Skip to main content
sharethis

ประชาไท—11  ส.ค.  48    หลังการประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลก  ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ  ได้คลอด  "กฎบัตรกรุงเทพฯ" โดยกำหนด 5 ยุทธศาสตร์ให้ทั่วโลกขานรับ  เพื่อเป็นทิศทางสู่มาตรฐานสุขภาพอย่างรอบด้าน


 


เมื่อวันที่ 7-11 ส.ค. ที่ผ่านมา  ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลก  ครั้งที่ 6    อาคารสหประชาชาติ โดยมีนักสร้างเสริมสุขภาพกว่า 700 คน จาก 120 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนด  "กฎบัตรกรุงเทพฯเพื่อการส่งเสริมสุขภาพโลก"  (Bangkok  Charter  for  Health  Promotion  in  a  Globalized  World)  เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ทุกประเทศดำเนินตามมาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพทุกวิถีทาง  เพื่อลดการเจ็บป่วย  ประชาชนมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวขึ้น


 


ขณะเดียวกัน  ศ.นพ.สุชัย  เจริญรัตนกุล  รมว.กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  กฎบัตรดังกล่าว  จะเน้นยุทธศาสตร์ของการส่งเสริมสุขภาพในโลกไร้พรมแดน  ใน 5 ประการ  ได้แก่ ประการแรก การชี้แนะให้การส่งเสริมสุขภาพอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน  ประการต่อมาคือ  การให้กำหนดนโยบาย  แนวทางปฏิบัติและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน ในการจัดการปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ


 


สำหรับประการต่อมา คือ ให้สร้างศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพทั้ง 5 ด้าน  ได้แก่  การพัฒนานโยบาย  ภาวะผู้นำ  การดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ  องค์ความรู้ทางสุขภาพและการวิจัย  รวมทั้งความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ  ประการที่สี่ คือ สร้างพันธมิตรด้านสุขภาพทั้งภาครัฐ  เอกชนและองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์  ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน


 


ทั้งนี้  ประการสุดท้าย  คือ  การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย  และส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดี


 


ศ.ดร.สุชัย กล่าวว่า  กฎบัตรกรุงเทพฯ นี้จะทำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขัน  เพื่อให้ประชากรโลกทุกคนมีสุขภาพดี  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่อย่างทั่วถึง  ทั้งนี้จะมีการติดตามตรวจสอบในทุกประเทศจนถึงการประชุมส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 7 ที่ทวีปแอฟริกา ในปี 2552


 


"กฎบัตรนี้จะใช้ควบคู่กับกฎบัตรออตตาวาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งจะมีความทันสมัยและสอดคล้อยกับสถานการณ์มากกว่าและทดแทนในเรื่องที่กฎบัตรเดิมไม่มี ทั้งนี้  องค์การอนามัยโลก(WHO) เชื่อว่าหากดำเนินงานตามกฎบัตรนี้ก็จะสร้างความมั่งคั่งทางสุขภาพได้ในทุกชุมชนและทั่วโลกได้ในที่สุด"  รมว.กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจง


 


ขณะเดียวกัน  รัฐบาลไทยได้กำหนดการสร้างสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติแล้ว  ในการประชุมครั้งนี้ยังได้ส่งเสริมประเด็นด้านสุขภาพเป็นวาระแห่งโลกอีกด้วย  โดยหลังจากนี้ ประเทศไทยจะนำเสนอกฎบัตรดังกล่าวเข้าที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกอีกครั้ง  ในเดือน พ.ค. ปีหน้า  เพื่อให้ประเทศสมาชิก 192 ประเทศ รับหลักการแนวคิดและนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net