคดีแล้วจะเป็นอะไรหรือเปล่า”

อ่านเพิ่มเติม:

เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรกับการขึ้นศาลในวันที่ 25 มี.ค. นี้

เอฟ บอกว่าเขาหวังว่าในวันที่ 25 มี.ค. นี้จะยังพอมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ก็ยอมรับว่าเตรียมใจเผื่อไว้หากศาลไม่ให้ประกันตัว โดยสิ่งที่เขาห่วงที่สุด คือ เรื่องการเรียน เพราะอีก 2 เดือนก็จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีตามที่ตั้งใจไว้

“ตอนนี้ผมอยู่ปี 4 เหลืออีก 2 เดือนก็จะเรียนจบ แต่ถ้าวันที่ 25 มี.ค. นี้ ศาลมีคำสั่งฝากขังและไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผมก็คงต้องพักการเรียนไว้ก่อน ผมค่อนข้างกังวลเรื่องการเรียน เพราะมันเป็นเทอมสุดท้าย และผมก็พยายามรักษาเกรดเพื่อให้ได้เกียรตินิยม แม้จะกังวลเรื่องผลการเรียน แต่ถ้าต้องแลกกับสิ่งที่เราพูดไปในวันนั้น ผมก็ไม่เสียใจนะ เพราะการที่คนออกมาพูดความจริงแล้วคุณยิ่งพยายามปิดปากด้วยการใช้กฎหมายนี้ มันยิ่งแสดงให้เห็นว่าการปิดปากคนมันไม่สามารถทำให้คนหยุดพูดได้ ถ้าถามว่ามันคุ้มหรือเปล่ากับสิ่งที่เสียไป ผมว่าคุ้มนะ อย่างน้อยที่สุดก็ผลักดันให้คนพูดความจริงได้อย่างถ้วนหน้าในสังคมไทย”

“ผมไม่อยากใช้คำว่าเสียสละ เพราะมีคนที่เสียสละมากกว่าผม เราแค่เป็นคนหนึ่งคนที่ออกมาพูดความจริง เราอยากเห็นภาพในอนาคตที่ออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ตัวผมเองเรียนรัฐศาสตร์ เราก็ยังอยากเห็นภาพว่าสักวันหนึ่ง การวิพากษ์สิ่งเหล่านี้มันจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในโลกวิชาการ ทุกวันนี้แค่เขียนในเชิงวิชาการยังถูกจำกัดเลยด้วยซ้ำ เราอยากเห็นเสรีภาพที่มากขึ้นด้วยการที่เราสามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

นักรัฐศาสตร์ไม่ใช่แค่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง

เอฟ เผยว่าตั้งแต่ก้าวเข้ามาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากอาจารย์บางส่วนในคณะ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่สนับสนุนการทำกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการที่เขียนไว้ในตำราเรียน

“อาจารย์ที่เราเรียนด้วยก็สนับสนุนและช่วยเหลือเรา อย่างอาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเรียนด้วยในเทอมสุดท้ายของปี 4 ท่านบอกเราว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการเรียนนะ เดี๋ยวอาจารย์จะช่วยดูแลส่วนนี้ให้ แต่ถ้าการสนับสนุนในภาพรวมของคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ พูดตามตรงว่าผมค่อนข้างผิดหวังกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมขอยกตัวอย่างกรณีของเพนกวินเพราะเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์โดยตรง ผมเน้นย้ำว่าค่อนข้างผิดหวังมากๆ กับคณะที่สอนเรื่องการเมือง พยายามให้เด็กวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และให้พูดถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมาโดยตลอด แต่กลับกลายเป็นว่าตอนที่เพนกวินโดนจับ มีแต่อาจารย์คณะอื่นไปเยี่ยม ทำไมคณะของเรากลับมีเพียงแค่ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ทำไมมีแค่อาจารย์ 2 ท่านนี้ที่ไปช่วยเป็นนายประกันและช่วยเรื่องภาระการเรียน”

