Skip to main content
sharethis

"การก่อการร้าย" ที่เคยคิดกันว่าคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ของโลกมุสลิมเท่านั้น ณ ตอนนี้ กลับกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกๆ แห่งทั่วโลก "ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย" ที่รักสงบก็ตาม


 


หลังจาก เหตุการณ์ 11 กันยายน ที่เครื่องบินโดยสารพุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นมา การเกิด"ยุคสงครามใหม่" ก็ดูจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น


 


ฝ่ายมหาอำนาจสหรัฐฯและพันธมิตร ใช้ปฏิบัติการทางทหารจัดการกับ ศัตรูที่เชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตน ในทุกพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐฯและพันธมิตร พื้นที่นั้นก็มีสิทธิ์ที่จะโดนปฏิบัติจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้ตลอดเวลาเช่นกัน


 


เมื่อไม่นานมานี้ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ถูกวางระเบิดครั้งใหญ่ 3 จุด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 22 คน และในช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้วก็มีการวางระเบิดเช่นนี้ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน


 


สำหรับในยุโรปเอง ในปีนี้ก็โดนไปหลายครั้งเช่นกันไม่ว่าจะเป็นที่ อังกฤษ หรือ สเปน ส่วนที่ฝรั่งเศสโชคดีมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ก่อนที่จะมีการปฏิบัติการจริง


 


ประเทศไทยเอง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน และในช่วงหลังมานี้รูปแบบและเทคนิคในการก่อวินาศกรรมก็เริ่มคล้ายกับที่มีการปฏิบัติการในตะวันออกกลาง


 


หรือสมรภูมิกำลังอยู่ในทุกพื้นที่...


 


เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา ณ เวลานี้ และประเทศไทยที่รักสงบของพวกเรากำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์แบบใดกันแน่


 


รายงานจากเวทีเสวนาเบื้องล่างนี้  คงไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ หากแต่เป็นสิ่งช่วยอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้นอย่างหลากมิติมุมมอง อย่างน้อยก็ทำให้พอจะเห็นทิศรู้ทางขึ้นมาบ้างในสถานการณ์อันสับสนเช่นที่กำลังเป็นอยู่นี้


 


 


ปณิธาน วัฒนายากร :


บทบาท-อิทธิพลมหาอำนาจไทยเชื่อมโยงกรณี 3 จังหวัด


 


ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก  ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเป็นกระแส แม้แต่ประเทศมหาอำนาจเองก็ต้องเข้าสู่สงครามใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือสงครามใน ประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรัก ตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นจุดจบว่าจะเป็นอย่างไร


 


ก่อนเหตุการณ์ 11 กันยายน มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ย 4,000 ครั้งต่อปี แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ความรุนแรงลดลงมาเหลือ 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งอาจจะยังไม่นับรวมการก่อความไม่สงบในท้องถิ่น สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการก่อการร้ายลดลงหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน อาจเป็นเพราะหลายประเทศให้ความสำคัญกับการต่อต้านการก่อการร้ายมากขึ้น


 


ความจริงแล้วการก่อการร้ายมีมานานแล้ว  โดยเฉพาะช่วง10 กว่าปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงใหม่เกิดขึ้นทั่วโลก มีการจัดตั้งกระบวนการ หรือองค์การต่างเพื่อเข้าไปก่อความไม่สงบในหลายประเทศ เช่น ตึกเวิร์ลเทรด เยเมน แทนซาเนีย ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน กระจายต่อไปที่บาหลี ฟิลิปปินส์ สเปน อังกฤษ ส่วนปัจจุบันในประเทศไทยก็มีการก่อความรุนแรง


 


แม้ว่าตัวเลขการก่อการร้ายที่เป็นองค์กรในลักษณะเครือข่ายก่อการร้ายข้ามชาติจะลดลงหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน แต่ความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น ยุทธวิธีเพิ่มขึ้น จนอาจเรียกได้ว่าเป็น"สภาวะแวดล้อมใหม่"


 


เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกำลังเข้าสู่ความขัดแย้งใหม่ ซึ่งอาจไม่ได้มาจากความคิดเรื่องความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากบทบาทของมหาอำนาจ  มาจากความขัดแย้งในท้องถิ่น ความขัดแย้งดั้งเดิมในเรื่องชาตินิยม ความขัดแย้งใหม่ในยุคทุนนิยม ซึ่งขอเรียกว่า "ยุคสงครามใหม่ (Age of The New War)"


 


ยุคสงครามใหม่ เป็นสงครามที่ต่างจากในอดีต อาจจะไม่ประกาศสงคราม อาจจะผสมอุดมการณ์  อาจจะผสมความขัดแย้งที่มาจากนโยบายที่ผิดพลาด แล้วจากนั้นจึงขยายตัวลุกลามไปเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง จนเข้าสู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามย่อยๆ ระหว่างกลุ่มต่างๆ  หรือระหว่างรัฐกับภาคประชาชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือระหว่างรัฐกับรัฐ


