Skip to main content
sharethis

"น้ำขึ้นให้รีบตัก" ได้ยินสุภาษิตนี้แล้วนึกถึงอะไร....

สำหรับชาวสมุทรสงครามที่ทำประมงชายฝั่งอย่าง "บุญยืน ศิริธรรม" เธอนึกถึง "น้ำขึ้นให้รีบตัก" จริงๆ

"สมัยที่น้ำประปายังไม่มี เวลาน้ำจืดหนุน มันจะมีช่วงของมันแป๊บเดียว ต้องรีบตักน้ำเก็บไว้ใช้ ถึงขนาดต้องมีชาวบ้านคอยนั่งเฝ้า ชิมน้ำดู พอจืดแล้วก็จะตะโกนต่อกันว่า "จืดแล้ว" อย่างนี้เลย มันถึงเรียกน้ำขึ้นให้รีบตักใส่ตุ่ม ...." บุญยืน สาวใหญ่แห่งเมืองสมุทรสงครามที่ใครหลายคนรู้จักเธอในฐานะแกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการก่อสร้างเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ เล่าให้แขกผู้มาเยือนฟัง

อภิมหาโครงการก่อสร้างนี้มีมูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ก่อสร้างเส้นทางเป็นระยะทางยาว 128 กม. โดยเป็นส่วนที่ก่อสร้างในทะเล 47 กม. ถกเถียงกันมาตั้งแต่ปลายปี 2546 มีนักวิชาการจาก 7 สถานบันช่วยประสานจัดการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่พอใจผู้อนุมัติโครงการ แต่ชาวบ้านด่ากันขรม ส่วนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นยังไม่ผ่าน

กระนั้นก็ตาม โครงการนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณไปนานนม และปัจจุบันการออกแบบเสร็จสิ้นแล้วโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

วันนี้เราจึงมาสำรวจชีวิตชาวประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่วิตกกังวลกับผลกระทบจากโครงการเป็นอันดับต้นๆ รวมทั้งมาตามหา "ปลาโลมา" ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ..... ไม่แน่ว่าปลาโลมาที่นี่อาจจะช่วยชาวบ้านยับยั้งโครงการขนาดใหญ่ได้เหมือนปลาวาฬที่บ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์

-----------------------------

2

บ้านของบุญยืนอยู่ริมคลองตรงเกือบจะถึงปากคลองที่ไหลออกทะเล บริเวณปากคลองจะมีตะกอนของดินปนทราย (ชาวบ้านเรียกทรายขี้เป็ด) ที่ทับถมกันเป็นแหลมยื่นออกไป มีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร อันเป็นที่ฝังตัวของบรรดาหอยหลอดจำนวนมาก จนได้รับขนานนามว่า "ดอนหอยหลอด"

ทางเข้าบ้านเธอยังคงเป็นทางลูกรัง สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าแสม ใต้ถุนบ้านเป็นแหล่งกบดานของเหล่า "ปลาตีน" ตัวเขื่อง

เราไปถึงสายกว่าที่นัดกันไว้ราวหนึ่งชั่วโมง แดดสายยาม 9 โมงเช้าค่อนข้างแรง จนเธอไม่แน่ใจนักว่าจะเจอ "ปลาโลมา" เจ้าของบ้านผู้น่ารักหรือไม่ นั่นยังไม่ร้ายเท่าความเสี่ยงต่ออาการ "ขาดร่อง"

กระนั้นก็ตาม เราก็ตัดสินใจปีนบันไดบ้านลงไปนั่งในเรือลำน้อย ซึ่งเธอเป็นนายทายเรือเรียบร้อยแล้ว และเพิ่งตระหนักในภายหลังว่า "ขาดร่อง" คืออะไร

ขาดร่องคือภาวะที่น้ำลดจนเรือไม่สามารถวิ่งได้ เพราะดินดอนโผล่มาตัดขาดร่องน้ำ และหากเกิดก่อนที่เราจะนำเรือกลับเข้าคลอง ก็อาจเกิดอาการ "ตายแห้ง" ตามมา เพราะต้องรอถึง 4 โมงเย็นน้ำจึงจะขึ้นอีกครั้ง สรุปแล้ว เราจึงไม่อาจออกจากคลองสู่ทะเลได้ไกลนัก

เธอขับเรือเลาะไปตามล่องน้ำผ่านบ้านเรือนผู้คน และสันดอนกว้างใหญ่ "ดอนหอยหลอด" เรื่อย ไปจนอาจเรียกได้เข้าสู่เขตทะเล น้ำทะเลที่นี่สีขุ่นเพราะตะกอนมาก ไม่ใช่เพราะน้ำเน่าเสีย เนื่อง
จากสมุทรสงครามมีโรงงานตั้งอยู่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุด แต่เต็มไปด้วยคลองมากมายถึงกว่า 1,000 สาย

ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง รวมทั้งเก็บหอยหลอดขาย เราจอดเรือไว้แล้วลุยโคลนครึ่งแข้งเพื่อไปทักทายคนที่กำลัง "หยอดหอย" อยู่บนผืนทรายกว้างใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตสารพัด เท่าที่สังเกตเห็นมี ปูม้า แมงดาทะเล หอยปากเป็ด หอยแครง และหอยหลอด นำรายได้มาให้วันละ 300-500 บาท

คนที่นี่หยอดหอยกันได้ทั้งปี โดยจะมีช่วงที่น้ำลดอยู่ 15 วัน ส่วนที่เหลือน้ำท่วมต้องนอนตีพุงอยู่บ้าน หรือบางคนก็ทำอาชีพอื่น โดยเฉพาะการเลี้ยงปูม้า วันที่เราไปเยี่ยมนี้ราคาหอยหลอดจากกิโลกรัมละกว่า 100 บาท ลดลงมาเหลือ 60-70 บาทเท่านั้น แต่เมื่อไปอยู่บนจานเล็กๆ ในภัตตาคารราคาจะทะยานกว่า 120 บาท

การล่าหอยหลอดเริ่มขึ้นเมื่อน้ำลดราว 9 โมงเช้า จนกระทั่งสี่โมงเย็นที่น้ำจะท่วมดอนอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านทั้งชายหญิงทำการ "หยอดหอย" โดยใช้ไม้แหลมเล็กจิ้มปูนขาวจากกระป๋อง แล้วแหย่ลงไปในรูหอยหลอด รออึดใจเดียวหอยตัวยาวเหมือนหลอดก็จะดีดตัวขึ้นมาให้ดึงใส่กระป๋อง

นอกจากนี้พื้นที่ดอนหอยหลอดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่หายากและพื้นที่ชุ่มน้ำโลก มีการลงนามในอนุสัญญาแรมซ่า ระหว่างประเทศไทยและสหประชาชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แต่ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่ห้ามทำสิ่งที่อาจทำให้พื้นที่เสียหาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กระทั่ง ฟิลลิป ดี ราวด์ นักปักษีวิทยาชื่อดัง ซึ่งมาดูนกที่นี่เป็นประจำก็ได้ร่วมต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างด้วยการยกประเด็นดังกล่าว

---------------------------

3

"เข้าใจรึยังว่าทำไมเป็นคนพูดเสียงดัง เอะอะมะเทิ่งอย่างนี้" นายท้ายเรือและไกด์คนเก่งพูดไปหัวเราะไปแข่งกับเสียงเรือที่ดังสนั่น

นก ปลา แมงกะพรุน นานาชนิด ออกมาอวดโฉมต้อนรับแขกราวกับเตี๊ยมกันไว้กับไกด์สาวใหญ่
นกบางตัวบินอยู่เหนือหัวพวกเราแล้วทิ้งตัว 90 องศาลงทะเลราวกับฆ่าตัวตายเพื่อหาปลา

เราเดินเรือไปได้ไม่ไกลนักเพราะกลัวกลับไม่ได้ เมื่อไม่เห็นปลาโลมา ก็เตรียมหันหัวเรือกลับ แต่แล้วเสียงเอะอะของบรรดาเจ้าตัวเล็ก ลูกหลานบุญยืนก็ดังขึ้นพร้อมกับชี้มือไปทางทิศตะวันออก....เห็นหางดำมะเมื่อมไวๆ

หลังจากนั้นทุกคนพากันจ้องท้องทะเล พยายามกวาดตา 180 องศา แล้วเสียงเฮก็ดังขึ้นเป็นระลอก บางครั้งซ้าย บางครั้งขวา ครั้งสุดท้ายได้เห็นลำตัวของเจ้าของบ้านที่กระโดดเล่นนั้นคู่กัน 2 ตัวซ้อน แม้ไม่ชัดเท่าในสวนสนุกแต่อาการลุ้นนั้นกินขาด

"ขอบคุณปลาโลมา ถ้าไม่เห็นเดี๋ยวจะหาว่าบุญยืนโม้ นี่ยังน้อยนะเพราะมันสายมากแล้ว ถ้ามีเวลาอยู่ต่ออาจจะเห็นอีกหลายตัว เพราะมันอยู่รวมกันเป็นฝูง บางทีเขาเห็นกันเป็น 20-30 ตัว" บุญยืนเล่าพร้อมถอนหายใจโล่งอก

