Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำบรรยายพิเศษเรื่อง
What is Peace Audit?
อะไรคือการตรวจบัญชีสันติภาพ?: แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้

โดย ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ รณพีร์ ซามัดดาร์
ผู้อำนวยการ Calcutta Research Group, India
ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ รณพีร์ ซามัดดาร์ เป็นนักวิชาการชาวอินเดียผู้มีประสบการณ์นับสิบปีในการหาทางแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งรุนแรงทางเชื้อชาติ-ศาสนาด้วยสันติวิธีทั้งในอินเดียและประเทศข้างเคียงแถบเอเชียใต้ อาทิ ในแคว้นแคชเมียร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, จังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถาน, และศรีลังกา เป็นต้น, โดยร่วมงานกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติมาตลอด เขาเคยก่อตั้งและอำนวยการโครงการสันติภาพศึกษาแห่งเวทีสิทธิมนุษยชนเอเชียใต้ (South Asia Forum for Human Rights - SAFHR) ณ เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล กระทั่งมาเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยกัลกัตตา (Calcutta Research Group) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยนโยบายสาธารณะด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์รณพีร์จบการศึกษาดุษฎีบัณฑิตทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องความยุติธรรม, สิทธิและสันติภาพในบริบทความขัดแย้งต่าง ๆ ของเอเชียใต้อย่างกว้างขวาง หัวข้อประเด็นต่าง ๆ ที่สนใจศึกษาได้แก่ การอพยพและผู้ลี้ภัย, ทฤษฎีและการปฏิบัติว่าด้วยการเสวนา (dialogue), การปรับโครงสร้างทางเทคโนโลยีและระบอบแรงงานแบบใหม่, ลัทธิชาตินิยม, สภาพความเป็นรัฐยุคหลังอาณานิคมในเอเชียใต้ เป็นต้น เขาร่วมงานกองบรรณาธิการของวารสารวิชาการหลายฉบับ

อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการวารสาร Refugee Watch ในขณะนี้, ผลงานค้นคว้าวิจัยชิ้นเด่น ๆ ของเขาที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือมีอาทิเช่น A Biography of the Indian Nation, 1947-1997 (2001) ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในงานชุดศึกษาลัทธิชาตินิยมอินเดีย ๓ เล่มจบ, Paradoxes of the Nationalist Time (2002) ซึ่งอิงอาศัยประวัติ-ศาสตร์ขบวนการกู้อิสรภาพในบังคลาเทศมาท้าทายแนวทรรศนะหลักเกี่ยวกับกำเนิดชาตินิยมในวงวิชาการตะวันตก, และ The Politics of Dialogue (2004) ซึ่งประมวลแนวคิดที่บ่มเพาะพัฒนา ขึ้นมาจากผลงานของเขาว่าด้วยการเมืองของการสนทนา, ความขัดแย้งและความยุติธรรม เป็นต้น

จากประสบการณ์เข้มข้นยาวนานในการเข้าร่วมแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งและสร้างสันติภาพภาคสนามในเอเชียใต้ดังกล่าว ศาสตราจารย์รณพีร์ได้ค้นพบว่าบรรดาข้อตกลงหรือสนธิสัญญาหยุดยิงทั้งหลายนั้น แม้จะทำสำเร็จ ลงนามกันและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่บ่อยครั้งก็หาได้นำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนไม่, เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน จำต้องเปิดกว้างขยายวงกระบวนการสันติ-ภาพให้ผู้คนหลากกลุ่มหลายฝ่ายที่ต่างก็ปรารถนาและมีเดิมพันในสันติภาพมาเข้าร่วม, ส่วนคำนิยามและเนื้อหาของสันติภาพนั้นก็จักต้องเปิดปลายขยายความออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมหลากประเด็นหลายระดับตามแต่ความห่วงกังวลของกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกระบวนการสันติ-ภาพเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชนหรือการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรเป็นต้น

โดยนัยนี้ แนวคิดและการปฏิบัติที่เรียกว่า Peace Audit หรือกระบวนการตรวจบัญชีสันติภาพจึงถูกศาสตราจารย์รณพีร์ประมวลสรุปและพัฒนาขึ้น ในอันที่จะชักดึงบุคคล กลุ่ม ฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงมาสังสันทน์สนทนากัน เพื่อร่วมกำหนดเกณฑ์เชิงปฏิบัติในการตรวจบัญชีสันติภาพ และแสวงหาลู่ทางสร้างความไว้วางใจรวมหมู่ที่มีเนื้อหาทางศีลธรรม, รวมทั้งความยุติธรรมขั้นต่ำสุดที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน อย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วมตามจริยธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย อันจะนำไปสู่การปรองดองรอมชอมที่เป็นพื้นฐานแก่สันติภาพอย่างยั่งยืนได้

ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของแนวคิด Peace Audit ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย จึงเชิญ ศาสตราจารย์ รณพีร์ ซามัดดาร์ เดินทางมาบรรยายพิเศษในการสัมมนาเรื่อง "กระบวนการตรวจรักษาสันติภาพ: แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้" (Peace Audit: Idea & Experiences from South Asia) ผ่านการประสานงานของเจ้าหน้าที่ Social Science Research Council (สถาบันอิสระภาคเอกชนที่ส่งเสริมการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา) โดยจัดขึ้นรวม ๒ ครั้ง ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ต่อมา ศาสตราจารย์รณพีร์ได้เรียบเรียงปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาคำบรรยายดังกล่าวให้ครบ ถ้วนสมบูรณ์เป็นเอกสารชื่อ "What is Peace Audit?" เพื่อเผยแพร่แก่ผู้สนใจในประเทศไทย ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ผู้แปลสดคำบรรยายทั้งสองครั้งของศาสตราจารย์รณพีร์ ได้แปลเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกชั้นหนึ่ง

"อะไรคือการตรวจบัญชีสันติภาพ?"
โดย รณพีร์ ซามัดดาร์
กลุ่มวิจัยกัลกัตตา
การเมืองเรื่องสันติภาพ

