Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-13  ก.ย.48  ที่บ้านธารแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เครือข่ายนักวิชาการ 1,142 ชื่อ และเครือข่ายกลุ่มศิลปินและนักเขียน  ร่วมกันคัดค้านข้อเสนอ "ยงยุทธ" ไม่ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ "ป่าต้นน้ำพิเศษ" ชี้เป็นวาระซ่อนเร้นที่สวนกระแสของประชาชน   เป็นการพยายามหวงอำนาจและกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปจัดการป่า


 


"เหตุใดจึงมองป่าชุมชนแยกออกจากความเป็นป่าอนุรักษ์ ไม่ทราบว่า รัฐมนตรียงยุทธได้อ่าน พ.ร.บ.ป่าชุมชนได้ละเอียดมากน้อยแค่ไหน  เพราะถ้าพิจารณารายละเอียดจะรู้ว่า ป่าชุมชนที่ชาวบ้านเสนอที่จัดตั้งในเขตป่ารวมทั้งเขตป่าอนุรักษ์ คือ ป่าชุมชนมีลักษณะเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ คำถามใหญ่ก็คือว่า  ทำไมจึงมองป่าสองชนิดแยกออกจากกัน ท่านมองป่าชุมชนที่ชาวบ้านเสนอเป็นเพียงป่าที่ชาวบ้านจะเอาไปใช้ประโยชน์ อย่างนั้นเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นดิฉันคิดว่าท่านตีความ หรือท่านเข้าใน พ.ร.บ.ป่าชุมชนผิด" ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ กล่าว


 


ทั้งนี้ ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมฯ 2 สภา เพื่อพิจารณากฎหมายป่าชุมชนในขณะนี้นั้น  นายยงยุทธ  ติยะไพรัช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)  ได้เสนอแนวคิดไม่ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ "ป่าต้นน้ำพิเศษ" ซึ่งหมายถึงว่า หากมีการควบคุมพื้นที่ป่าต้นน้ำเช่นนั้นจริง    ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตป่าต้นน้ำกว่า10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศจะต้องถูกอพยพออก


 


ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายต่อว่า  ในส่วนของประเด็นเรื่องความลาดชันพื้นที่เกิน 30 องศาซึ่งทางทส.ยกมาอ้างนั้น มีงานศึกษาเชิงวิชาการออกมาจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่นกรณีงานวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ศึกษาและวิจารณ์ว่า  การกำหนดเกณฑ์ในการจัดตั้งพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  เนื่องจากในพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ มีพื้นที่ที่ผสมกันระหว่างพื้นที่ที่มีความลาดชันต่ำกว่า 30 องศาและพื้นที่ที่สูงกว่า


 


ดังนั้นถ้าไประบุว่า เขตนี้ทั้งหมดที่เกิน 30 องศาแล้วห้ามให้ทำป่าชุมชนถือว่ามันเป็นการเหมารวม     เพราะพื้นที่ทั่วไปของหมู่บ้านจะมีความลาดชันที่หลากหลายผสมกันอยู่ ซึ่งในพื้นที่ลาดชันเกิน 30 องศานั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกินอยู่แล้ว แต่จะใช้เป็นเขตพื้นที่ป่าชุมชนอยู่แล้ว   ดังนั้นจึงมองไม่เห็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงเอาเรื่องการกำหนดความลาดชันนี้มาเป็นตัวห้าม


 


"ประเด็นเรื่องการอุ้มดิน ที่ รมว.ยงยุทธ  บอกว่า ป่าดิบเขาลึก 1.5 เมตร ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร อุ้มน้ำได้ 940,000 ลูกบาศก์เมตร จากงานศึกษาของคณะสังคมศาสตร์ มช.ร่วมกับคณะวนศาสตร์ของ ม.เกษตร พบว่า  ในเขตพื้นที่สูงที่ได้ทำการวิจัย   ชี้ชัดว่าในพื้นที่ที่ชาวบ้านมีการจัดการป่าและพื้นที่เกษตรนั้น  ไม่มีปัญหาเรื่องการพังทลายของหน้าดิน ตัวเลขจากการเก็บคุณภาพน้ำในพื้นที่ในเขตชุมชนเหล่านั้นมาเข้าห้องทดลองและมีการตรวจตะกอน พบว่า  มีอัตราการชะล้างผิวดินน้อยกว่า 0.1 ตันต่อเฮกแตร์ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการชะล้างพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ป่าดิบเขาตามธรรมชาติเสียอีก" ดร.ปิ่นแก้ว  อธิบาย


 


ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ  กล่าวอีกว่า  รายงานกรมป่าไม้เองระบุว่าการชะล้างพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ป่าทั่วไปที่เจอ 3.1 ตันต่อเฮกแตร์ต่อปีนั้น  เป็นการเอาตัวเลขมาเป็นตัวตั้ง  แต่ไม่มองว่าศักยภาพชุมชนแบบไหน อยู่ในเขตป่าอย่างไรจึงช่วยลดการชะล้างพังทลายที่ปรากฏอยู่แล้วตามพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ลดลงได้  ซึ่งคิดว่าเป็นสมการแบบตรรกะแบบชั้นเดียวที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีข้อมูลพื้นฐานจากข้อเท็จจริงรองรับ


 


"เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพก็เช่นกัน ในพื้นที่จำนวนมากที่เราศึกษาเราพบว่า ป่าชุมชนหรือว่าการอยู่อาศัยของชุมชนในเขตป่า   จะเป็นตัวช่วยหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น"


 


ดร.ปิ่นแก้ว  กล่าวในประเด็นสุดท้าย ว่า ในเรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 A และ 1 B นั้นจริงๆ แล้วเป็นประเด็นที่โดนวิพากษ์วิจารณ์มามากแล้ว  ซึ่งไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงเอามาเป็นตัวตั้ง เพราะว่า การแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ทำกันในช่วงปี 2529 นั้น ทำจากห้องแอร์ เป็นการขีดแย่งพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำจากภาพถ่ายทางอากาศไม่มีการลงพื้นที่ ถ้าท่านจะเอาตัวนี้เป็นตัวกำหนดว่าป่าชุมชนไม่ควรไปจัดตั้งนั้น ประชาชนเป็นจำนวน 10,000 ชุมชนก็คงอยู่ไม่ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net