Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ
วันชัย ปัญญาโน

ปัญหาใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ในช่วงฤดูแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้วก็คือ คุณภาพของอากาศในตัวเมือง ซึ่งสามารถกล่าวได้อย่างเต็มคำว่า เชียงใหม่มีอากาศพิษในทุกฤดูแล้ง

มลพิษหลัก ก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน(pm-10) ซึ่งเป็นฝุ่นที่สามารถผ่านระบบหายใจเข้าไปสู่ปอดได้โดยตรง ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานกำหนดไม่ให้สูงเกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดชี้ว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่ที่อยู่ในแอ่งหุบเขา อากาศไม่ถ่ายเท

เมื่อเมืองยิ่งโต มีกิจกรรมของมนุษย์มากขึ้น และมีการเผาขยะและวัสดุทางการเกษตรมากขึ้น ฝุ่นละเอียดเหล่านี้จะสะสมอยู่ภายในแอ่ง มีสถิติยืนยันมานานแล้วว่า เชียงใหม่มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและมะเร็งปอดสูงสุดในประเทศไทย

เมื่อปีที่แล้ว - ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม 2547 อากาศของเมืองเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤติที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่าเกินมาตรฐานต่อเนื่องนานประมาณ 60 วัน บางช่วงสูงถึง 291 ไมครอน/ลบ.ม. ถึงขั้นที่กงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่ มีประกาศให้เจ้าหน้าที่สามารถจะขออพยพออกจากพื้นที่ได้เป็นการชั่วคราว

จนที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2547 ให้แก้ปัญหานี้

ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นเจ้าภาพในการระดมมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน ภายใต้วงเงินงบประมาณ337 ล้านบาท แยกเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 198.19 ล้านบาท และลำพูน 7.6 ล้านบาท และงบประมาณที่ขอจัดสรรเพิ่มเติม 131.21 ล้านบาท แยกเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 93.74 ล้านบาท และจังหวัดลำพูน 37.47 ล้านบาท

การดำเนินงานของภาครัฐแบ่งเป็น 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.การจัดการมลพิษจากการจราจร 87.6 ล้านบาท 2.การจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น การควบคุมมลพิษจากเตาเผาศพ การควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและการขนส่ง การควบคุมไอน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมัน การควบคุมมลพิษจากสถานประกอบการ งบประมาณ 54 ล้าน

3.มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง และมาตรการควบคุมไฟป่า งบประมาณ 26.2 ล้านบาท 4.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในเขตเมือง งบประมาณ 156 ล้านบาท และ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านมลพิษอากาศ งบประมาณ 20.9 ล้านบาท

กลไกรัฐไม่เอาจริง

แม้ว่าจะมีมติครม. อย่างเป็นทางการให้แก้ปัญหา ถึงขนาดที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เคยเดินทางมาร่วมประชุมมาตรการแก้ปัญหาเมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมา แต่ที่สุดแล้ว กลไกการทำงานทุกอย่างของภาครัฐ ที่ใช้เงินงบประมาณมากถึง 276.33 ล้านบาท สำหรับภารกิจช่วงปี 2547-2548 กลับไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ปัญหานี้จะได้รับการใส่ใจแก้ไขจริงจัง

ในช่วงงานฤดูหนาวประจำปี ซึ่งจัดขึ้นบริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัด ได้มีการเผาขยะจำนวนมากทุกวัน ระดับที่ควันลอยเข้ามารบกวนการทำงานของข้าราชการในศาลากลางจังหวัด

แสดงให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังของผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ในฐานะ ซีอีโอ. ว่าได้ใส่ใจกับปัญหาดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

ในที่สุด ตัวเลขสถิติการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10-pm ของเชียงใหม่โดยสถานีตรวจวัด 2 แห่ง โดยกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ยืนยันเรื่องนี้โดยระบุว่า เชียงใหม่ มีค่าดังกล่าวเกินมาตรฐานแล้ว จากการตรวจวัดเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา วัดได้ 131.3 ไมครอน/ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 120 ไมครอน/ลบ.ม.

