Skip to main content
sharethis

เรามุ่งหน้าสู่ป่าใหญ่ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายตลอดทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เส้นทางภูเขาคดเคี้ยวสูงชัน รถค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆจนดอยสูงอยู่เพียงระดับสายตา ส่วนตีนดอยอยู่ต่ำจนมองไม่เห็น

แสงสุดท้ายของวันอำลาไป เราไปสุดทางที่ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อพักแรมคืน เนื่องจากปลายทางอยู่ลึกเข้าไปอีกราว 40 กิโลเมตร ซึ่งต้องเปลี่ยนการเดินทางไปกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น กว่า 10 ชั่วโมงกับการเดินทางจากเมืองใหญ่ เราปิดท้ายค่ำคืนด้วยอาหารเย็นเรียบง่าย

ย่ำรุ่งรถกระบะกลางเก่ากลางใหม่วิ่งผ่านถนนลาดยางเป็นหลุมบ่อและถนนลูกรังฝุ่นปลิวตลบ สองข้างทางมีชุมชนชาวปกากญอแฝงตัวอยู่ใต้เงาป่า นานๆทีจะพบรถยนต์วิ่งสวนมา ยานพาหนะส่วนใหญ่ในการออกสู่ชุมชนภายนอกที่พบเห็นคือรถไถนาเดินตามที่นำมาประกอบส่วนท้ายเป็นที่นั่ง หรืออาศัยเดินลัดเลาะตามแนวถนนถ้าโชคดีก็ได้อาศัยรถราที่ผ่านเลยมา

เราวิ่งผ่านศูนย์พักพิงชั่วคราวนุโพที่มีชาวพม่าลี้ภัยอยู่กว่าหมื่นชีวิต และข้ามน้ำแม่จันทะ เป็นด่านสุดท้ายก่อนเข้าสู่ "บ้านกุยต๊ะ" หมู่บ้านกลางป่าใหญ่ ยามแล้งนี้แม่น้ำไม่เป็นอุปสรรคมากนักแต่ในยามน้ำหลากการสัญจรต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นหลัก

มีนาคมปีที่แล้ว เรื่องราวของปากญอบ้านกุยต๊ะ 16 ครอบครัว ร่วมร้อยคน ที่มีผู้นำหนุ่มชื่อจอวาโพ อดข้าวอยู่หลายวันประท้วงต่อชะตากรรม ที่ไม่สามารถทำไร่ทำนาบนผืนดินได้ดังเช่นอดีตเพราะมีการเข้ามาจับกุมชาวบ้าน รวมทั้งสถานภาพเรื่องสัญชาติที่ยังค้างคาล้วนคือความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน

ครั้งนั้นพวกเขาเริ่มหยุดทำนาทำไร่ เพราะ "กรึมตี" หรือพระเจ้าของพวกเขาบอกให้หยุดทำนา ให้นำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวไว้ได้มารวมกันที่ยุ้งฉาง เลิกกินข้าวกินปลา ไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้ปล่อยไป เล่าลือออกไปสู่ภายนอก

----------------------
"กุยต๊ะ" แปลว่า วังที่หวงห้าม เล่ากันว่าเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วมีพระภิกษุก่อตั้งวัดใกล้ลำห้วยแม่จันทะ ซึ่งมีปลาชุกชุมมาก จึงได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน ชุมชนกะเหรี่ยงแถบนี้นับถือศาสนาพุทธและลัทธิความเชื่อในอดีต เช่น ฤาษี

พวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษสืบสาแหรกมาจากฤาษีหมู่บ้านเลตองคุ ที่อยู่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตร โดยมีตำนานเล่าว่าหลายทศวรรษมาแล้วฤาษีเลตองคุ 100 คน ไล่ฆ่าทหารพม่าราบคาบถึง 1,500 คน ซึ่งหนุ่มปกากญอที่กุยต๊ะนิยมไว้จุกกลางศีรษะตามฤาษี