ผมขอขอบคุณ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์และ ดร. เกษียร เตชะพีระแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, และ ดร. อิตตี้ อับราฮัม เพื่อนของผมด้วยความซาบซึ้ง ที่ได้กรุณาเชิญผมมาเยือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ เพราะมันไม่เพียงเปิดโอกาสให้ผมได้อภิปรายทรรศนะและประสบการณ์ทางด้านการศึกษา วิชาการและที่สำคัญกว่านั้นคือ กิจกรรมการเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพของผมอีกครั้งเท่านั้น หากยังเปิดช่องให้ผมได้เรียนสิ่งที่ยังไม่รู้ เรียนความขัดแย้งที่แผ่นดินนี้ประสบ ความพยายามที่ผู้คนบนแผ่นดินนี้พากเพียรเพื่อรับมือความขัดแย้งเหล่านั้น และวิธีการที่ผู้คนทำความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตย - - หรืออันที่จริงแล้วก็คือ สร้างประชาธิปไตยขึ้นมานั่นเอง

ผมถือเสมอมาว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการไปออกเสียงเลือกตั้ง เท่ากับเรื่องของการเสวนา, เจรจา, สนทนา, จัดการความขัดแย้ง และหล่อหลอมมาตรฐานใหม่ของสิ่งที่เราอาจเรียกว่า "ความยุติธรรมขั้นต่ำสุด" ขึ้นมา หากจะหวนยืมคำของศาสตราจารย์ชาร์ลส ติลยี่ มาใช้แล้ว ประชาธิปไตยก็คือ "วิวาทวาทา" ( "contested conversation" ) นั่นเอง

ก่อนอื่น เวลาอภิปรายประเด็นปัญหาต่าง ๆ เรื่องสันติภาพ เราต้องระลึกไว้ว่าการศึกษาเรื่องสันติภาพนั้นเป็นการ ศึกษาโดยทดลอง ฉะนั้นประเด็นปัญหามูลฐานประการหนึ่งที่การศึกษาเรื่องสันติภาพต้องเผชิญก็คือ ทำอย่างไรการศึกษาเรื่องสันติภาพจึงจะมีส่วนช่วยการต่อสู้เพื่อสันติภาพได้? ทำอย่างไรมันจึงจะอุทิศคุณูปการให้แก่การวิจัยสันติภาพอย่างมีความหมายเพื่อที่การวิจัยนั้นจะได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการผดุงสันติภาพให้ยั่งยืน?

ผมใคร่จะใช้โอกาสการบรรยายนี้เสนอแนะแบบวิธีการหนึ่งซึ่งจัดเป็นการศึกษาเรื่องสันติภาพที่มีลักษณะทดลองทำอย่างที่สุด - กล่าวคือมันทั้งอุทิศคุณูปการให้แก่การวิจัยสันติภาพและช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพของสังคมในการสร้างสันติภาพด้วย ผมใคร่จะขอพูดถึงประเด็นเรื่อง "การตรวจบัญชีสันติภาพ" (peace audit) ในที่นี้

คำถามที่ประดังตามมาทันทีก็คือ: สันติภาพน่ะตรวจบัญชีได้รึ; จะตรวจบัญชีสันติภาพกันอย่างไร? อะไรคือมรรควิธีของการตรวจบัญชีที่ว่านั้น? จะพัฒนาวิธีตรวจดังกล่าวขึ้นอย่างไร?

วิธีเริ่มเรื่องนี้อย่างหนึ่งก็คือ อภิปรายสันติภาพในแง่มุมที่ยากสักหน่อย ผมหมายถึงพูดถึงสันติภาพในฐานะที่มันถูกผูกมัดไว้ด้วยความเป็นจริงของความขัดแย้ง ดังที่เราท่านคงทราบกันอยู่ว่า อันโตนีโอ กรัมชี่ พูดถึงสภาวะสันติภาพว่ามันเป็น "สภาพชะงักงันทางยุทธศาสตร์" ในสังคมซึ่งชนชั้น กลุ่มพลังและพรรคทั้งหลายที่ช่วงชิงกันอยู่ต่างเข้าจับจองที่มั่นเพื่อสัปประยุทธ์กัน มิเชล ฟูโกต์ มักเอ่ยอ้างถึงเคลาสวิตซ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงแต่กลับตาลปัตรคติพจน์ของเคลาสวิตซ์เสีย ด้วยข้อถกเถียงที่ว่าการเมืองต่างหากที่เป็น "การสืบเนื่องของสงคราม"

ทั้งหลายแหล่ที่กล่าวมานี้เป็นประเด็นสำคัญยิ่งเพราะมันช่วยให้เราไม่หลงมองสันติภาพเป็นคู่ตรงข้ามของสงครามอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์ แต่ให้มองสันติภาพเป็นความสัมพันธ์ทางพลังอำนาจแบบเฉพาะเจาะจงหนึ่ง ๆ และพลังอำนาจชุดเดียวกันนี้นี่แหละที่ครองรูปแบบความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งในยามที่เราเรียกว่า ภาวะสงคราม ในความหมายนั้นจึงจะกล่าวได้ว่า การเมืองคือสันติภาพ และเป็นอื่นต่างหากจากสงคราม ฉะนั้นเวลาเราพูดว่า "ให้โอกาสสันติภาพบ้าง" จริง ๆ แล้วเรากำลังพูดว่า "ให้โอกาสการเมืองบ้าง" นั่นแหละ การตรวจบัญชีสันติภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเรื่องสันติภาพนั่นเอง

การประเมินกระบวนการสันติภาพและวินิจฉัยว่า สันติภาพจะยั่งยืนสักแค่ไหนเพียงใดไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นคำถามที่เป็นที่สนใจของทั้งผู้วางนโยบายและนักกิจกรรมสันติภาพมากขึ้นทุกที หากตัดทิ้งเสียซึ่งคำสัญญาสวยหรู ลมๆ แล้งๆ มายาการและอาการหูตาสว่างหลุดพ้นจากมายาการซึ่งย่อมจะเกิดตามมาอย่างรวดเร็วแล้ว น่าครุ่นคิดว่า เราอยู่ในฐานะที่จะตอบคำถามข้างต้นนี้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงและจากนั้นจะได้ดำเนินมาตรการเพื่อขยายกระบวนการสันติภาพให้แผ่กว้างออกไปและผดุงมันให้ยั่งยืนขึ้นหรือไม่?

