Skip to main content
sharethis

จากการสืบค้นของ "ประชาไทออนไลน์" พบว่า ยังมีข้อมูลบางประการที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"กองบรรณาธิการ" จึงตัดสินใจเกาะติดพื้นที่ ลงพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องในทุกแง่ทุกมุม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมด มานำเสนอผ่านบทรายงาน "เกาะติดชายแดนใต้" เป็นระยะๆ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

=========================================================

หลังเกิดเหตุการณ์ตายหมู่ จากการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้ ก็เป็นไปตามความคาดหมายของผู้คนที่ติดตามเหตุการณ์ในพื้นที่นี้มาตลอด

อันปรากฏให้เห็นจากปรากฏการณ์ฆ่ารายวัน ที่เพิ่มความถี่ยิบและรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที ในขณะที่ความลับดำมืดเกี่ยวกับการชุมนุมและการตายหมู่เกือบ 100 ศพ ยังคงค้างคาอยู่ในความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรง

คำถามที่ว่า ขนคนกันอย่างไร ถึงได้ตายกันมากมายอย่างนี้ ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับจำนวนคนสูญหาย จึงยังปรากฏอยู่ทั่วไป ในสังคมชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะมีผู้คนพยายามเข้ามาช่วยกันคลี่คลายปมต่างๆ มากมายหลายคณะ และวันเวลาผ่านไปกว่า 21 สัปดาห์แล้วก็ตาม

ด้วยสถานการณ์ที่ยังคงมีคำถามเช่นนี้ ปากคำของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ 9 ตำบลไพรวัลย์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ชุมนุม จากหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ไปยังกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงยังคงมีคุณค่ามากพอที่ควรจะบันทึกไว้

ขณะนี้ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ตึกอายุรกรรมชาย 1 เตียง 31 ชั้น 9 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (โรงพยาบาล มอ.) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ในสภาพมีผ้าพันแผลที่แขนซ้ายและบั้นท้าย ตั้งแต่ต้นแขนทั้งสองข้างถึงปลายมือ และปลายเท้าบวม มีรอยเจาะที่ลำคอข้างขวา มีสายยางสอดอยู่ตามลำตัว ใบหน้า และขาเต็มไปด้วยรอยถลอก

ถึงวันที่ "ประชาไท" มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมถามไถ่อาการ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ถูกนำฟอกไตมาแล้ว 3 ครั้ง ภายใต้การดูแลของ "นายแพทย์ณปกรณ์ แสงฉาย"

คำบอกเล่าของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ตรงที่เขาถูกคลุม "ถุงดำ" หลังจากถูกมัดแขมัดขานำขึ้นรถมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร

บ้านของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" อยู่ห่างจากโรงพักตากใบ ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุม 6 กิโลเมตรโดยประมาณ

หลังจากได้ยินเพื่อนบ้านหลายคนบอกว่า มีคนชุมนุมกันที่โรงพักตากใบ เวลาประมาณ 11.00 น. "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ก็ขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน มาดูว่ามีคนชุมนุมกันกี่คน ชุมนุมกันเรื่องอะไร ถึงที่เกิดเหตุก็นำรถไปจอดแถวหัวสะพานเกาะยาว เยื้องกับโรงพักตากใบ เข้าไปดูใกล้ๆ ที่ชุมนุม แล้วก็ติดอยู่ในนั้น จนกระทั่ง เวลาประมาณ 15.00 น. ทหารก็ฉีดน้ำ

"ตอนนั้น ผมอยู่ตรงหน้าโรงพัก พอได้ยินเสียงปืน ผมเลยวิ่งหนีไปที่สะพาน จะเอารถมอเตอร์ไซด์ออก แต่ไม่ทัน ก่อนจะถึงสะพานมีบ้านไม้ร้าง ผมจึงวิ่งหนีเข้าไปหลบในนั้น ทั้งที่หายใจไม่ออกและแสบตา

ผมอยู่ในนั้นไม่ถึง 10 นาที พื้นบ้านหักขาผมโผล่ลงใต้ถุน ทหารที่อยู่ใกล้ๆ ก็เลยมาจับขาผมดึงลงใต้ถุน พอทหารจับได้ตัว เขาก็เตะๆๆ ที่เจ็บที่สุด คือ เตะเข้าข้างหลังผม ทหารเตะจนผมทรุด เขาก็จับถอดเสื้อ แล้วเอาเชือกมามัดมือไขว้หลัง และมัดขา

เชือกที่ใช้มัดเส้นเล็กมาก ขนาดเล็กกว่าปากกาอีก ตรงนี้มีรถทหารจอดอยู่ใกล้กัน คันหนึ่ง มีรั้วสูงแต่ไม่มีผ้าใบคลุม ตอนนั้น มีคนกูกจับแล้วหลายคน