หมู่บ้านกุยต๊ะตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ลึกเข้าไปจากอำเภออุ้มผาง ราว 80 กิโลเมตร ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 76 หลังคาเรือน เป็นชาวปกากญอที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิมและบางส่วนอพยพหนีภัยสงครามจากพม่ามาอยู่อาศัยนับ 10 ปีแล้ว สถานภาพปัจจุบันของชาวบ้านมีบัตรประชาชน 120 คน มีบัตรชาวเขา 51 คน และไม่มีบัตร 46 คน

ชายหนุ่มวัย 38 ปี ไว้จุกกลางศีรษะคาดด้วยผ้าทอสีชมพู นุ่งผ้าทอสีพื้น เช่น สีเขียว คือเอกลักษณ์ของจอวาโพ ชายหนุ่มที่นำพาพี่น้องร่วมร้อยอดข้าวในปีที่ผ่านมา วันนี้เขายังคงยึดมั่นตามวิถีทางที่ศรัทธาเคียงคู่ "โกล่ง" หรือเจดีย์ ที่พวกเขาร่วมกันสร้างสูงตระหง่านอยู่บนเนินเหนือหมู่บ้าน

"โมโหตัวเอง เป็นคนป่าคนดง ยากจน คนรวยเขารวยมหาศาล ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ทำอะไรก็ถูกจับ ตายดีกว่า" จอพาโว เล่าย้อนถึงสาเหตุการอดข้าวในปีที่ผ่านมา

เมื่อความอดทนและหนทางทำมาหากินเริ่มตีบตัน เขาจึงได้หารือกับชาวบ้านในกลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางของเขา เมื่อไม่ได้ทำไร่ทำนาจึงมาร่วมกันสร้างเจดีย์เหนือหมู่บ้านเป็นแหล่งรวมใจและทำบุญ พร้อมกับสร้างศาลาหลังน้อยบริเวณหน้าบ้านของเขา โดยได้รวบรวมข้าวของอันเป็นภูมิปัญญาแห่งเผ่าพันธุ์มาเก็บรักษาไว้

เขาทำบุญกันไปเรื่อยๆ เมื่อข้าวหมดลงจึงต้องอด เพราะไม่มีข้าวและแรงใจในการดิ้นรนหมดลง รวมทั้งนำบัตรประชาชนที่มีอยู่มารวมกันไว้ที่ศาลาเพื่อส่งคืนให้อำเภอ

"ตอนนี้เราก็ทำกิจกรรมของเราไปเรื่อยๆ ใครสนใจก็เข้ามาร่วม ผมอยากให้สามัคคีกัน ชาวบ้านอยากทำอะไรก็เสนอมา แต่บางคนเขาก็หาว่าเราบ้า" ผู้นำหนุ่มเล่าปนหัวเราะแต่ยังคงมุ่งมั่น

ปีนี้จอวาโพและชาวบ้านที่มาร่วมกัน ลงแรงทำนาผืนเดียวกันซึ่งเก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ 900 ถัง แต่ต้องมีข้าวราว1,500 ถัง จึงจะพอกับการยังชีพของเกือบร้อยชีวิต ด้วยแนวคิดที่ว่าทำงานตามกำลังที่มีไม่ละโมบขยายไร่นาจนเกินกำลัง ทำให้จอวาโพเชื่อมั่นว่าในปีถัดไปผลผลิตของพวกเขาที่ลงแรงร่วมกันจะเพียงพอกินไปทั้งปี

ท่ามกลางความแตกร้าวในชุมชนที่ดำเนินอยู่ จอวาโพและชาวบ้านกำลังร่วมกันสร้างศาลาอีกหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน ถ้าหาเงินมามุงหลังคาได้แล้วที่นั่นจะเป็นที่ตั้งของกลุ่มทอผ้าในอนาคต
----------------------

แดดยามสาย เพิ่มความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ห่างออกไปราว 300 เมตร โครงบ้านไม้ไผ่ 2 หลังที่เพิ่งก่อรูป และอีกหลังมีเพียงร่องรอยของหลุมเสาทิ้งร้างไว้