“เมื่อมองย้อนกลับมาที่คณะรัฐศาสตร์ซึ่งสอนเรื่องการเมืองมาโดยตลอด แต่สุดท้ายกลับบอกนักศึกษาว่า เราทำได้แค่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ซึ่งผมให้ผมรู้สึกค่อนข้างผิดหวังกับคณะมาก ผิดหวังตรงที่คณะนี้สอนอะไรพวกเราได้มากกว่านี้ ยังไม่นับความตั้งใจส่วนตัวที่ขวนขวายหาหนังสือมาอ่านอีก แต่กลายเป็นว่าเรากลับไม่เห็นคณะของเราออกมาแสดงจุดยืนเคียงข้างนักศึกษา ไม่เห็นคณะออกมาบอกว่าสิ่งที่นักศึกษาทำมันไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ ไม่เห็นแบบนั้นเลยด้วยซ้ำ”

กระบวนการยุติธรรมไทยท่ามกลางแสงไฟอันริบหรี่

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา เอฟ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยนั้นมืดหม่น แต่ในความมืดหม่นยังพอมีแสงสว่างหลงเหลืออยู่บ้างแม้จะริบหรี่ก็ตาม

“ส่วนตัวผม ผมคิดว่าภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมไทยมันมืดไปหมด แต่ก็ยังเชื่อเล็กๆ ว่ามันคงไม่มีอะไรที่เป็น 100% มันยังคงมีแสงสว่างอยู่ อย่างน้อยคนที่อยู่ข้างในกระบวนการข้างในนั้น เขาอาจจะเห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง และไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือ ผมเชื่อว่ายังมีคนเหล่านั้นหลงเหลืออยู่ อยากให้เขาทบทวนการกระทำต่างๆ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ผมพอชื่นใจได้นิดหนึ่ง คือ กรณีล่าสุด ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัวอนุชา มันก็ทำให้เห็นว่ายังพอมีแสงสว่างอยู่บ้างในวันที่แสงมันริบหรี่ขนาดนี้”

คิดอย่างไรกับความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐ

“คำว่าหลักสากลที่ตำรวจบอกว่ายึดถือปฏิบัติกัน มันไม่ใช่การที่ว่าเข้าไปสลายโดยทันที อย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย แต่ภาพที่ผมเห็นทุกครั้งจากรัฐ มันคือการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยไร้ความชอบธรรม หากรัฐพูดว่าประชาชนเริ่มความรุนแรงก่อน ผมอยากให้รัฐย้อนกลับไปมองด้วยว่าสิ่งตัวเองกระทำว่ามันเป็นไปตามหลักสากลอย่างไร ซึ่งการใช้รถฉีดน้ำไปจนถึงกระสุนยางแบบนั้นมันไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมอย่างแน่นอน”

ข้อเรียกร้องจาก 10 เหลือ 3

เอฟ เผยว่า เขาไม่รู้สึกว่าการลดข้อเรียกร้องจาก 10 ข้อ เหลือ 3 ข้อ ถือเป็นการลดเพดานการเรียกร้อง แต่เป็นการสรุปรวบประเด็นให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถรับการได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ผมว่ามันเป็นการรวบให้กระชับขึ้น เพราะที่ผ่านมา ฉันทามติร่วมของคนในสังคมก็เห็นตรงกันใน 3 ข้อ คือ 1.นายกรัฐมนตรีลาออกและองคาพยพออกไป 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยรวมแล้ว ผมมองว่าเป็นการรวบมากกว่า เพราะยังไง 10 ข้อ มันก็อยู่ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ตาม”

ส่วนการเปลี่ยนคำจาก ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ มาเป็น ‘ยกเลิก ม.112’ เอฟ มองว่าไม่ใช่การลดเพดานข้อเรียกร้องอย่างแน่นอน เพราะการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง

“บันไดขั้นแรกที่สำคัญของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ การยกเลิกกฎหมาย ม.112 เพราะมันดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดแล้ว ในมุมมองของผมน่ะนะ การยกเลิก ม.112 มันจะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาได้ ทั้งเรื่องงบประมาณสถาบันฯ ซึ่งสามารถได้ผ่านกลไกรัฐสภา หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้’ ซึ่งตอนนี้รัฐสภายังทำไม่ได้ อาจจะต้องรอให้เป็นเรื่องของอนาคต”

“การยกเลิก ม.112 ก็เพื่อที่จะทำให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในเชิงคำพูดที่เปลี่ยนจาก ‘ปฏิรูปสถาบันฯ’ มาเป็น ‘ยกเลิก ม.112’ อาจจะฟังดูเหมือนการลดท่าที แต่ผมคิดว่าการยกเลิก ม.112 เป็นบันไดก้าวแรกที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

