Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ม.ค. 47 " สผ. ไม่มีอำนาจไปสั่งให้เจ้าของโครงการไปทำอะไร หรือประเมินว่าโครง การควรอยู่หรือไม่ ตรงไหน สังคมคาดหวังว่า สผ. จะทำได้ดีกว่านี้แต่ทำไม่ได้ เรามีหน้าที่รายงาน แล้วหน่วยงานที่จะออกใบอนุญาตก็ไปพิจารณาต่อไปว่าจะอนุญาตหรือไม่" นายชนินทร์ ทองธรรม ชาติ ผอ. สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ. ) กล่าวชี้แจงอนุกรรรมการฐานทรัพยากร กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

นายชนินทร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สผ. ได้รับรายงานคืนในครั้งแรกเมื่อเดือน มิถุนายน 2547 แต่เมื่อนำเสนอคณะผู้ชำนาญการ (คชก. ) แล้วไม่ผ่าน ถูกตีกลับสองครั้ง เพิ่งมีการเห็นชอบในครั้งที่สาม เมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา

น.ส. ปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 8 ว. สผ. กล่าวว่าในประเด็นที่ คชก. ให้บริษัทที่ทำการศึกษาไปแก้ไขเพิ่มเติม มี 9 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับ เหตุผลการเลือกใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้า ข้อมูลการใช้พื้นที่โครงการ ข้อมูลการใช้น้ำ การบำบัดน้ำ การคำนวณอุณหภูมิของน้ำ ข้อมูลสภาพอากาศ รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของเทศบาลแก่งคอย ก็มีการแจ้งให้บริษัททราบ

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษาอนุกรรมการ ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการดังกล่าวใช้เวลาพิจารณา EIA เพียง 6 เดือน ซึ่งถือว่าสั้นมาก เพราะโรงโม่หินขนาดเล็กยังใช้เวลาตั้ง 2 ปี

นอกจากนี้ทางเครือข่ายประชาชนแก่งคอยเข้าร้องเรียนกับอนุกรรมการฯ เห็นว่าการทำประชาสังคมหรือการจัดเวทีสาธารณะ ค่อนข้างมีปัญหา มีการหลอกให้ลงชื่อ ทาง สผ. ได้ส่งคนลงไปดูในพื้นที่บ้างหรือไม่ และมีการขอความเห็นเรื่องการใช้น้ำจากคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือไม่

นายชนินทร์ ได้ตอบประเด็นดังกล่าวว่า หลักการพิจารณาของ คชก. คือดูว่า ชาวบ้านห่วงใยเรื่องอะไร ส่วนประเด็นที่ว่าจะมีการจ้างกันมาหรือไม่ หรือชาวบ้านพอใจต่อโครงการหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานออกใบอนุญาตต้องพิจารณา ซึ่งก็คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมธุรกิจพลังงาน

ด้านดร.สมฤดี นิโครวัฒนะยิ่งยง จากสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอแนะว่า ในกระบวนการทำ EIA ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และในรายงานการศึกษาควรมีการบันทึกความเห็นของคนในท้องถิ่น ไม่ใช่แนบรายชื่อว่าใครเข้ามาร่วมฟังเพียงเท่านั้น

ดร. สมฤดี กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ควรนำเอาการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ( HIA ) รวมไว้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) และควรมีการตรวจสอบต่อไปด้วยว่าหลังจากก่อตั้งไปแล้ว ประชาชนได้รับผลกระทบหรือไม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการ ฯ ยังได้ซักถามในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ และมลพิษด้านต่างๆ ที่จะออกมาจากโรงไฟฟ้า ซึ่งนายชนินทร์ตอบว่า จากในรายงานพบว่าของเสียที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านั้นมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานของทางราชการที่ได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็จะอยู่ในระดับต่ำ

ขณะเดียวกันทางอนุกรรมการ ฯ ก็ได้ถามย้ำในประเด็นที่ว่า กระบวนการการพิจารณา EIA จะมีการนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ทางด้านนายชนินทร์ตอบว่า ถ้ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คชก. ก็สามารถเพิกถอนบางส่วนหรือทั้งหมดของโครงการได้ แต่ข้อมูลนั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน

ด้านนายสมคิด ดวงแก้ว จากชมรมอนุรักษ์แก่งคอยกล่าวว่า ไม่คิดว่า สผ. จะให้ EIA ผ่านง่ายขนาดนี้ เพราะเห็นว่า มีการแก้ไขหลายครั้ง และก่อนหน้านี้ก็มีการยื่นจดหมายต่อ สผ. และบริษัทกัลฟ์ พาวเวอร์ เจนเนอร์เรชั่นจำกัด เจ้าของโครงการ เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลการศึกษา เนื่องจากประชานมีข้อกังขาในหลายประเด็น แต่ก็ไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลอะไรเลย และชาวบ้านก็ไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการ EIA แม้แต่น้อย อีกทั้งเวทีสาธารณะที่ผ่านมา ก็เหมือนการประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดฉาก และมัดมือชกชาวบ้าน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net