พวกผู้ชำนาญการด้านความมั่นคงหัวแข็งคงบอกว่า แนวคิดเรื่องตรวจบัญชีสันติภาพนี้คลุมเครือไปและถ้าจะใช้เป็นกรอบนโยบายก็คงเอาไปปฏิบัติไม่ได้ อย่างไรก็ตามการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพที่ทำในรูปของการเสวนาระหว่างนักกิจกรรมสันติภาพ ผู้วางนโยบายที่เกี่ยวข้อง และผู้มีเดิมพันในสันติภาพกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจัดโดยกลุ่มวิจัยกัลกัตตาและองค์กรอื่น ๆ บ่งชี้ว่า กระบวนการสร้างสันติภาพแบบรัฐต่อรัฐล้วน ๆ - - โดยตัดขาดจากประเด็นที่กว้างออกไปเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมนั้น - - ไม่อาจผดุงสันติภาพให้ยั่งยืนได้; นี่เป็นบทเรียนทั้งสำหรับตัวมโนทัศน์การตรวจบัญชีสันติภาพเอง และการดำเนินโครงการตรวจบัญชีสันติภาพให้สำเร็จลุล่วงไปด้วย

ในการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพ การตั้งคำถามว่า สันติภาพเพื่อใคร? สันติภาพตามมาตรฐานใด? และ สันติภาพที่ปลอดพ้นจากอะไร? ช่วยให้นักวิจัยกับนักกิจกรรมสันติภาพสามารถนำเสนอบรรทัดฐานและวิธีการที่วัดได้เพื่อใช้ดำเนินนโยบายผดุงสันติภาพที่ยั่งยืน ผลการตรวจบัญชีสันติภาพครั้งต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามต่อสันติภาพไม่ได้มาจากรัฐเท่านั้น หากยังมาจากการขาดประชาธิปไตยใน กระบวนการ สันติภาพซึ่งเรียกร้องต้องการผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายกลุ่มหลายฝ่ายและการพิจารณาปัญหาหลายระดับ อีกทั้งยังมาจากการคิดไม่ชัดว่าจะใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมด้วย

การฝึกหัดตรวจบัญชีเหล่านี้ช่วยเสนอแนะทิศทางต่าง ๆ ที่เป็นไปได้และวิถีทางข้างหน้า อีกทั้งบ่งชี้วิธีการตรวจบัญชีความยั่งยืนของสันติภาพด้วย การชั่งวัดความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของกระบวนการสันติภาพก็ดี, การครุ่นคิดถึงผลร้ายจากการตัดขาดประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยออกไปจากเรื่องสันติภาพก็ดี, การประเมินความสามารถในการสร้างสันติภาพของฐานสังคมกลุ่มต่าง ๆ และความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะเข้าร่วมในกระบวนการนี้ก็ดี, เหล่านี้เป็นการฝึกหัดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สำหรับนักวิจัยและนักกิจกรรมสันติภาพที่ทำงานในสังคมซึ่งขัดแย้งแตกแยกแล้ว การเข้าแบกรับภาระหน้าที่ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ในการแบกรับภาระหน้าที่นี้ เราต้องเข้าใจความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่กำหนดธาตุแท้ของปัญหาสันติ ภาพ, เข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของปัญหาสันติภาพ, เข้าใจวิธีที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่ช่วงชิงกันต่างมองประวัติ ศาสตร์ที่ว่านี้, และท้ายที่สุดต้องเข้าใจรูปแบบที่ประเด็นความยุติธรรมซ้อนทับก่ายเกยกับปัญหาสันติภาพให้จงดี

ท่านคงจะสังเกตเห็นได้นะครับว่า ผมกำลังพาดพิงโดยนัยถึงแถบความสืบเนื่องแห่งสภาวะต่าง ๆ จากสงครามไปถึงสันติภาพ, ถึงสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่ทั้งไม่รบแต่ก็ไม่สงบสันติซึ่งเป็นลักษณะของการเมืองของเรา, และถึงความจริงอันจะแจ้งบาดตาเกี่ยวกับความขัดแย้งและ/หรือสงครามซึ่งครอบคลุมปัญหาสันติภาพอยู่ แต่ถึงกระนั้นเราก็ต้องระวังด้วยนะครับว่าที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้เป็นเรื่องการตรวจบัญชีสันติภาพ ไม่ใช่ตรวจบัญชีความขัดแย้ง

แต่ถ้าสภาวะสงครามกับสภาวะสันติภาพมีจุดร่วมกันอยู่ตั้งมากมายอย่างนี้แล้ว อะไรคือความแตกต่างระหว่างสภาวะทั้งสองเล่า? ประเด็นปัญหาที่ชี้บอกความแตกต่างคือ เรื่องความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงความยุติธรรมที่ถูกนิยาม ณ ขั้นตอนที่จำเพาะเจาะจงหนึ่งทางประวัติศาสตร์, ความยุติธรรมที่ถือเป็นหลักการแห่งความยุติธรรมขั้นต่ำสุด, และเป็นความยุติธรรมที่หยิบยกทั้งเรื่องสิทธิและการประนีประนอมรอมชอมกันขึ้นมาอ้างอิง เพื่อการนี้ เราต้องสำนึกให้มากถึงความจริงเกี่ยวกับการพิพาทขัดแย้งและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ภายในตัวของมัน

แต่กระนั้นก็ตาม เวลาหยิบยกเรื่องความยุติธรรมขึ้นมากล่าวอ้าง การเมืองเรื่องสันติภาพก็กำลังเรียกร้องอะไรบางอย่างเพิ่มเติมเป็นพิเศษด้วย เจ้าสิ่งที่ว่านี้เราอาจเรียกด้วยภาษาแบบแดริดา ได้ว่าเป็น "ภาคผนวกมหาภัย" ซึ่งพวกสัจนิยมพากันกลัวนักกลัวหนานั่นเอง

