Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 มี.ค.48 "กรณีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นี้เป็นกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่งที่พิสูจน์ว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วมันกระทบต่อค่าเล่าเรียน ไม่ได้เป็นดังเช่นคำยืนยันของรัฐบาล ซึ่งทางอนุกรรมาธิการจะนำไปรวบรวมเพิ่มเติมไว้ในรายงานการศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล" นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคมกล่าว

โดยในวันนี้ผู้บริหารของ (มจธ.) เข้าชี้แจงกับอนุกรรมาธิการหลักประกันสังคม ในกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กรณีที่นักศึกษาโครงการพิเศษคณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าร้องเรียนต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการลดวงเงินกู้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และการขึ้นค่าเทอมของมจธ. หลังจากแปรสภาพมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ

รศ.ดร.เอก ไชยสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.กล่าวว่า ประเด็นปัญหาหลักอยู่ที่การปรับลดวงเงินกู้ยืมของกยศ. ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกสถาบันอยู่แล้วในขณะนี้ ส่วนกรณีที่มจธ.ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีแนวคิดว่าว่าผู้เรียนต้องลงทุนทางการศึกษาเอง จึงให้การสนับสนุนงบประมาณน้อยลง ดังนั้นผู้ที่เดือดร้อนเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาโครงการพิเศษเท่านั้น และทาง มจธ.ก็ได้ตั้งกองทุนของมหาวิทยาลัยขึ้นมาช่วยเหลือ

นอกจากนี้การพิจารณาสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลส่วนหนึ่งก็ดูจากต้นทุนในการผลิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้มองว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบ ซึ่งต้นทุนการผลิตบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมจธ.นั้นอยู่ที่ประมาณ 77,000 บาท ซึ่งขณะนี้มจธ.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอยู่ร้อยละ 50 ที่เหลือต้องหารายได้เอง

"ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ กยศ.ดูเหมือนจะให้เงินกู้ยืมลงทะเบียนเยอะขึ้นจาก 46,000 บาท ซึ่งนักศึกษาไม่พออยู่ขณะนี้ เป็น 70,000 บาท แต่ยอดเงินรวมน่าจะน้อยลงอีก ทำให้เวลาเกลี่ยให้นักศึกษาแล้วจะมีปัญหา" นายนิธิ บุรณอินทร์ รองอธิการบดี มจธ. กล่าว

ส่วนการแปรสภาพของกยศ.เป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (ไอซีแอล) หรือ กรอ. ซึ่งให้กู้เฉพาะค่าเล่าเรียน ไม่รวมถึงค่าครองชีพ จะยังคลอบคลุมนักศึกษาโครงการพิเศษหรือไม่นั้น

รศ.ดร.เอก กล่าวว่า โครงการนี้มีแนวโน้มจะยกเลิกแล้วเนื่องจากมีนักศึกษามาสมัครน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อปรับมาเป็นหลักสูตร 2 ภาษาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน อีกทั้งจุดเริ่มต้นเกิดจากการร้องขอของสภาอุตสาหกรรมที่ต้องการให้ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมมาเรียนได้ แต่เกิดปัญหาที่ลูกจ้างไม่มีเวลาเรียน จึงเปลี่ยนมารองรับผู้ที่เรียนจบปวช.หรือปวส. แต่ขณะนี้สถาบันการศึกษาอาชีวะเริ่มขยายถึงระดับปริญญาตรีแล้ว

"โครงการนี้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่โครงการที่ทำเพื่อเอากำไรอย่างที่หลายคนเข้าใจ ต่อไปเราอาจจะไม่ทำต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทิศทางของมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ไม่ใช่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษานำหน้า" คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าว

นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวสรุปการชี้แจงว่า กรณีนี้มีปัญหาอยู่ 3 ประการ คือ ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นหลังมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หลักสูตรโครงการพิเศษซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนอาชีวะกำลังจะถูกปิดเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสุดท้ายคือกองทุนกู้ยืมลดวงเงินกู้ยืมลง ซึ่งประเด็นหลังนี้ต้องติดตามการยกระดับกยศ.เป็นกรอ. ในระยะยาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net