Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 19 พ.ค.48 คณะอนุกรรมาธิการความมั่นคงของฐานทรัพยากร วุฒิสภา จัดประชุมหารือกรณีความขัดแย้งเรื่องการจับปลาบึกที่อ.เชียงของ จ.เชียงใหม่ โดยชาวบ้านเรียกร้องให้กรมประมงงดรีดน้ำเชื้อและไข่จากปลาบึกที่ชาวบ้านจับได้ เพราะจะทำให้ปลาบึกบอบช้ำจนเสียชีวิต โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องการล่าปลาบึกนั้น มีการถกเถียงกันมาก กรรมาธิการจึงเห็นควรให้มีการจัดเวทีเสวนาหาแนวทางอนุรักษ์ปลาบึก รักษ์แม่น้ำแม่โขง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชิญผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความเห็น เพราะจะทำให้มีแนวทางการอนุรักษ์ปลาบึกที่ชัดเจนขึ้นทั้งทางกฎหมาย และในเชิงนโยบาย

ขณะที่ดร.จรัล กรรณสูต รองอธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงถึงกรณีการเก็บน้ำเชื้อและไข่จากปลาบึกที่ชาวบ้านล่าได้ว่า การล่าปลาบึกถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งตามกฎหมายเมื่อทำการล่าแล้วกรมประมงจะทำการเก็บน้ำเชื้อของปลาบึก เนื่องจากยังมีปัญหาต้องพึ่งพาน้ำเชื้อปลาเพศผู้จากธรรมชาติอยู่ โดยกรมประมงมีนโยบายศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาบึกมาตั้งแต่ปี 2510 และเมื่อปี 2526 สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาเริ่มเพาะพันธ์ปลาบึกด้วยวิธีผสมเทียมจนมาถึงปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ถึง 37 สายพันธุ์

ขณะที่ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทะเล องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า หากจะแก้ปัญหาการล่าปลาบึก ทางกรมประมงและรัฐบาลของไทยควรขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมกันศึกษาวงจรชีวิตของประชากรของปลาบึก และร่วมอนุรักษ์ปลาบึกในลุ่มแม่น้ำโขง

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น ควรจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ปลาบึกให้เป็นจุดแสดงนิทรรศการขึ้นมาทดแทน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับปลาบึก เครื่องมือการหาปลา แสดงวิถีชีวิตของพรานปลา ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการอนุรักษ์ปลาบึก

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net