สังเขปสถานการณ์เอเชียใต้
ในช่วงสองสามทศวรรษหลังนี้ บรรดารัฐต่าง ๆ ในอนุทวีปเอเชียใต้ได้ทำข้อตกลงหลายฉบับกับกองกำลังต่อต้านรัฐด้วยอาวุธกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสถาปนาหรือฟื้นฟูสันติภาพขึ้น ในประเทศอินเดีย ประวัติศาสตร์ของข้อตกลงเหล่านี้เริ่มด้วยข้อตกลงเนรูห์-ชี๊ค อับดุลลาห์ ว่าด้วยการปกครองตนเองของแคว้นแคชเมียร์ในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ กว่าสองทศวรรษให้หลังข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดข้อตกลงชิลลองระหว่างพวกนาคากับรัฐบาลอินเดีย, ตามมาด้วยข้อตกลงเบ็ก-ปาร์ธาสาราธีว่าด้วยแคว้นแคชเมียร์, ข้อตกลงมิโซ, ข้อตกลงเขาดาร์จีลิง และข้อตกลงโบโด ในปากีสถานมีการเสวนาระหว่างรัฐบาลปากีสถานกับขบวนการชาตินิยมสินธุและขบวนการประชาชาติบาล็อค ในศรีลังกา มีการเสวนาทิมบู (เมืองหลวงของประเทศภูฏาน) ระหว่างขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีลัม (Liberation Tigers of Tamil Eelam - LTTE) กับรัฐบาล ข้อตกลงระยะหลังฉบับอื่น ๆ ก็มีเช่นข้อตกลงสันติภาพพื้นที่เขาจิตตะกองในบังคลาเทศ, ข้อตกลงหยุดยิงนาคา, ข้อตกลงหยุดยิงในศรีลังกา, และข้อตกลงหลายฉบับที่ล้มเหลวในเนปาลระหว่างรัฐกับฝ่ายกบฏ

นอกจากประวัติศาสตร์ของข้อตกลงสันติภาพเหล่านี้แล้ว เรายังมีประวัติศาสตร์ข้อตกลงระหว่างรัฐฉบับต่าง ๆ ว่าด้วยน้ำ, เขตชนส่วนน้อย, การปักปันพรมแดน, การค้า, ฯลฯ โดยทุกฉบับล้วนประกาศเจตนารมณ์ในการทำว่าเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือและเก็บเกี่ยวดอกผลจากสันติภาพ ยังมีประวัติศาสตร์คู่ขนานกันไปเกี่ยวกับการเสวนาที่ล้มเหลวและข้อตกลงที่ทำไม่สำเร็จรวมทั้งที่สำเร็จแต่ไม่นำไปปฏิบัติด้วย แบบวิธีการ เนื้อเรื่องและโครงสร้างของบรรดาการเสวนาที่บรรลุผลและล้มเหลวเหล่านี้จำต้องนำมาตรวจสอบให้มากขึ้นและศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลแห่งความล้มเหลวและสำเร็จของมัน

นี่เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนขึ้นในภูมิภาคที่ถูกสิงสู่รุมเร้าด้วยปัญหาการแยกประเทศ, สงคราม, การต่อต้านรัฐด้วยอาวุธ, การล่วงละเมิดและกดขี่สิทธิมนุษยชนอย่างโจ๋งครึ่ม, และความพยายามดิ้นรนกระเสือกกระสนของประชากรบางหมู่เหล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรีและอิสรภาพโดยไม่เลือกวิธีการ

คำถามตรงเป้าที่พึงถามน่าจะได้แก่: ทำไมข้อตกลงบางฉบับล้มเหลว? ทำไมภาคีข้อตกลงบางฝ่ายหมดศรัทธาในการเสวนา? ทำไมข้อตกลงระหว่างรัฐบางฉบับที่น่าจะทำได้กลับทำไม่สำเร็จ และบ้างทั้งที่ทำสำเร็จก็ยังล้มเหลว? อะไรคือต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับความล้มเหลวเหล่านี้ ในเชิงการแก้ไขความขัดแย้งอย่างยืนนานและการฟื้นฟูสันติภาพ, และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผลกระทบของความล้มเหลวดังกล่าวในเชิงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์? แม้เพียงตรวจบัญชีอย่างผ่าน ๆ ก็เห็นได้แล้วว่า ความล้มเหลวที่ว่านี้ ส่งผลให้ผู้คนถูกบังคับขับไสจนบ้านแตกสาแหรกขาดพลัดที่นาคาที่อยู่มากขึ้น ไม่ว่าจะระหว่างประเทศหรือในประเทศหนึ่ง ๆ, ผู้อพยพถูกโจมตีบ่อยขึ้น, มีการใช้อำนาจเสียงข้างมากอย่างหยาบช้ายิ่งขึ้น, ชนส่วนน้อยถูกข่มเหงรังควานหนักขึ้น, ผู้หญิงถูกรังแกมากขึ้นและเกิดความหวาดระแวงกันข้ามพรมแดนยิ่งขึ้น

กล่าวโดยรวมแล้ว การเสวนาสันติภาพที่จัดโดยกลุ่มวิจัยกัลกัตตากับเวทีสิทธิมนุษยชนเอเชียใต้นั้น เป็นการฝึกหัดตรวจบัญชีเรื่องที่ปกติรู้จักเรียกขานกันว่า "ความขัดแย้งภายใน" ระหว่างรัฐกับฝ่ายกบฏ แม้ว่าปัจจัยภาย นอกจะถูกหยิบยกมาอภิปรายด้วยพอควรในกรณีที่เกี่ยวพันก็ตาม ในแง่หนึ่งตามปกติแล้วความขัดแย้งเหล่านี้อาจจัดเป็น "ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์" ด้วยก็ได้

จริงอยู่ที่มีความขัดแย้งทำนองนี้อีกเยอะแยะมากมายในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า การเสวนาที่จัดขึ้น (รายงานการเสวนาเหล่านี้ถูกเผยแพร่ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์และบนเว็บไซต์) ได้ดึงเอาลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งดังกล่าวออกมาให้เห็น อาทิเช่นกระบวนการและการทำข้อตกลงสันติภาพ, พลวัตของข้อตกลง, ธาตุแท้ของการเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพโดยผู้กระทำการฝ่ายต่าง ๆ, วิถีพัฒนาของความขัดแย้งและความพยายามสร้างสันติภาพที่ควบคู่กันมา, และท้ายที่สุดคือประเด็นโดดเด่นที่ครอบคลุมความพยายามสร้างสันติภาพทำนองนั้นทั้งหมด ในความหมายนี้เราอาจกล่าวได้ว่าการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพช่วยให้หูตาสว่างไสวเข้าใจแง่มุมใหม่เกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ

ลักษณะของการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพ

หากสรุปงานของเราในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมพอจะระบุบุคลิกลักษณะของกระบวนการสันติภาพออกมาได้ ๑๕ ประการดังต่อไปนี้:

บทบาทสำคัญยิ่งของการหยุดยิงในกระบวนการสันติภาพ; เงื่อนไขของมัน; เหล่าปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดข้อตกลงหยุดยิงรวมทั้งธาตุแท้ที่มีลักษณะเปิดปลายของข้อตกลงหยุดยิง

ความด้อยประสิทธิภาพโดยสัมพัทธ์ของระบบและวิธีการเตือนภัยล่วงหน้า ; จุดอ่อนที่ว่านี้เรียกร้องให้ต้องปรับรื้อระบบและวิธีการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างถึงรากถึงโคนเพราะวิธีการเหล่านี้ประเมินต่ำไปซึ่งเดิมพันของผู้กระทำการหลายฝ่ายในความขัดแย้งและเดิมพันของผู้กระทำการอื่น ๆ ในภาวะสันติภาพ

การปลดอาวุธฝ่ายค้านติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐและความสัมพันธ์ของการปลดอาวุธดังกล่าวกับระเบียบวาระการปลอดทหาร

ประเด็นปัญหาที่ดินในการทำข้อตกลงสันติภาพ; การปกครองตนเองและการจัดระเบียบเองที่ก่อตั้งขึ้นอันเป็นผลมาจากข้อตกลงสันติภาพ

ความสำคัญของภาระหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมรวมทั้งความเชื่อมโยงของมัน; ลักษณาการต่าง ๆ ที่ภาระหน้าที่ทั้งสองบรรจบกัน ลักษณะ เฉพาะของภาระหน้าที่แต่ละด้านและจุดร่วมของมัน; การกำหนดลงไปว่าขั้นตอนไหนในกระบวนการที่ภาระหน้าที่ดังกล่าวกลายเป็นเชื้อมูลสำคัญขั้นชี้ขาด

ลักษณะเปิดปลายของข้อตกลงสันติภาพ, ธาตุแท้ของมันที่เป็นเครื่องมือ, และความสำคัญของเรื่องนี้ในการวางกรอบนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสันติภาพ; ผล กระทบต่อสิ่งที่เราอาจเรียกว่า "กองทุน-นโยบาย"

การขึ้นบัญชีประเด็นต่าง ๆ ทางด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน

กระบวนการสันติภาพและธาตุแท้ที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ของอำนาจทางทหาร; ความเกี่ยวพันของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ, การปรากฏตัวของผู้หญิงในฐานะฐานพลังสันติภาพที่สำคัญยิ่งและนัยสืบเนื่องของมัน
การเสวนาสันติภาพหลายระดับ; ลักษณะมากมายหลายหลากของปัญหาสันติ-ภาพและกระบวนการสันติภาพ
เราหมายถึงอะไรกันแน่เวลาเราพูดถึง เสียงสาธารณชน, สื่อมวลชน และมติมหาชนในกระบวนการสันติภาพ, พึงสังเกตว่าธาตุแท้ของ "สาธารณชน-มวลชน-มหาชน" นี้เป็นสิ่งสร้างหรือเสกสรรขึ้น, ส่วนสื่อนั้นเล่าก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ปั้นแต่งและฉะนั้นจึงอาจถูกบิดเบือนฉวยใช้ได้เพื่ออำนวยให้ความขัดแย้ง ลัทธิทหารนิยมและสงครามดำเนินต่อไป

เนื้อแท้ของสภาพการมีอยู่หรือไม่ซึ่งมาตรการเยียวยาแก้ไขทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อกรณีพิพาทขัดแย้งแหลมคม, ความไม่เพียงพอของมาตรการเหล่านั้น, ความจำเป็นที่วิธีคิดทางตุลาการจะต้องยืดหยุ่นพลิกแพลง, ความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายหลากหลายระบบ; ความขัดแย้งและความขาดตกบกพร่องของรัฐธรรมนูญ
ลักษณะเนื้อแท้ของการเข้าร่วมการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพ; การจัดโครง สร้างระเบียบวาระการตรวจบัญชี, ลักษณะเนื้อแท้ของ "ความโปร่งใส" ในหมู่ผู้ได้รับความไว้วางใจ; วิธีเขียนรายงานโดยรวมเสียงสะท้อนของเหยื่อและภาษาเรื่องสิทธิ; การทำให้การฝึกหัดตรวจบัญชีมีลักษณะเป็นจุดร่วมสำหรับบรรดาผู้เข้าร่วมสร้างสันติภาพจะได้มาพบปะทำความเข้าใจกัน; การนำรายงานไปใช้ในภาคสนาม

การทำการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมซึ่ง "มิติที่สาม" ของฉากความขัดแย้งและ/หรือสันติภาพที่เป็นไปได้หนึ่ง ๆ ซึ่งเกี่ยวพันถึงการตรวจสอบทางเลือกต่าง ๆ ของผู้ไกล่เกลี่ยรอมชอมและ/หรือผู้อำนวยความสะดวกชาวท้องถิ่น, คนกลางจากภายนอก, การแทรกแซง, การใช้อนุญาโตตุลาการ ฯลฯ และอาณัติเฉพาะเจาะจงของบุคคลและมาตรการเหล่านี้

เชื่อมโยงผู้เข้าร่วมตรวจบัญชีสันติภาพเข้ากับกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอื่น ๆ ; เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะกลายเป็นผู้นำโดยธรรมชาติเนื่องจากได้หยั่งรู้กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่าง ๆ ; สถานการณ์ล่อแหลมเปราะบางต่าง ๆ ; สภาพที่เหยื่อกลับกลายเป็นผู้กระทำการ; สังคมที่ขัดแย้งกันรุนแรงแหลมคมและต้องรวบรวมพลังลุ่มลึกภายในของสังคมนั้นเพื่อปกป้องความยุติธรรมและสันติภาพในการเสวนา