ขณะที่การตรวจวัดวันอื่น ๆ มีค่าที่น่าเป็นห่วงใกล้เคียงกับค่าเกินมาตรฐาน เช่น วันที่ 8 มกราคม วัดได้ 102.8 ไมครอน/ลบ.ม. วันที่ 7 มกราคม วัดได้ 109.6 ไมครอน/ลบ.ม. และวันที่ 6 มกราคม วัดได้ 109.32 ไมครอน/ลบ.ม.

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่มีการประชุมหามาตรการ แก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวได้ยกมือถามถึง กรณีการเตือนภัยให้ประชาชนทราบตลอดถึงวิธีการป้องกันตงเอง หากเกิดระดับอากาศต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งผู้รับผิดชอบตอบอย่างมั่นใจว่า จะต้องมีระบบการเตือนภัย และประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งต่อประชาชนทันที ที่พบระดับคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงจุดที่คุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐานจริงในรอบนี้ ก็ยังไม่มีการเตือนใด ๆ ออกมาจากหน่วยงานรับผิดชอบแม้แต่น้อย

นี่เป็น การประจานการทำงานของผู้รับผิดชอบการแก้ปัญหาอย่างโจ่งแจ้งว่า เอาจริงเอาจังและใส่ใจการแก้ปัญหาในระดับใด

ผู้ว่าฯ สอบตก / ระบบราชการเหลว

นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เคยนั่งเป็นประธานฯ ในการประชุมนัดแรก หลักจากที่ครม. มีมติให้แก้ปัญหามลพิษเชียงใหม่ ซึ่งในครั้งนั้นอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน เชียงใหม่ยังไม่มีปัญหานี้ชัดเจนนัก ผู้ว่าฯได้พยายามจะชี้ให้ที่ประชุมแก้ปัญหาในเรื่องของ การก่อสร้างและดินที่ตกเรี่ยราดตามท้องถนน รวมถึง มุ่งไปที่การตกแต่งเมืองให้สวยงามเป็นหลัก

ทั้ง ๆ ที่ ปมสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศ อยู่ที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 ไมครอน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดคนละแหล่งกับปัญหาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อที่ประชุม

ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาอีกหลายครั้งจนได้ข้อสรุปว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเป็นแกนนำในการจัดการ โดยได้รวมเอากิจกรรมของแต่ละกระทรวงรวมถึงหน่วยงานปกครองท้องถิ่นมารวมกันในเชิงแผนปฏิบัติงาน

แต่ระบบราชการก็มีวัฒนธรรมการทำงานสืบทอดต่อเนื่องกันมาประการหนึ่ง ก็คือ การไม่ทำงานเชิงรุกอย่างแท้จริง

กรณีการแก้ปัญหามลพิษเชียงใหม่ก็เช่นกัน

คณะทำงานฯ กำหนดเป้าหมายการทำงานระยะสั้น (2547-2548) ว่า ปริมาณฝุ่นละอองในเขตเมืองเชียงใหม่-ลำพูน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงเดือน พฤศจิกายน-เมษายน อย่างน้อยร้อยละ 50

การกำหนดเป้าหมายแบบนี้ ส่อให้เห็นชัดเจนว่า ระบบราชการไม่ได้เอาจริง และ ตั้งเป้าแบบเชิงรับ
เพราะว่าสถิติตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่จะเริ่มมีระดับอากาศต่ำกว่ามาตรฐาน ในเดือนมกราคม แต่จะมีมากต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เมื่อปีที่แล้วรวมกันประมาณ 60 วัน

หมายความว่า ในช่วง 180 วันของการทำงาน จะมีอากาศต่ำกว่ามาตรฐานเพียง 60 วัน หรือ 1 ใน 3 อยู่เป็นปกติอยู่แล้ว

ถึงไม่มีการใช้เงิน ไม่มีมาตรการแก้ปัญหาใด ๆ และไม่ต้องมี ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าราชการมาแก้ปัญหา ตัวเลขมลพิษของเชียงใหม่ ก็ไม่มีทางเกิน 50% ของระยะเวลา 6 เดือนแน่นอนอยู่แล้ว !!

