Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 กันยายน 2548 ที่โรงแรมเดอะ รีเจนซี่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะอนุกรรมการพิจารณาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กมส.) จัดสัมมานาเรื่อง"จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย(IMT - GT) สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ" มีนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธานการสัมมนา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วย ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย กลุ่มชาวบ้านจากเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง



จากนั้น มีการบรรยายภาพรวมแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Triangle : IMT - GT) ต่อด้วยการอภิปรายของนายอับดุลเลาะห์ อับรู นักวิชาการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายปิยะ กิจถาวร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่



นายอับดุลเลาะห์ อับรู อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อภิปรายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Triangle : IMT - GT) หลายอย่างอาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงได้ เช่น การตั้งธนาคารอิสลาม หากเกิดคดีความขัดแย้งในทางธุรกรรมทางการเงิน จะทำอย่างไร ในเมื่อไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อม ที่จะนำกฎหมายอิสลามมาตัดสิน ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย เตรียมเรื่องนี้ไว้พร้อมแล้ว ตอนนี้การทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอิสลามขนาดยังเล็ก แต่ถ้าขยายมากขึ้น เกิดคดีความทางธุรกรรมทางการเงิน ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้



"เราไม่ได้พูดถึงการจัดเก็บภาษีซ้อนของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือนอกจากมุสลิมต้องจ่ายภาษีตามปกติแล้ว ยังต้องจ่ายซากาต ซึ่งเป็นภาษีตามข้อบัญญัติทางศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นเรื่องหนักสำหรับชาวมุสลิม กลายเป็นว่าภาษี คือ ขูดรีดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเรียกค่าคุ้มครองที่ทุกคนยอมรับ และภาษีดังกล่าวก็จะถูกนำกลับมาพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง เพราะฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มุสลิมที่จ่ายซากาต สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย" นายอับดุลเลาะห์ กล่าว



นายอับดุลเลาะห์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยยังไม่ได้เตรียมตลาดทุนอิสลาม สำหรับผู้ประกอบการที่มาจากตะวันออกกลาง และโลกมุสลิม ไทยต้องการดึงนักลงทุนจากกลุ่มประเทสเหล่านี้เข้ามาลงทุนด้วย แต่ไม่ได้เตรียมการรองรับว่า จะเข้ามารูปแบบใด หากจะเข้ามาเก็งกำไรอย่างตลาดทุนไทย เป็นเรื่องบาปสำหรับมุสลิม



นายปิยะ อภิปรายว่า ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย ตนเสนอให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับรากหญ้า ศึกษามติของชุมชนวัฒนธรรม เช่น การพัฒนาทักษะอาชีพให้กับประชาชนร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ และยังมีอีกหลายโครงการที่สามารถทำได้ ยกตัวอย่างที่พบจากงานวิจัยชุมชน พบว่ามีหลายโครงการที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้ และบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งภาครัฐไปทั้งหมด



ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความเห็น โดยนายสมภพ เจตพาณิชพงษ์ จากหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตนติดตามการเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย มาตลอด แต่ในช่วงหลังไม่ได้ติดตาม เพราะเห็นว่าฝ่ายไทยไม่มีความคืบหน้ามากนัก และตนก็ไม่ทราบว่า ขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... ออกมา แต่ก็รู้สึกตกใจว่าทำไม่ต้องออกกฎหมายที่ร้ายแรงมากขนาดนี้ ขณะนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างรุนแรง เห็นด้วยหากกำหนดให้ทั้ง 3 จังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะหากไม่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็อาจไม่มีใครเข้ามาลงทุน แต่ต้องไม่ใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนมาก ดังเช่นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net