ท้ายที่สุดคือ ถือการตรวจบัญชีสันติภาพเป็นปฏิบัติการแปรสันติภาพให้เป็นแบบประชาธิปไตยโดยทำให้การประนีประนอมรอมชอมกันมีลักษณะเป็น "จุดร่วม" ; ตรวจสอบพลวัตของการประนีประนอม; อาศัยการฝึกหัดตรวจบัญชีไปทำงานการเมืองในแบบที่รับรู้กันว่าการเมืองคือศิลปะแห่งความเป็นไปได้ ฉะนั้น ประเด็นเพิ่มเติมก็คือทำอย่างไรจึงจะฟื้นคืนคุณธรรมแห่งสามัญสำนึกให้แก่การเมืองเรื่องสันติภาพได้

การตรวจบัญชีเหล่านี้อาจทำในรูปกิจกรรมต่าง ๆ ๔ ประเภทคือ -

วิจัยประเด็นมูลฐานเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ
เสวนาสันติภาพ (ในหมู่ผู้เข้าร่วมราว ๒๐ - ๒๕ คนจากพื้นที่ขัดแย้งและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง) โดยใช้ข้อค้นพบจากการวิจัยข้างต้น (ก) มาตรวจบัญชีกระบวนการสันติภาพ

จัดตั้งการเสวนาเหล่านี้และจัดระเบียบวาระข้อสนทนาจากจุดยืน "เสวนาหลากหลายฝ่าย" ซึ่งย่อมหมายความว่าต้องตระหนักรับข้อความจริงเหล่านี้คือ (๑) เสวนากันหลายระดับ (๒) เสวนาประเด็นสันติภาพที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันหลายประเด็น (๓) รับรองผู้กระทำการสันติภาพหลากหลายฝ่ายนอกเหนือจากฝ่ายรัฐกับฝ่ายนำการกบฏ (หรือรัฐอีกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง) (๔) ยอมรับว่าการผสมผสานความไว้ใจ, ความโปร่งใส, และการจำกัดวงข้อมูลในหมู่ผู้ได้รับความไว้วางใจเป็นหนทางไปสู่การทำให้กระบวนการสันติภาพมีลักษณะมากมายหลายฝ่าย

ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการตรวจบัญชีสันติภาพ รวมทั้งคู่มือสำหรับนักวิจัยสันติภาพ, ผู้วางแผนนโยบายและนักกิจกรรมสันติภาพออกไปในวงกว้าง

การพัฒนามรรควิธีตรวจบัญชีนับเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งของความพยายามที่ว่านี้ ประเด็นเกี่ยวข้องที่สำคัญยิ่งก็มีเช่น (ก) ทำอย่างไรวิธีการตรวจบัญชีจึงจะละเอียดรอบคอบรัดกุม, (ข) ทำอย่างไรจึงจะแยกแยะปัจจัยเชิงบวกกับปัจจัยเชิงลบในมุมมองของสันติภาพที่ยั่งยืนออกมาเป็นเอกเทศได้, (ค) ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาทฤษฎีแห่งการเสวนาขึ้นมาได้ในขณะเดียวกับที่ตระหนักรับความจริงที่ว่าการเสวนาดังกล่าวเป็นกรณี "วิวาทวาทา" อย่างหนึ่ง, และ (ง) ทำอย่างไรจึงจะประเมินค่าสิ่งที่เป็น "กระบวนการ" ซึ่งย่อมแตกต่างจากผลลัพธ์บั้นปลายได้?

ผมขอยกตัวอย่างสักกรณีในที่นี้ เราสามารถนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาตรวจบัญชีได้ อาทิข้อคิดที่ว่าการแยกประเทศเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งแบบหนึ่งในเอเชียใต้ การตรวจบัญชีย่อม จะต้องจัดการตรวจสอบประเด็นการเมืองของการแยกประเทศและการแยกประเทศในฐานะวิธีการอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ตรวจสอบว่ามันช่วยแก้ไขหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งกันแน่? การปักปันพรมแดนมีความหมายอันใดต่อบรรดารัฐและชุมชนคู่พิพาท? เกิดอะไรขึ้นกับชุมชนข้ามพรมแดนทั้งหลาย? เกิดอะไรกับทรัพยากรที่เคยใช้ร่วมกัน? มันหมายความว่าอะไรเมื่อการแยกประเทศเป็นเหตุให้หน่วย/ข้าง/ประเทศ/ภาคส่วนหนึ่งได้เอกราชและรู้สึกมีพลังอำนาจ แต่อีกข้างหนึ่งกลับรู้สึกเจ็บใจไม่รู้วาย? การแยกประเทศที่ใสสะอาดจะมีได้ไหม, ถ้าได้ บรรทัดฐานของมันคือ อะไร? จะมีอำนาจอธิปไตยร่วมกันได้หรือไม่เพื่อที่ว่าการที่ต่างฝ่ายต่างรับรองเอกราชและความแตกต่างซึ่งกันและกันจะไม่นำไปสู่การสังหารหมู่, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, และความเกลียดชังยืดเยื้อยาวนาน? ท้ายที่สุด, ทำอย่างไรระเบียบวาระเรื่องความยุติธรรมและสิทธิจึงจะปลีกตัวมันเองออกจากความคิดเรื่องแยกประเทศซึ่งเกาะกุมความคิดจิตใจผู้คนหนา
แน่นราวคีมเหล็ก? กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาบรรทัดฐานใหม่ของความเป็นพลเมือง กฎหมาย สิทธิและการศึกษาในโรงเรียนขึ้นมาได้ในโลกที่เกิดการแยกประเทศซ้ำซากต่อเนื่องกัน - ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่อง "ชนส่วนน้อยค้างเติ่ง" , ประชาชนผู้ไม่มีที่ไป, และประชากรผู้ไร้รัฐสังกัดได้? การตรวจบัญชีดังกล่าวจะต้องรับรู้ประสบการณ์ของปากีสถาน, อินเดีย, บังคลาเทศ - ซึ่งหมายรวมถึงบรรดาชุมชนที่เกี่ยวข้อง - และผู้คนในประเทศเหล่านี้ที่ต้องเผชิญผลกระทบของการเมืองเรื่องการลากเส้นเขตแดนภายใน อาทิพลเมืองและผู้มีภูมิลำเนาในนครใหญ่, เมือง, และภูมิภาคที่พังพินาศเพราะความขัดแย้งระหว่างชุมชน, หรือเขตประสบภัยสงคราม เป็นต้น

