Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 4 ต.ค. 2547 ปอมท ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา กมธ.การศึกษา ศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม และกมธ. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์ ร่างพรบฯ นอกระบบ ระบุให้อำนาจการเมืองแทรกแซงวิชาการ มุ่งธุรกิจการศึกษา ขาดธรรมาภิบาล

ผศ.นพ. พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายผ่อง เล่งอี้ ประธานกมธ.การศึกษาฯ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกมธ. พัฒนาสังคมฯ เรียกร้องให้วุฒิสภาทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเข้าสู่วาระพิจารณาของวุฒิสภาในวันนี้

ร่างฯ ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญคือการปรับโครงสร้างมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเดิมเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ (นอกระบบ) ราชการ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าร่างฯ ดังกล่าวจะเป็นแม่แบบให้กับมหาวิทยาลัยของรัฐอีกกว่า 20 แห่ง ซึ่งต้องเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการทั้งหมด

"เราได้มีความเป็นห่วงกังวลว่า การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะเข้าสู่ระบบธุรกิจการศึกษาเต็มตัว และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน ให้ผู้เรียนรับภาระค่าใช้จ่าย 100 % เราคิดว่าน่าจะต้องทำประชาพิจารณ์ รวมทั้งระบบการบริหาร ระบบธรรมาภิบาลซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับผู้บริหารซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากพนักงาน รวมทั้งไม่ให้พนักงานอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะกระทบต่อบทบาทในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะ" ผศ. นพ. พิศิษฐ์ โจทย์กิ่งกล่าว

ผศ.พิศิษฐ์อ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าร่างฯ ม.บูรพา นั้นจะกระทบกับคุณภาพชีวิตของชาวไทยซึ่งต้องทำประชาพิจารณ์ โดยมีประเด็นหลักคือ การเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ซึ่งเป็นการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่กลไกการตลาด และอาจนำไปสู่ระบบธุรกิจการศึกษาในที่สุด

นอกจากนี้ระบบการบริหารบุคคลซึ่งขาดธรรมาภิบาล ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบริหาร และสภาอาจารย์ จะทำให้บุคลากรขาดอิสระทางวิชาการระบบการบริหารจัดการ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยมาตรา 52 ร่างพรบ.ฯ ดังกล่าวกำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจกำกับดูแลการบริหารของมหาวิทยาลัย และในกรณีที่มีข้อขัดแย้งสามารถนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นการให้อำนาจการเข้ามากำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยโดยตรง

ด้านนายผ่อง เล่งอี้ และนพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ซึ่งได้รับหนังสือเรียกร้องจาก ปอมท. ได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็นการธุรกิจการศึกษา และการเปิดโอกาสให้อำนาจการเมืองครอบงำอิสระทางวิชาการ

"ขณะนี้ทางวุฒิสภากำลังมีการตรวจสอบระบบการศึกษาเชิงพานิชย์ ซึ่งเข้าข่ายธุรกิจการศึกษา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ตอบสนองต่อคนจน คนด้อยโอกาส" นพ.นิรันดร์ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากกมธ. วุฒิฯ ทั้ง 2 ส่วนแล้ว ปอมท. ยังได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์ต่อประธานวุฒิสภาด้วย แต่เนื่องจากมิได้นัดหมายล่วงหน้าจึงได้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภาเพื่อดำเนินการส่งมอบให้กับปรานรับสภาต่อไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net