การใช้เงินงบประมาณแก้ปัญหาประมาณ เกือบ 280 ล้านบาท ในช่วงปีนี้ ใช้เงินครึ่งหนึ่งประมาณ 140 ล้านบาท ไปกับแผนการจัดระเบียบขนส่งมวลชน และใช้เงินในการตกแต่งภูมิทัศน์เมืองและทำความสะอาดถนน อีก 20 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการควบคุมไฟป่า ในปี 2547 ได้เงินงบประมาณ 7.48 ล้านบาท ส่วนงบประมาณ ปี 2548 นี้ ได้เพิ่มมามากเป็น 39 ล้านบาท นัยว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ตัวเหตุโดยตรง

แต่มาตรการแทบทั้งหมด จะเป็นจริงไม่ได้ หากว่า ไม่ได้รับการใส่ใจจากผู้นำองค์กร โดยเฉพาะ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งโครงสร้างกำหนดให้เป็น เจ้าภาพในการแก้ปัญหา

เช่น หากมีการใส่ใจในการรณรงค์ผ่านสื่อ โทรทัศน์และวิทยุของทางการราชการ ประกาศห้ามเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง มีศูนย์รับแจ้งปัญหา และหน่วยงานดับเพลิงที่ต้นเหตุทันทีที่มีการแจ้ง สำหรับพื้นที่เขตเมือง เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารสามารถสั่งการโดยตรงยังหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ทันที แต่กลับไม่มี เช่นเดียวกับ การเตือนทันทีที่ระดับอากาศต่ำกว่ามาตรฐาน การป้องกันตนเอง ของประชาชนทันทีที่เกิดหากมีระดับสถิติใกล้กับที่ที่แล้ว ก็ไม่มีการใส่ใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดแต่อย่างใด

จากสึนามิถึงเชียงใหม่

การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในจังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ มีการยกเอาปัญหาการไม่ใส่ใจคำเตือน ไม่มีการตระหนักภัย ทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมรองรับ โดยเฉพาะระบบการเตือนภัย ทำให้มีการสูญเสียเม็ดเงินไปอย่างน้อย 30,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการสูญเสียทางจิตใจและภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว
ขณะที่ปัญหามลพิษเชียงใหม่ กลับไม่เป็นเช่น สึนามิ เพราะมีผู้เตือนภัยให้เห็นแล้ว มีระดับนโยบายสั่งการให้แก้ปัญหาโดยตรง รับรู้ว่า ต้นตอของปัญหาคืออะไร

เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นปีที่แล้ว มีระดับอากาศต่ำกว่ามาตรฐานติดต่อกันนาน 60 วัน ขนาดที่กงสุลอเมริกันอนุญาตให้เจ้าหน้าที่อพยพออกนอกพื้นที่ได้

หากมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวผ่านสื่อต่างประเทศ แน่นอนว่า ย่อมมีผลกระทบทันทีต่อภาคการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ซึ่งจะมีงานเทศกาลใหญ่ในเดือนเมษายน

หากคิดว่า นี่เป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และทางสังคม ยังไม่สำคัญเท่า มิติทางเศรษฐกิจ ถือว่า เป็นการคิดที่ผิด เพราะทุกปัญหาทุกมิติของเชียงใหม่ เชื่อมโยงถึงกันหมด

การประเมินผลงานผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมา เชียงใหม่ได้รับการประเมินผลในระดับดีเยี่ยม จากการผลักดันกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจ 3 ใน 5 กิจกรรม

ซึ่งแท้จริงแล้ว มันเป็นแค่ความยอดเยี่ยมส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะหากประเมินผลในภาพรวมแล้ว จะต้องนำเอาปัญหาการกำจัดขยะเชียงใหม่ที่ไม่สำเร็จ ปัญหามลพิษทางอากาศที่แย่ที่สุดในประเทศไทย มาชั่งน้ำหนักรวมเข้าไปด้วย

และถึงแม้ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ จะได้รับการยกย่องให้ เป็น ซีอีโอ. ยอดเยี่ยมของกระทรวง
มหาดไทย ก็ตาม

แต่สำหรับ มิติการแก้ปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจภาคบริการของเชียงใหม่เสียหายอย่างร้ายแรงหากมีการเผยแพร่ออกไปผ่านสื่อต่างประเทศ ไม่นับรวมถึงต้นทุนค่ารักษาพยาบาล และ คุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดที่ตกต่ำลง

มาถึงตอนนี้ ถือว่า ซีอีโอ.เชียงใหม่-สอบตก ไม่ว่าจะมองด้วยมิติเศรษฐกิจ หรือ สังคมก็ตาม!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net