ขากลับเรามีโอกาสเจอ "เดิ่ง" เดิ่งไม่ใช่คนแถวนั้น แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นญาติกับคลื่น เราเจอเดิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรือเราบังคับยากเล็กน้อย ไกด์สาวลูกทะเลอธิบายให้ฟังว่า เดิ่งกับคลื่นแตกต่างกันมาก เพราะเดิ่งเป็นระลอกน้ำที่ไม่มีการแตกตัวเป็นฟองเหมือนคลื่น แต่จะกลืนหายไปกับพื้นน้ำในระยะทาง 10-50 เมตร คลื่นเกิดจากกระแสลมที่กำลังพัดในขณะนั้น เดิ่ง เกิดจากปฏิกิริยาใต้น้ำโดยไม่ต้องมีกระแสลม หรือหากมีกระแสลม ก็จะเกิดในพื้นที่ห่างออกไปมาก

ทิศทางของคลื่นและเดิ่งบางครั้ง ก็ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคลื่นอาจจะซัดไปอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันเดิ่งอาจจะซัดไปอีกทางหนึ่งได้เสมอ เช่นคลื่นจากลมสลาตันจะพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเดิ่งอาจจะพัดมาจากทิศตะวันออก ลักษณะอย่างนี้จะทำให้ชาวประมงรู้ว่าลมตะวันออกกำลังจะมา เพราะส่งเดิ่งตะวันออกมาเตือนล่วงหน้าแล้ว ชาวประมงจะมีเวลาเตรียมตัวพอสมควร ...... หนีได้ต้องหนี

นอกจากนี้ยังมีคลื่นสามเส้า ที่เคลื่อนที่มาจากทุกทิศทางพร้อมกัน และคลื่นจากมรสุม ซึ่งแปร
ปรวนจนยากจะเดาใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่นอกเหนือคำถามเรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชีววิทยาของชายฝั่งทะเลแล้ว ชาวประมงจะมีคำถามต่อตอม่อของสะพานผ่าอ่าวไทยยาว 47 กม.ว่า จะปลอดภัยต่อชีวิตของพวกเขาเพียงไร โดยเฉพาะเมื่อเกิดพายุ

"ฝนที่ตกในทะเลก็ไม่เหมือนฝนที่ตกบนแผ่นดิน ฝนในทะเลต้องบวกละอองน้ำจากคลื่นลมด้วย บางครั้งยืนอยู่ใกล้ๆ กันแค่มือเอื้อมก็ยังมองไม่เห็นกันแล้ว" บุญยืนสาธยายให้ฟังเฉพาะสภาพของพายุฝนฟ้าคะนอง ยังไม่นับร่วมคลื่น และเดิ่งใต้ท้องสมุทร

กรณีของเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างและการสัญจรบนสะพานผ่าอ่าวก็น่าสนใจว่าจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหรือไม่ บุญยืนเล่าว่า ในอดีตยามที่ชาวประมงต้องดำน้ำลงไปใต้ทะเล มีวิธีป้องกันไม่ให้ปลาฉลามหรือปลาใหญ่ชนิดต่าง ๆ เข้ามาทำร้าย โดยการนำเหล็กสองอันลงไปด้วย เมื่อน้ำมากระทบ เสียงเหล็กที่กระทบกันจะกังวารไปไกลและช่วยทำให้ชาวประมงปลอดภัยจากสัตว์ร้ายใต้ทะเล นี่คืออนุภาพของเหล็กเพียงแต่สองอัน

อย่างไรก็ตาม เธอให้ข้อมูลด้วยว่า แม้ข้อกังวลเหล่านี้จะถูกผู้มีอำนาจจำกัดความว่าเป็น "ความกังวลเกินกว่าเหตุ" แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนจากเวทีที่นักวิชาการลงมาให้ข้อมูลและสำรวจความเห็นของประชาชน มิหนำซ้ำยังมีการกีดกันไม่ให้ข้อมูลที่ชาวบ้านพยายามรวบรวมออกสู่ประชาชน เหตุเกิดเมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลกปีที่แล้ว (2547) โดยมีคำสั่งระงับชนิด " ฟ้าผ่า" ไม่ให้มีการแสดงผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ ของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการนี้ต่อสื่อมวลชน

..... ถึงวันนี้โครงการยังคงมีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจและการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งพยายามปกป้อง "หม้อข้าว" ของตัวเอง .....

บางทีเราอาจเข้าใจเรื่องนี้ โดยคำถามง่ายๆ ที่ว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก" ของชาวประมงชายฝั่งหมายความตามนั้น "น้ำขึ้นให้รีบตัก" ของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเล่าหมายถึงอะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net