Skip to main content
sharethis
Event Date

10 ส.ค. - 16 ส.ค. จัดโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ Realframe ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

นิทรรศการว่าด้วย "พยานหลักฐาน" ของการควบคุม คุกคาม ปราบปราม ที่ทั้งหยุดยั้งและเหยียบย่ำพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศมานานกว่า 5 ปี เพื่อจุดประกายหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดซ้ำ และมีหนทางเดินต่อไปด้วยกัน

เข้าชมฟรี 10-16 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิธีเปิด 10 สิงหาคม 2562
16.00 น. ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยกล่าวเปิดงาน

16.15 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเสนอภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในระยะ 5 ปี พร้อข้อเสนอเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

16.45 น. เสวนาหัวข้อ “NEVER AGAIN” โดย
- ปิยบุตร แสงกนกกุล
- ภัควดี วีระภาสพงษ์
- ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์
- ภาวิณี ชุมศรี
ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

18.00-19.00 น. การแสดงเพื่อสะท้อนสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการควบคุมอำนาจที่เกิดขึ้นตามมานานกว่า 5 ปี โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นการรัฐประหารที่คณะรัฐประหารครองอำนาจยาวนานที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ในช่วงเวลากว่าครึ่งทศวรรษนี้ คณะรัฐประหารกล่าวอ้างเรื่องการดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้าง “ความสงบเรียบร้อย” ทำให้บ้านเมืองปราศจากความวุ่นวายขัดแย้งกันทางการเมืองและสร้างความปรองดองระหว่างฝ่ายต่างๆ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแท้จริงแล้ว คือ “ความสงบราบคาบ” ที่สังคมถูกคณะรัฐประหารใช้อำนาจลักษณะต่างๆ กดกักการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น ของฝ่ายที่คิดเห็นแตกต่าง หรือผู้คนที่คัดค้านต่อต้านเอาไว้

การรัฐประหารครั้งนี้ยังได้สร้างผลพวง ผลกระทบและบาดแผล ต่อสังคมในระยะยาวจากนี้ออกไปในอนาคต แม้คณะรัฐประหารชุดนี้จะไม่ได้ดำรงอยู่ต่อไปแล้วก็ตาม ถ้าหากไม่มีการชำระสะสาง ลบล้างผลพวง เยียวยาแก้ไข หรือเรียนรู้เปลี่ยนแปลง การใช้อำนาจลักษณะนี้อาจหวนกลับมาเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนซ้ำเดิมอีกครั้งเมื่อใดก็ได้ หากโอกาสเอื้ออำนวย

นิทรรศการ “Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมและจัดแสดงบางส่วนของข้าวของ ภาพถ่าย ข้อความ เรื่องราว ว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน การต่อต้านขัดขืน การเคลื่อนไหว พร้อมทั้งนำเสนอข้อเสนอการจัดการผลพวงบางส่วนที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้

ข้าวของและเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นทั้ง “พยานหลักฐาน” ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะรัฐประหาร พร้อมกันไปกับ “ร่องรอย” ของการพยายามต่อสู้ดิ้นรนในการไม่ยอมรับอำนาจอันไม่ชอบธรรมเหล่านั้น ด้วยความหวังว่าข้าวของและเรื่องราวจะพอช่วยย้ำเตือนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา และเริ่มต้นส่งเสียงตะโกนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำๆ พร้อมกับเปิดโอกาสในการร่วมเรียนรู้และแสวงหาหนทางเดินฝ่ามันออกไปด้วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net