Skip to main content
sharethis

หากติดตาม " แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย " หรือ "Indonesia - Malasia - Thailand Growth Triangle Deveopment Project : IMT - GT" มาอย่างต่อเนื่อง ย่อมทราบดีว่า ระหว่างปี 2536 - 2537 ซึ่งเป็นช่วงของศึกษาจัดทำกรอบความร่วมมือการพัฒนานั้น
ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ Asian Development Bank ธนาคารที่มีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งคนไทยคุ้นหูคุ้นปากในนามย่อ ADB ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน ได้เข้ามามีบทบาทชี้นำการกำหนดกรอบการพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือ IMT - GT ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
จากนั้น ก็เข้าสู่ช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2538 - 2544 ซึ่งเป็นช่วงเร่งดำเนินงานตามกรอบที่กำหนดไว้ ด้วยการขยายสาขาและพื้นที่ความร่วมมือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นั่นคือ ขยายสาขาความร่วมมือจาก 5 สาขา เป็น 9 สาขา ในการประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 5 ปี 2538 และขยับเป็น 10 สาขา ในการะชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 7 ปี 2540 พร้อมกับกำหนดประเทศนำในการดำเนินงานแต่ละสาขา ดังนี้
อินโดนีเซีย เป็นประเทศนำในสาขาการคมนาคมขนส่งทางบกและทางน้ำ , สาขาพลังงาน , สาขาการค้า
มาเลเซีย เป็นประเทศนำในสาขาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ , สาขาการเกษตรและประมง , สาขาการเงินการลงทุน , สาขาอุตสาหกรรม
ไทย เป็นประเทศนำในสาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน , สาขาการท่องเที่ยว , สาขาสื่อสารโทรคมนาคม
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ สาระสำคัญของกรอบการพัฒนาความร่วมมือใน 10 สาขา
1. สาขาการคมนาคมขนส่งทางบกและทางน้ำ : ร่วมกันพัฒนาโครงข่ายเดินเรือชายฝั่ง และพัฒนาโครงการบริการขนส่งสินค้าทางบก ตลอดจนอำนวยความสะดวก และพิธีการด้านการขนส่งระหว่างกัน
2. สาขาพลังงาน : ร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าระบบจำหน่าย , จัดหา , ใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียม ร่วมกันนพัฒนาระบบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงาน
3. สาขาการค้า : ส่งเสริมโอกาสและลู่ทางการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง 3 ประเทศ ลดข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกภาคเอกชน ในการขนส่งวัตถุดิบผ่านเขตแดนระหว่างประเทศ และสนับสนุนการเพิ่มปริมาณการค้าตามแนวเขตชายแดนระหว่างกัน
4. สาขาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ : เน้นประสานความร่วมมือด้านการเปิดโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ และส่งเสริมให้ภาคเอกชน ดำเนินการบินในเส้นทางระหว่างเมืองหลักที่สำคัญ
5. สาขาการเกษตรและประมง : ส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมง ความร่วมมือกันพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตร และการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกัน ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
6. สาขาการเงินการลงทุน : ส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งจากภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ และจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมทั้งจัดตั้งกลไกทางการเงินรองรับการลงทุน
7. สาขาอุตสาหกรรม : เน้นการร่วมลงทุนพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการย้ายโรงงานอุตสาหกรรม ไปยังพื้นที่ที่มีความได้เปรียบในเชิงการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนในด้านวัตถุดิบ และการจัดจำหน่ายผลผลิตอุตสาหกรรม
8. สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน : พัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมร่วมกัน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนในด้านวัตถุดิบ และการจัดจำหน่ายอุตสาหกรรม
9. สาขาการท่องเที่ยว : ร่วมมือในการพัฒนาวงจรการท่องเที่ยวของ 3 ประเทศ เช่น ทะเลสาบโตบา ( อินโดนีเซีย ) ปีนัง - ลังกาวี ( มาเลเซีย ) สตูล - สงขลา ( ไทย ) โดยมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco - Tourism)
10. สาขาสื่อสารโทรคมนาคม : ร่วมมือพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้สามารถบริการในลักษณะพิเศษ ทั้งในด้านอัตราค่าบริการ คุณภาพ และความมั่นคงของระบบโครงข่าย ตลอดจนให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างเท่าเทียมกัน และลดข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในช่วงนี้ คือ การขยายพื้นที่ความร่วมมือให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น
ครั้งแรก ที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 5 ปี 2538 เห็นชอบให้รวมสุมาตราตะวันตก
ครั้งที่สอง ที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 6 ปี 2540 เห็นชอบให้รวมจังหวัดเรียว (Riau)
ครั้งที่สาม ที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 9 ปี 2544 เห็นชอบให้รวมจังหวัดเบงกูลู (Bengkulu) จังหวัดจัมบี (Jambi)
อันล้วนแล้วแต่เป็นการขยายความร่วมมือ ในพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซียทั้งสิ้น
สำหรับกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ในช่วงนี้ ประกอบด้วย …
1. ภาครัฐ : ระดับรัฐมนตรี ประชุมประจำปีหมุนเวียนกันไปแต่ละประเทศ
ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ประชุมประจำปีก่อนวันที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี หมุนเวียนกันไปแต่ละประเทศ
ระดับคณะทำงาน 10 สาขา ประชุมกันตามสาระสำคัญของแต่ละสาขา เพื่อสรุปประเด็นนำเสนอระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรี
ระดับคณะทำงานย่อยแต่ละสาขา ตั้งขึ้นตามความเหมาะสมในแต่ละสาขา เพื่อพิจารณาโครงการสำคัญในแต่ละสาขาเป็นการเฉพาะ และนำเสนอต่อคณะทำงาน
2. ภาคเอกชน : สภาธุรกิจ 3 ฝ่าย เป็นกลไกหลักในการประสานความร่วมมือของภาคเอกชน และนำเสนอต่อภาครัฐ ซึ่งมีการประชุมประจำปีก่อนวันประชุมไตรภาคีฯ 1 วัน
พร้อมกับให้ผู้แทนสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส มีสถานะเป็นคณะผู้แทนภาคเอกชน ตั้งแต่การประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 7 ปี 2540 เป็นต้นมา
รวมทั้งให้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส มีสถานะเป็นผู้เข้าร่วมประชุม ที่สามารถแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้ ตั้งแต่การประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 8 ปี 2543 เป็นต้นมา
มาถึงตอนนี้ คงพอจะเห็นภาพเค้าโครงชิ้นเค้กที่รอการแบ่งปัน ภายใต้ " แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย " หรือ "Indonesia - Malasia - Thailand Growth Triangle Deveopment Project : IMT - GT" ได้ในระดับหนึ่ง
ถ้าต้องการจะเห็นภาพชัดๆ เป็นรูปธรรม อยากจะรู้ใครเป็นใคร กลุ่มทุนไหนบ้าง ที่เคยจ้องและกำลังจ้องจะเข้าไปแย่งชิ้นเค้ก ในพื้นที่ IMT - GT โปรดอย่าใจร้อน ค่อยๆ ติดตามตอนต่อๆ ไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net