บ่ายวันที่ 18 มีนาคม ก่อนเรามาถึงเพียงสองวันเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 เขตตาก-สุโขทัยออกตรวจพื้นที่ และได้เข้าจับกุมชาวบ้านกุยต๊ะเจ้าของบ้านทั้งสามหลังที่กำลังก่อสร้าง ในข้อหาบุกรุกเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำผิดพระราชบัญญัติเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า

ผู้ถูกจับกุมคือนายเปี๊ยก คงฉลวยคีรี อายุ 50 ปี นายจอยื่อที อายุ 35 ปี และนางหน่อมึ มาลีสายชล อายุ 30 ปี พร้อมทั้งลูกชายของนางอายุ 3 ขวบ

นายบุญส่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่าทั้งหมดเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่หมู่บ้านมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ บ้านหลังเก่าใกล้จะพัง เลยแยกครอบครัวออกมาสร้างบ้านหลังใหม่

ทั้งหมดถูกส่งตัวมาฝากขังที่เรือนจำแม่สอด อำเภอแม่สอด ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา และได้ประกันตัวออกไปหลังจากนั้น 5 วัน โดยมีการผลัดฟ้องไปวันที่ 30 มีนาคมนี้ ความยุ่งยากจากนี้คือการต่อสู้คดีในชั้นศาลซึ่งทั้งสามมีปัญหาในการสื่อสารด้วยภาษาไทย รวมการเดินทางไกลกว่า 240 กิโลเมตร เพื่อมาขึ้นศาลที่แม่สอด

คำถามที่ยังค้างคาในตอนนี้ สำหรับชาวบ้านกุยต๊ะคือก่อนสร้างบ้านได้มีการขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านแล้ว และได้รับการยืนยันให้สร้างได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ไร่ที่ทำกินอยู่เดิมไม่ได้บุกรุกป่าใหม่ ซึ่งวันที่ถูกจับผู้ใหญ่บ้านไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน

"มีแต่คนยากคนจนทั้งนั้น จับไปทำไม อยู่กันมาตั้งนาน เจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้านมาเจอก็จับ" เสียงถามไถ่จากหมู่บ้านดังก้องศาลาหลังน้อย

จากนี้สิ่งที่ต้องติดตามคือสัญญาจากการพูดคุยร่วมกันระหว่างอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น พ่อหลวงจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ปกากญอ หน่วยงานราชการและชาวบ้านหลายสิบชีวิต ว่ารัฐจะยอมรับและรับรองว่าชาวบ้านกุยต๊ะอยู่อาศัยมาดั้งเดิม และสามารถทำกินในพื้นที่เดิมโดยจะไม่มีการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

รวมทั้งให้ชาวบ้านกำหนดเขตพื้นที่หมู่บ้าน อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าจากนั้นจึงหารือร่วมกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ก่อนนำเสนอสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 เขตตาก-สุโขทัย เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน

หากมีการเข้ามาตรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จะไม่มีการจับกุมชาวบ้านในทันที โดยจะต้องมีการพูดคุยกับผู้นำชุมชนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นครั้งนี้อีก

รวมถึงการเร่งดำเนินการเรื่องสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้ส่งผ่านบอกมาว่าตอนนี้ดำเนินการในหมู่บ้านที่อยู่ไกลก่อน โดยในปีนี้ตำบลแม่จัน จะได้รับสัญชาติเพิ่ม 2,600-3,000 คน

ผ้าทอสีสดใสแขวนระโยงอยู่ภายในศาลา บัตรประชาชนที่จอวาโพได้รวบรวมมาไว้เพื่อส่งคืนให้อำเภอตั้งแต่ต้นปีที่แล้วยังคงอยู่ในตู้ ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจและยอมรับในวิถีของชุมชน และเข้ามาคลี่คลายปัญหาอย่างจริงจัง หลักฐานใดๆที่พวกเขามีอยู่ก็คงไม่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของพวกเขาเช่นกัน

จันลอง ฤดีกาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net