พอทหารมัดผมเสร็จ เขาเอาถุงดำมาสวม ขนาดพอดีกับหัว แต่ไม่ได้มัดปากถุง ผมยังหายใจได้อยู่ จากนั้น ก็จับผมยกแล้วก็ดันขึ้นรถ ผมมองอะไรไม่เห็นแล้ว ไม่รู้ว่า บนรถมีใครอยู่บ้าง แต่พอขึ้นไปข้างบน ผมยังยืนอยู่ได้

ต่อมา มีคนมาผลักแล้วสั่งให้นอนคว่ำหน้า ผมพยามแข็งขืนไม่ยอมนอนคว่ำ จึงถูกเตะเข้าสีข้างอีก จนต้องยอม

ผมนอนคว่ำหน้าอยู่ติดฝากระบะรถด้านในสุด นอนขวางทางยาวของรถ ผมอยู่ล่างสุด ตอนนั้นมองอะไรไม่เห็น ได้ยินแต่เสียง บางคนร้องโอดโอย ขอความช่วยเหลือ แต่ก็ถูกเตะ ผมได้ยินเสียงคนแก่คนหนึ่ง กล่าวปฏิญาณตน เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกเตะด้วย

พอมีคนมาทับข้างหลังหลายๆ คน ผมก็ถามว่า ถูกคลุมถุงดำด้วยหรือเปล่า มีคนบอกว่า ถูกคลุมด้วย คนที่บอกว่าไม่ถูกคลุมก็มี

พอขึ้นไปบนรถไม่นาน ผมรู้สึกกระหายน้ำมาก เลยตะโกนบอกทหารว่า ขอน้ำหน่อย ก็มีเสียงตอบมาว่า เอาน้ำหรือ เอาตีนไปดีกว่า พูดจบ ก็เอาเท้าย่ำไปที่กลางหลัง ผมต้องเงียบ คนอื่นที่ขอน้ำ ก็จะโดนแบบเดียวกัน หรือไม่ก็โดนตีด้วยด้ามปืน

รถเริ่มออกจากตรงนั้น ประมาณ 6 โมงเย็นน่าจะได้ ผมร้อนมาก เหงื่อเต็มหัว อึดอัดมาก หายใจไม่ออก เหนื่อยมาก แต่ยังไม่ถึงกับสลบ ขยับตัวไม่ได้เลย ไม่มีแรง

ผมไม่รู้ตัวเลยว่า คนที่นอนอยู่ข้างๆ กับคนที่อยู่ข้างบนผม ตายตั้งแต่ตอนไหน เพราะไม่มีเสียงอะไรเลย มารู้ตอนที่ผมเรียกเขาว่า พี่ๆ ขยับหัวนิดหนึ่งได้มั้ย แต่ไม่มีเสียงตอบรับ

ระหว่างทาง รถจอดหลายครั้ง บางครั้งจอดนานมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รถจอด ผมรู้สึกตัวขึ้นมา ก็มีคนที่ถูกจับมาด้วยกัน เชือกที่มัดมือเขาหลุด เลยช่วยถอดถุงดำที่คลุมหน้าออกให้ แล้วช่วยแก้เชือกที่มัดมือไขว้หลัง และเชือกที่มัดเท้า ทิ้งข้างทาง

พอถอดถุงออก ผมมองอะไรไม่ชัด ตาพร่าไปหมด ผมถามว่า เราอยู่ที่ไหน เขาบอกว่า ปาลัส (เทศบาลตำบลปาลัส อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี) ผมถามคนที่ถูกจับมาด้วยกันว่า พวกเขาทำอะไรอยู่ มีคนบอกว่า ทหารกินข้าวกันอยู่

ผมบอกว่า หายใจไม่ออก เขาก็ช่วยกดหน้าอก ช่วยบีบท้องให้ เพื่อนๆ ที่ถูกจับมาด้วยกัน พยายามยกผมลุกขึ้นนั่ง เป็นคนสุดท้าย แต่ผมนั่งไม่ได้ เพราะเจ็บหลัง เพื่อนๆ เลย ต้องจับเอาไว้

พวกที่ถูกจับมาด้วยกัน ขอทหารลุกขึ้นนั่งยองๆ เพราะคนแน่นมาก เขาไม่ว่าอะไร แต่ไม่ยอมให้ยืน

ส่วนคนที่ตายในรถ เพื่อนๆ ช่วยกันจัดศพให้เรียบร้อย มีคนบอกผมว่า มีคนตาย 8 คน เพื่อนๆ เอาไปตั้งซ้อนๆ กันตรงกลาง 3 - 4 ชั้น คนที่ยังไม่ตายก็นั่งลงข้างๆ บางคนนั่งบนศพ จนถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร

