Skip to main content
sharethis

"เห็นได้ชัดเจนว่า  วิธีคิดของรัฐนั้นพยายามตีค่าของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นเงิน  โดยเอาหลักเศรษฐศาสตร์มากำหนด แต่ไม่ได้มองถึงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ปัญหาก็คือ  ในเมื่อชาวบ้านไม่ยอมและเป็นสิทธิของชุมชน พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่พออยู่พอกิน มีเศรษฐกิจพอเพียงเช่นนี้ แล้วจะเอาชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน มีพื้นที่ที่รองรับเหมือนกับชุมชนดั้งเดิมของเขาที่อยู่อย่างสมดุลและยั่งยืนเช่นนี้ได้หรือไม่"นายวสันต์  พานิช  ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการน้ำและเหมืองแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)  กล่าวหลังจากดูพื้นที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมจมมิด  หากมีการสร้างเขื่อนแม่ขาน


 


เมื่อวันที่ 24  ก.ค.ที่ผ่านมา  นายวสันต์ พร้อมด้วย นางรตยา  จันทรเฑียร  นายศศิน  เฉลิมลาภ  นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ  อนุกรรมการฯ พร้อมคณะลงพื้นที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้  ต.น้ำแพร่  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่  กล่าวหลังจากดูพื้นที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  หลังจากที่ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียน  เนื่องจากหมู่บ้านทั้งหมดกำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขาน  ของกรมชลประทาน


 


นายพันธ์  จันทร์แก้ว  ผู้ใหญ่บ้านแม่ขนิลใต้  ต.น้ำแพร่ อ.หางดง  จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า  หากกรมชลประทานเข้ามาสร้างเขื่อน  หมู่บ้านทั้งหมดจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ  ซึ่งรวมไปถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี โบราณสถานที่ชุมชนสืบทอดรักษากันมานานกว่า 300 ปี ก็จะไม่หลงเหลืออีกต่อไป 


 


"การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่ผ่านมา  ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้เลย  ซึ่งเราได้ยืนยันมาตลอดว่า  ขอคัดค้านการสร้างเขื่อน  แต่ทางกรมชลประ


ทานก็ยังดึงดันจะเข้ามาดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งถือว่า ได้ละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดมติของชาวบ้าน ละเมิดมติขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแพร่  รวมทั้งยังได้ละเมิดข้อตกลงผลการประชุมระหว่างชาวบ้าน กับ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เคยเข้ามารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเมื่อปีที่แล้ว " นายพันธ์ กล่าว


 


นายวสันต์  กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะเรียกเอกสารจากกรมชลประทานว่า  มีความเป็นมาอย่างไร  ชาวบ้านมีส่วนร่วมหรือไม่  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วม  และได้รับข้อมูลข่าวสารตามรัฐธรรมนูญในมาตรา46, 56,59  ทำได้มากน้อยแค่ไหน 


 


"นอกจากนั้น  จะสอบถามไปยังทางสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขานนี้หรือไม่อย่างไร  เพราะถ้าหากเป็นโครงการที่กรมชลประทานทำร่วมกับ กปร.  แล้ว  ก็ต้องยิ่งระมัดระวังว่าจะต้องไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน  เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะกระเทือนถึงพระองค์ท่าน  และที่ผ่านมา  มีหลายๆ  โครงการที่มีการอ้าง กปร.  แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วกลับไม่ใช่  เพราะฉะนั้น ทางกปร.จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง" นายวสันต์  กล่าว


 


ทั้งนี้  นางรตยา กล่าวว่า  ขอเสนอให้ชาวบ้านและชุมชนแม่ขนิลใต้ ที่ได้รับผลกระทบ  ทำหนังสือไปยังอธิบดีกรมชลประทาน รวมทั้งหน่วยงานของ กปร.โดยตรง  ว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร  ซึ่งหลังจากที่ได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว  คงจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนแม่ขนิลใต้  ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง  มาประชุมร่วมกันในพื้นที่  เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกในเร็วๆ  นี้


 


โครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน  เป็นโครงการของกรมชลประทาน ซึ่งได้ทำการสำรวจพื้นที่ในการก่อสร้างไว้บริเวณเหนือบ้านห้วยโท้ง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยสามารถจุอ่างเก็บน้ำสูงสุด 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแม่ขาน  จะส่งผลกระทบเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบขานทั้งหมด จำนวน 1,599 ไร่ 


 


ซึ่งโครงการดังกล่าว  จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านแม่ขนิลใต้ หมู่ที่ 8 ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียง


ใหม่ จำนวน 56  ครัวเรือน ซึ่งอยู่เหนือพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อน  เนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดจะต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด  นอกจากนั้นพื้นที่ทำการเกษตรบริเวณแนวแกนเขื่อน  ซึ่งครอบคลุมเขตติดต่ออีก 2 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยโท้ง ม. 8  ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  และบ้านสันปูเลย ม.12  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จะต้องได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net