หรือเราอาจลองยกตัวอย่างการตรวจบัญชีว่าด้วยสมรรถภาพของกลไกทางกฎหมายกับสถาบันแห่งชาติในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียใต้, และขีดจำกัดของหลักการปารีสเมื่อเทียบวัดกับความจำเป็นในการแก้ไขความขัดแย้ง นี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะมันจะพูดถึงปัญหาความ สัมพันธ์ระหว่างสิทธิ, ความยุติธรรม, และสันติภาพโดยตรง; มันจะตรวจสอบสมรรถภาพของรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายพื้นฐานฉบับต่าง ๆ ในฐานะเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้ง; มันจะเกี่ยวพันถึงสถาบันด้านสิทธิแห่งต่าง ๆ และจะเข้าไปจับประเด็นปัญหาการปกป้องสิทธิในท่าม กลางวัฒนธรรมปลอดการรับผิด เป็นไปได้ว่าการตรวจบัญชีแบบที่ว่านี้จะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเมื่อประเมินจากประสบการณ์สงครามกลางเมืองมากมายหลายครั้งในบรรดาประเทศกรำศึกทั้งหลายในแถบเอเชียใต้

การตรวจบัญชีสันติภาพจักต้องมีหลายฝ่ายเข้าร่วมซึ่งควรให้มีลักษณะหลากหลายและสะท้อนความมากมายหลายหลากของบรรดาผู้มีเดิมพันในสันติภาพทั้งปวง การตรวจบัญชีจะค่อย ๆ วิวัฒน์ดัชนีบ่งชี้ความยั่งยืนของสันติภาพและความมั่นคงขึ้นมา การตรวจบัญชีจะยื่นข้อเสนอแนะเพื่อส่งต่อออกไปให้กว้างไกลที่สุดเท่าที่ไกลได้รวมทั้งส่งถึงบรรดาสถาบันแห่งชาติ, องค์กรนิติบัญญัติและองค์กรกำหนดนโยบายอื่น ๆ การตรวจบัญชีจะเชื่อมโยงกับบรรดาเครือข่ายที่กว้างกว่าและตีพิมพ์รายงานการศึกษาเพื่อเผยแพร่ออกไป ด้วยมาตรการดังกล่าวนี้ รายงานตรวจบัญชีสันติภาพและรายงานความคืบหน้าทั้งหลายก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสันติภาพที่กว้างใหญ่กว่าซึ่งดำเนินสืบเนื่องอยู่ เราอาจเชิญบุคคลภายนอกมาสังเกตการณ์เป็นคราว ๆ ไป แบบวิธีการเชิญถือหลัก "เฉพาะในหมู่ผู้ได้รับความไว้วางใจแบบโปร่งใส" ซึ่งหมายถึงการทำงานบนพื้นฐานความไว้ใจ, ฉันทามติ, การเปิดเผยข้อมูลให้รู้กันเฉพาะในหมู่ผู้ได้รับความไว้วางใจ, และหลักการแสวงจุดร่วมอย่างรอบคอบรัดกุม

ฉะนั้น การพัฒนาระเบียบวาระการตรวจบัญชีในฐานะที่เป็นการฝึกหัดสร้างสันติภาพอย่างหนึ่งจึงเป็นกิจกรรมสันติภาพที่มีลักษณะใหม่ กว่าจะเรียกรวมนักกิจกรรมสันติภาพ, สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมทั้งหลายมาฝึกหัดตรวจบัญชีกันอย่างเข้มข้นสามสี่วันได้ย่อมจะต้องมีการออกไปดูงานภาคสนามและประชุมเตรียมการกันก่อน, มีการค่อย ๆ สร้างสมฉันทามติเกี่ยวกับแบบวิธีและประเด็นต่าง ๆ ในระเบียบวาระการตรวจบัญชีผ่านการอภิปรายทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอื่น ๆ ล่วงหน้าอย่างน้อยสักสามเดือน, จัดโครงสร้างการฝึกหัดตรวจบัญชีให้สมดุลด้วยความละเอียดอ่อน, และจัดเตรียมรายงานสรุปภายหลังตรวจบัญชีเสร็จที่ละเอียดรอบคอบรัดกุม สามารถนำข้อ
เสนอ แนะในรายงานไปเผยแพร่ได้กว้างไกล อีกทั้งใช้มันเป็นฐานริเริ่มการเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชนและสันติภาพได้ในพื้นที่ สถาบันและที่ตั้งต่าง ๆ ที่เหมาะสม

การประชันช่วงชิง, ความหลายหลากมากมาย, ความยุติธรรม, และจุดร่วม

เมื่อได้สาธยายลักษณะต่าง ๆ ของการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพมาถึงตอนนี้ ก็น่าที่จะย้อนทวนเนื้อเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องดูสักเที่ยว ผมใคร่จะจบคำบรรยายสั้น ๆ นี้โดยอ้างอิงถึงเนื้อเรื่องสำคัญดังกล่าว ได้แก่ การประชันช่วงชิง, ความหลายหลากมากมาย, ความยุติธรรม, และจุดร่วม เราจะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของมันได้ในบริบทของสิ่งที่ผมได้บรรยายไปแล้ว

จุดเริ่มอยู่ที่การประชันช่วงชิง การประชันช่วงชิงเป็นหัวใจของความขัดแย้ง การประชันช่วงชิงยังเป็นบุคลิก ลักษณะของการสนทนาและเสวนา ความจริงข้อนี้แหละที่ทรงอิทธิพลต่อการฝึกหัดตรวจบัญชีแต่ต้น ความเข้าใจพลวัตของการประชันช่วงชิงจะช่วยบ่งชี้ให้เห็นปัจจัยหลายหลากมากมายที่เกี่ยวข้อง

