Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพ 1 : ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ต้องใช้ถังออกซิเจนและยาขยายหลอดลมอยู่เพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยหอบอยูเมื่อมีอาการ

"อย่ามองแต่เรื่องเงินและกำไร…ขอให้มองถึงเรื่องความเป็นคนกันบ้าง ลูกสาวคนเล็กของพี่ เกิดเมื่อปี 38 จนถึงเดี๋ยวนี้ ต้องป่วยเรื้อรังมาโดยตลอด"

เป็นเสียงของ มะลิวัลย์ นาควิโรจน์ ชาวบ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ผ่านมากี่รัฐบาลแล้ว ผ่านมาเกือบสิบปี…ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันเรียกร้อง ให้มีการทบทวนและให้เข้ามาแก้ปัญหา แต่แล้วก็เงียบหายไปกับสายลมของความว่างเปล่า

เธอได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2539 - 2545 มีชาวบ้านได้เริ่มผลกระทบโดยตรงอย่างต่อเนื่อง มลภาวะจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นจากถ่านหินลิกไนต์เริ่มแผ่กระจายฟุ้งไปทั่ว จนทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณนั้น เริ่มล้มป่วยและเสียชีวิตกว่า 80 ราย

ทั้งนี้ เพราะในช่วงนั้น รัฐไม่มาตราการในการตรวจรักษาวินิจฉัยโรคและดูแลรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวะอนามัย จนชาวบ้านทนไม่ไหว จึงได้พาชาวบ้านที่เจ็บป่วยไปตรวจสุขภาพ ที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยแพทย์ได้บอกว่า เจ็บป่วยจากฝุ่นหินและจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จริง และยังบอกอีกว่า โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และแพทย์ยังได้แนะนำผู้ป่วยว่า…ไม่ควรเข้าไปอยู่ในพื้นที่เดิมอีก เพราะมิฉะนั้น จะยิ่งไปรับสารดังกล่าวเพิ่มขึ้นและจะเกิดอันตรายต่อชีวิตในอนาคต

ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ปี 2547 ยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 ราย นับแต่นั้นมา ชาวบ้าน อ.แม่เมาะ พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับฝ่ายรัฐ ให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับความเสียหายที่เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ การสูญเสียแหล่งอาหารหรือฐานอาชีพ ต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ยังไม่นับถึงความสูญเสียอันใหญ่หลวง นั่นคือ ครอบครัวชุมชนที่ล่มสลาย…

เมื่อมีการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอพยพโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับชาวบ้าน แต่ทาง กฟผ.และรัฐกลับพยายามยึดเยื้อต่อรองกับชาวบ้านมาโดยตลอด โดยมีการจ่ายค่าชดเชยเฉพาะส่วนที่ชาวบ้านมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ผู้ใดมีที่ดินครอบครองทำประโยชน์อยู่จริง แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีสิทธิ์ได้รับการจ่ายค่าชดเชย

มีรายงานอีกว่า กระบวนการตรวจสอบการครอบครองที่ดิน เป็นไปด้วยความไม่โปร่งใส และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งในกระบวนการประเมินผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชุมชนและสังคม รวมไปถึงความเสียหายด้านทรัพยากร การทำมาหากินของชาวบ้าน ไม่ว่าเรื่องการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ล้วนได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีการประเมินผลของความสูญเสีย

และที่สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านทุกคนต่างบอกว่า กระบวนการแก้ไขปัญหา เต็มไปด้วยความล่าช้าและไม่จริงใจ ไม่ว่าในเรื่องนโยบาย คำสั่งหรือมติ ต่างๆ ล้วนทำไปเพื่อยืดชะลอให้เกิดความล่าช้า หนำซ้ำยังมีการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะอยู่ตลอดเวลา โดยผ่านญาติผู้ป่วย และลูกจ้างที่ไปรับจ้างทำงานในโรงไฟฟ้า

29 มิ.ย.47 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้มีการอพยพย้ายชาวบ้าน บ้านหัวฝาย ต.บ้านดง บ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ครั้นพอถึงวันที่ 21 ต.ค.47 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี กลับมีคำสั่งให้ชะลอการอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ โดยอ้างว่า ทางกระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต

จากคำสั่งดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสการรวมตัวเรียกร้องสิทธิ์กันอีกครั้งหนึ่ง โดยทางชาวบ้านและกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งโดยมิชอบ และชาวบ้านได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งไปประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น นายยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะชุดทำงานได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน เมื่อเดินทางไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว รู้สึกอึ้งต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อหน้า เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีคนป่วยบางราย ต้องใช้ท่อสายยางอ๊อกซิเยนตลอดเวลา

ซึ่งขัดกับรายงานของ กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอรายงานให้ทราบ ที่อ้างว่า ทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปรับปรุงแก้ไขแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง

นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ ยังได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวอีกว่า ตามเงื่อนไขเดิมของการสัมปทานเปิดเหมืองแร่นั้น กำหนดให้มีอยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชน 5 กิโลเมตร แต่พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยคิง ห่างจากโรงไฟฟ้าเพียงแค่ 230 เมตร บ้านห้วยเป็ดและบ้านหัวฝาย ห่างประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วทำไมถึงมีการเปิดเหมืองใหม่ขึ้นมาอีก"

"ตอนนี้ ชาวบ้านทุกคนกำลังดีใจ และรอความหวัง หลังจากที่นายยงยุทธ รับปากว่าจะรีบรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และเร่งดำเนินการอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่โดยเร็ว แต่สำหรับตนนั้น ไม่ค่อยเชื่อ ไม่ค่อยมั่นใจนัก เพราะผ่านมากี่ยุคกี่รัฐบาลแล้ว ก็พูดเช่นนี้ แต่ก็เงียบหาย ไม่เคยจริงใจ ไม่เคยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ยุติเสียที" นางมะลิวัลย์ กล่าวออกมาอย่างเหนื่อยหน่าย

นี่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมไทย ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านและชุมชน บางครั้ง…มันบ่งบอกถึงความอ่อนด้อยของระบบการทำงานของรัฐ บางครั้งมันทำให้มองเห็นว่า รัฐพยายามเข้าไปยื้อแย่งครอบครองทรัพยากรของชาวบ้าน เพื่อเงินและกำไร โดยไม่ได้มองเห็นคุณค่าของมนุษย์ ว่ากี่ชีวิตต้องล้มตาย กี่วิถีชีวิตต้องล่มสลาย

ซึ่งหลายคนเชื่อกันว่า…หากผู้บริหารประเทศ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงมีกรอบความคิดเช่นนี้อยู่ สักวันหนึ่ง…ผู้คนและสังคมไทยอาจถึงคราย่อยยับล่มสลาย

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net