การเรียกร้องของเยาวชนทำให้สังคมเปลี่ยน

“การที่ผู้คนออกมาเรียกร้องกันในระดับนี้ ผมเชื่อนะว่าสังคมเราเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว การที่ผู้คนออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่กล้าหาญมาก กล้าหาญอย่างหาที่สุดไม่ได้แล้ว”

“การต่อสู้ของเรามันคงระยะยาว ระหว่างทางที่เราเดินไปถึงเส้นชัย เราอาจจะเห็นคนบางคนล้มหายไปบ้าง คนถูกคุมขัง คนบางคนอาจจะไม่ได้กลับมา แต่ตราบใดที่ยังมีคนสู้อยู่ ตราบใดที่ยังมีคนเดินเท้าก้าวไปต่อ แม้ในวันนั้นจะมีหรือไม่มีผมก็ตาม แต่ผมว่าผมดีใจนะ สุดท้ายแล้วเขาก็ยึดมั่นอุดมการณ์เอาไว้ ยังไงซะการเปลี่ยนแปลงมันต้องมาถึงอย่างแน่นอน ตราบใดที่ทุกคนยังสู้อยู่”

ภาพหวังสังคมไทยในอนาคต

“ผมอยากเห็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในสังคมไทย ผมว่าสิ่งนี้มันน่าจะเป็นการแก้ปัญหาปากท้องในสังคมไทยได้ ส่วนตัวผมเอง เป็นแค่ชนชั้นกลางคนหนึ่งใน กทม. แต่เวลาเรามองออกไปข้างนอก ตามชายขอบ ทำไมเรายังเห็นคนอดอยากอยู่ ทำไมเรายังเห็นคนที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ในขณะที่คนไม่กี่คนที่ได้เงินเยอะ และสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า”

“อย่างที่สอง ผมอยากเห็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง อยากให้ประเทศนี้กลับไปอยู่ในครรลองประชาธิปไตยแบบเดิม อยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง เพื่อให้ไม่มีปัญหาจากการพูดความจริง เมื่อถึงปลายทางแล้ว ผมยังอยากเห็นเสรีภาพทางวิชาการด้วย ผมคิดว่ากรอบจำกัดของสังคมไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย การเมือง หรืออะไรก็ตาม มันทำให้เราไม่สามารถเขียนงานวิชาการอย่างตรงไปตรงมาได้ มันกลายเป็นว่าหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมันถูกจำกัด แต่มันควรจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อให้คนรับรู้และมองเห็นโลกกว้างได้มากกว่านี้”

 

สิ่งที่อยากทำ ถ้าการเมืองดี

“ถ้าพูดไปไกลได้ถึงว่าอนาคตที่การเมืองบ้านเราดีแล้ว จนผมไม่ต้องออกมาทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ในเวลานั้น ผมอาจจะนั่งอ่านหนังสืออยู่สักที่ก็ได้ เพราะตอนแรกผมฝันไว้ว่าอยากเป็นครู เป็นอาจารย์ สอนหนังสือ ผมคงทำงานด้านวิชาการล่ะมั้ง แต่ถ้าการเมืองยังไม่ดี ยังไงตัวผมก็คงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ แม้ว่าจะไม่โดนคดีก็ตาม ผมก็คงร่วมเคลื่อนไหวไปกับเพื่อนๆ ต่อ แต่ถ้าตอบแบบเห็นแก่ตัวที่สุดๆ ไปเลย ก็เหมือนเดิมครับ อาจจะนั่งอ่านหนังสืออยู่สักที่ (หัวเราะ)”

“ส่วนอนาคตอันใกล้ ในวันที่ 25 นี้ ถ้าได้ประกันตัว นอกจากเรื่องเรียนแล้ว ผมคงทำหน้าที่ตรงนี้ต่อ ทำอย่างไรก็ได้ให้เป้าหมายของเพื่อนเราสำเร็จ เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้คนข้างในนั้นออกมา และสิ่งที่คนข้างในนั้นคาดหวังที่สุด คือ ทำอย่างไรให้เป้าหมายที่พวกเราวางร่วมกันไว้เดินทางไปสู่ความสำเร็จ ถึงตัวเองจะรอดออกมาได้ก็คงต้องทำกิจกรรมการเมืองเรียกร้องต่อไป”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท