Skip to main content
sharethis

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีในวิชาชีพ… ริคเตอร์ นับเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าในสาขาวิชาแผ่นดินไหว และวิศวกรรมแผ่นดินไหว และปีค.ศ.1935 เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขามีชื่อเสียงก้องโลก เมื่อได้เสนอแนวคิดการหาขนาดแผ่นดินไหวขึ้นเป็นครั้งแรก จนเป็นที่รู้จักแม้ในปัจจุบันว่าขนาดตามมาตราริคเตอร์ ผลงานของเขาจึงยังนับว่าทรงอิทธิพลในสาขาวิชาแผ่นดินไหวมาจนถึงวันนี้

ริคเตอร์ หรือนามเต็มว่า ชาร์ล ฟรานซิส ริคเตอร์ (Charles Francis Richter) กำเนิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1900 ณ ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองแฮมิลตัน มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดามารดาแยกทางกันขณะเขายังเยาว์ ปี ค.ศ.1909

เขาย้ายไปอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิสกับนางริคเตอร์ผู้มารดา ครั้นอายุ 16 ปี ริคเตอร์ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียใต้ หลังจากนั้นหนึ่งปี ก็ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและได้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาฟิสิกส์เมื่อ ค.ศ.1920 จากนั้นได้ศึกษาต่อ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย จนสำเร็จดุษฎีบัณฑิตสาขาเดียวกันเมื่อ ค.ศ.1928

เดิมที ริคเตอร์ตั้งใจประกอบอาชีพด้านดาราศาสตร์ แต่ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ เมื่อ โรเบอร์ต มิลลิแกน ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาขอให้เขาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการด้านแผ่นดินไหว ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียนั้น เขาได้ปฏิบัติงาน ณ สถาบันดังกล่าวมาตลอด ยกเว้นก็แต่ช่วง ค.ศ.1959-1960 เมื่อได้ทุนฟูลไบรต์ให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

ด้านความก้าวหน้าด้านวิชาชีพ ริคเตอร์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เมื่อ ค.ศ.1947 เป็นศาสตราจารย์ ค.ศ.1952 และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณเมื่อ ค.ศ.1970

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ในวิชาชีพ ริคเตอร์ นับเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าในสาขาวิชาแผ่นดินไหว และวิศวกรรมแผ่นดินไหว ค.ศ.1935 เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขามีชื่อเสียงก้องโลก เมื่อได้เสนอแนวคิดการหาขนาดแผ่นดินไหวขึ้นเป็นครั้งแรก จนเป็นที่รู้จักแม้ในปัจจุบันว่า"ขนาดมาตราริคเตอร์" ผลงานของเขาจึงยังนับว่าทรงอิทธิพลในสาขาวิชาแผ่นดินไหว มาจนวันนี้

ผลงานทางวิชาการของริคเตอร์มีเป็นจำนวนมาก เช่น ความรู้เบื้องต้นวิชาแผ่นดินไหว (Elementary Seismolgoy) จัดเป็นตำราเรียนเล่มเอกสำหรับผู้เริ่มศึกษาวิชาการสาขานี้ เขายังได้ร่วมงานกับกูเตนเบอร์กในผลงาน แผ่นดินไหวของโลก (Seismicity of the Earth)

นอกจากนี้ ยังมีบทความทางวิชาการอีกกว่า 200 ชิ้น ในฐานะอาจารย์ อาจารย์ที่ปรึกษา และนักวิจัย ริคเตอร์ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่พัฒนาการของวิชาแผ่นดินไหว นาม ริคเตอร์จึงควรได้รับการจดจำจารึกไว้ในแวดวงวิชาการสาขานี้ตลอดไป

ข้อมูล: อดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net