ตอนรถจอดที่ปาลัส มีทหารคุมอยู่ 3 คน แต่มองเห็นไม่ชัดว่า เขาใส่ชุดอะไร รถหยุดที่นี่ประมาณ 40 นาที หรือเกือบ 1 ชั่วโมง มีคนถามว่าอีกนานมั้ย จะได้ไป ทหารที่อยู่บนรถบอกว่า ตามใจกู กูจะไปตอนไหนก็ได้ พวกมึงอยู่นิ่งๆ แล้วกัน ไม่ต้องมาสนใจ

พอรถออก ก็มีทหารขึ้นมาอีก 3 - 4 คน ขึ้นไปอยู่บนหลังคาตรงห้องคนขับรถ 1 คน อยู่ที่ฝากระบะหลัง 2 - 3 คน ที่เหลือเกาะอยู่ข้างรถ

รถออกจากปาลัสมาก็ไม่จอดอีกเลย มาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร น่าจะประมาณตี 1 ตี 2 เพราะตอนที่อยู่ที่ปาลัส ผมถามกี่โมงแล้ว คนที่ถูกจับมาด้วยกัน บอกว่าเที่ยงคืนแล้ว

พอมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ขณะที่คนอื่นทยอยลงไปได้ ผมต้องให้คนที่ถูกจับมาด้วยกัน ช่วยประคองลงจากรถ ตอนนั้นผมเห็นทหารให้คนที่ถูกจับมาด้วยกันนั่งเป็นแถว บนพื้นปูนในเต้นท์ แถวละ 5 คน

เพื่อนๆ นำผมเพื่อนๆ นำไปวางไว้บนพื้นหญ้า เพราะต้องนอน นั่งไม่ได้ ทั้งเจ็บหลัง ทั้งหมดแรง

จากนั้น ก็มีหมอคนหนึ่ง ใส่ชุดขาว แล้วก็มีอีก 2 - 3 คน มายกผมไปไว้ที่ห้อง ใกล้กับเต้นท์ที่กางไว้ เขาให้ดื่มน้ำ แต่ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไรเลย ไม่ได้ให้ยา

ต่อมา เขาเอาผมไปโรงพยาบาลปัตตานี มีทหารมาคุมอยู่หลายคน ผมบอกว่าขอยาด้วย ผมเจ็บ ทหารคนหนึ่ง บอกว่า จะเอาเอานี่มั้ย เขายกด้ามปืนยาวขึ้นมาให้ดู

อยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานีหนึ่งวัน ผมก็ถูกนำมารักษาตัวที่โรงพยาบาบาลสงขลานครินทร์"

กว่า "นางแมะดะห์ มีนา" อายุ 47 ปี มารดาของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" จะทราบว่า มีการสลายการชุมนุมกันที่ตากใบ ก็ตกเย็นของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตกกลางดึกวันเดียวกัน เพื่อนบ้านก็มาบอกว่า คนที่ถูกจับยังไม่มีใครกลับมาบ้าน

รุ่งเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เพื่อนบ้านที่ไปตามหาญาติที่ถูกจับ กลับมาบอก "นางแมะดะห์ มีนา" ว่า มีชื่อลูกชายของนางถูกจับ นำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี

วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ญาติๆ ชวนกันไปเยี่ยม แต่แพทย์บอกว่า ส่งตัวไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

วันที่ 28 ตุลาคม 2547 พ่อของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ไปหาที่โรงพยาาบาลสงขลานครินทร์ แต่ไม่เจอ

จนวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ผู้เป็นพ่อ กลับไปหาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกครั้ง จึงได้พบ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ผู้เป็นลูกนอนรักษาตัวอยู่ในสภาพบอบช้ำหนัก

"ตอนนี้ยังมีใครมาบอกว่า จะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล หรือจะให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง ฉันยังไม่รู้เลยว่า จะทำอย่างไร รายได้ของครอบครัวก็น้อย" เป็นคำพูดที่หล่นออกจากปากผู้เป็นแม่ "นางแมะดะห์ มีนา"

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับกรณีของ "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ก็คือ ….
ถ้ามีการนำถุงดำมาคลุมศีรษะผู้ถูกจับกุมจริง ผู้กระทำมีเจตนาแอบแฝงอะไรหรือไม่
ทำไม "นายอับดุลเลาะ เจะฮะ" ถึงถูกคลุมถุงดำ
ทำไม ถึงคลุมถุงดำเฉพาะบางคน
ทำไม ถึงคลุมถุงดำ เฉพาะผู้ถูกจับกุมในรถบางคัน

อันนำมาสู่ คำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้เสียชีวิตระหว่างขนย้ายบางคน ขาดอากาศหายใจ ด้วยสาเหตุถูกคลุมถุงดำ ถึงแม้จะไม่มัดปากถุงก็ตาม

คำถามเหล่านี้ กำลังรอให้คณะกรรมการฯ สารพัดชุด ขุดคุ้ยค้นหาคำตอบ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net