ความจริงมีอยู่ว่ามีปัจจัยหลายหลากมากมาย, ผู้กระทำการหลายหลากมากมาย, เนื้อเรื่องหลายหลากมากมาย, และประเด็นหลายหลากมากมาย กระบวนการสันติภาพมักจะล้ม เหลวก็เพราะมองข้ามความหลายหลากมากมายนี้ ต้องจัดการเสวนาสันติภาพขึ้นหลายระดับ เคล็ดความสำเร็จของกระบวนการอยู่ตรงต้องหลีกเลี่ยงกับดักแห่งความเข้าใจแบบข้างเดียวฝ่ายเดียวให้จงได้ การผนวกรวมความหลายหลากมากมายเข้ามาในการตรวจบัญชีสันติภาพนับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และนั่นคือศิลปะของการเสวนา

ความหลายหลากมากมายแสดงให้เห็นว่ามีจุดร่วมดำรงอยู่ กรัมชี่ก็ชี้ว่ามันดำรงอยู่ด้วยเมื่อเขาพูดถึงอำนาจนำ (hegemony) และ "ภาวะชะงักงันที่ทำร้ายผู้คน" การประลองยุทธในการเมืองเรื่องสันติภาพก็คือการช่วงชิงกันว่าใครจะยึดจุดร่วมได้; และบางครั้งจุดร่วมซึ่งเรียกขานกันในชื่ออื่นว่าลัทธิมนุษยธรรมหรืองานมนุษยธรรมก็อาจกลายเป็นจุดสำคัญยิ่งหรือจุดศูนย์เนื่องจากสภาวะความร่วมของมัน

ท้ายที่สุด สันติภาพนั้นผดุงไว้ด้วยความยุติธรรม การตรวจบัญชีสันติภาพจะช่วยหาหนทางให้, บางคนยอมอภัยให้อดีตเพื่อแลกกับการที่คนอื่นจะอภัยให้ปัจจุบัน บางคนได้ความยุติธรรมมาโดยผ่านการชดเชย การค้ำประกันและการได้เป็นผู้พิทักษ์รักษา และบางคนอาจต้องอาศัยการริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ในหลักความยุติธรรมเพื่อส่งผลให้เกิดการจัดระเบียบใหม่การสรุปรวบยอดหลักการและรูปแบบต่าง ๆ ของความยุติธรรมขั้นต่ำสุดขึ้นมาเป็นแนวคิดหรือมโนทัศน์จัดเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของการตรวจบัญชีสันติภาพ

ถึงตอนนี้คงเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่าผมกำลังเสนอแนะว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการศึกษาสันติภาพแบบวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา อีกทั้งจำเป็นที่จะต้องจำแนกมันออกจากการศึกษาสันติภาพแบบจืดชืดธรรมดาที่หลีกเลี่ยงลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงวิธีการและเจตจำนง

หมายเหตุ: ในการเขียนบทความนี้ ผมได้ดึงเนื้อหาแนวคิดบางส่วนมาจากหนังสือของผมเรื่อง The Politics of Dialogue - Living Under the Geopolitical Histories of War and Peace (Ashgate, 2004) รวมทั้งจากประสบการณ์ของผมในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยกัลกัตตา (ค.ศ. ๒๐๐๓-ปัจจุบัน), และผู้ก่อตั้งและอำนวยการโครงการสันติภาพศึกษาแห่งเวทีสิทธิมนุษยชนเอเชียใต้ (ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๓)

----------------------------------------------------

หมายเหตุผู้แปล

Charles Tilly (ค.ศ. ๑๙๒๙ - ปัจจุบัน) เป็นนักสังคมวิทยา/ประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เน้นศึกษาค้นคว้าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่และความสัมพันธ์ของมันกับปฏิบัติการรวมหมู่ของมหาชนโดยเฉพาะในยุโรปตะวันตกนับแต่ ค.ศ. ๑๕๐๐ เป็นต้นมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ค

Antonio Gramsci (ค.ศ. ๑๘๙๑ - ๑๙๓๗) นักปรัชญาและนักเคลื่อนไหวปฏิวัติชาวอิตาลี ผู้ริเริ่มแนวคิดทฤษฎีการเมืองวัฒนธรรมแบบมาร์กซิสต์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ถูกรัฐบาลฟัสซิสต์ของมุสโสลินีจับกุมคุมขังและสิ้นชีวิตหลังออกจากคุกไม่นาน

Michel Foucault (ค.ศ. ๑๙๒๖ - ๑๙๘๔) นักปรัชญาและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลทั่วโลก เขาบรรยายตัวเองว่าเป็นผู้ชำนาญประวัติศาสตร์แห่งระบบความคิดต่าง ๆ โดยเฉพาะบรรดามโนทัศน์และรหัสซึ่งสังคมใช้มานิยามความเป็นปกติของตัวเองและจำแนกกีดกันความเป็นอื่น

Carl von Clausewitz (ค.ศ. ๑๗๘๐ - ๑๘๓๑) บิดาแห่งยุทธศาสตร์ศึกษาสมัยใหม่ชาวปรัสเซีย เจ้าของคติพจน์ที่ว่า "สงครามคือการสืบเนื่องของการเมืองที่ดำเนินไปโดยวิธีอื่น" นิพนธ์ของเขาชื่อ ว่าด้วยสงคราม (On War) ถูกถือประดุจพระคัมภีร์ไบเบิ้ลทางยุทธศาสตร์และกลายเป็นตำรามาตรฐานในการศึกษาอบรมด้านการทหาร แนวคิดยุทธศาสตร์ของเคลาสวิตซ์ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อเหล่าแม่ทัพนายพลจวบจนสงครามโลกครั้งที่สอง

Jacques Derrida (ค.ศ. ๑๙๓๐ - ๒๐๐๔) นักปรัชญาฝรั่งเศสเจ้าสำนักทฤษฎี "รื้อสร้าง" (deconstruction) ที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลทั่วโลก เขาริเริ่มการ "รื้อสร้าง" อภิปรัชญาตะวันตก, ย้อนทบทวนสถานะของคำพูดกับข้อเขียนเพื่อพยายามนิยามความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับปรัชญาเสียใหม่

แปลและเรียบเรียงโดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net