 


ประเทศมหาอำนาจกำลังสนใจกับเรื่องนี้มาก อาจเพราะคิดว่ากำลังตกเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการก่อการร้าย โดยเฉพาะสหรัฐฯและพันธมิตร จากนั้นยุทธการแรกจึงก็พุ่งเป้าไปยังประเทศที่เป็นแกนในการก่อการร้าย รวมทั้งตัวบุคคลที่สนับสนุน ดังเช่นที่ปฏิบัติกับประเทศอิรัก อิหร่าน หรือบุคคลอย่าง โอซามา บินลาเดน


 


แต่เรื่องนี้ทำให้เกิดการถกเถียงและแบ่งแยกอย่างมากในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ฝ่ายอังกฤษ กับสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า ในอนาคตหากประเทศตะวันตกจะมีภัยก็มาจากอาวุธที่มีกำลังทำลายร้ายแรงของกลุ่มก่อการร้าย ส่วนประเทศ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย โดยมีเยอรมันที่สนับสนุนอยู่นอกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่เชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้จะทำได้ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


 


อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาเดินหน้านโยบายปราบปรามกลุ่มเหล่านี้อย่างรุนแรง ด้วยการใช้กำลังทางการทหาร เข้าตัดตอนกำลัง องค์กร ประเทศ รวมทั้งบุคคล จนต้องยุบเลิกไป จากนั้นสหรัฐอเมริกาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของประเทศเหล่านี้


 


ในทัศนะของอเมริกันและพันธมิตรเห็นว่านโยบายได้ผลเพราะว่าได้ลดตัวเลขของการก่อการร้ายได้  ทั้งนี้กลุ่ม อัลกอร์อิดะ ถูกจัดการไปแล้วกว่า 2 ใน 3 แต่ก็ทำให้องค์กรใหญ่เกิดการแตกตัวกลายเป็นกลุ่มย่อยที่มีความชัดเจนในการก่อการในแต่ละพื้นที่มากขึ้น หรือทำให้เกิดองค์กรย่อยๆที่ต่อต้านทุนนิยมที่ชัดเจน การแตกตัวดังกล่าวก็ทำให้การต่อต้านการก่อการร้ายค่อนข้างชะงักงันใน 2 ปีแรก


 


เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเห็นว่ามีการต่อต้านจากทั่วโลกก็เริ่มพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกมากว่านี้  เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่ต้องใช้เวลา ดังนี้


 


ยุทธศาสตร์แรก คือจะต้องเข้าไปสนับสนุนกลุ่มแนวความคิดหัวปานกลางเพื่อถ่วงดุลกลับกลุ่มหัวรุนแรงได้ โดยคิดว่ากลุ่มหัวรุนแรงได้แก่ กลุ่มหัวรุนแรงทางการศาสนา กลุ่มหัวรุนแรงทางอุดมการณ์นิยมซึ่งคอยเป็นแกนนำในการต้านสหรัฐอเมริกากับพันธมิตร ส่วนที่จะเข้าไปสนับสนุนได้แก่ กลุ่มมุสลิมหัวเสรีนิยมสมัยใหม่ซึ่งยังไม่ได้รวมตัวกัน โดยอาจหนุนด้านเงินทุนหรือให้แนวคิด


 


ประการที่สอง คือผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปมัสยิด ระบบการเรียนการสอนต่างๆ ระบบโรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่อเมริกันคิดว่าจะเป็นภัยในอนาคต


 


ประการที่สาม เข้าไปขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ยากจนสามารถปรับเปลี่ยนจนความเหมาะสมตามระบบตามทุนนิยม โดยอเมริกาจะพัฒนาจนมีความสามารถทางเศรษฐกิจได้


 


ประการที่สี่ พยายามสกัดกั้นและลดบทบาทของกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆที่พยายามจะเข้าไปยึดชุมชนทางศาสนา หรือยึดกิจกรรมทางการเมืองของท้องถิ่นที่กำลังเกิดในหลายประเทศและหลายพื้นที่


 


ประการที่ห้า พยายามผลักดันให้เกิด Civil Islam ซึ่งก็คือ ชาวมุสลิมที่ทำงานช่วยเหลือในพื้นที่แต่ยังไม่เป็นระบบ รวมทั้งผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้ให้เอาประชาธิปไตยหรือ สิทธิเสรีภาพเข้าไปในหลายประเทศ


 


ประการที่หก เข้ามาสกัดกั้นการระดมทุน ระดมทรัพยากร การสนับสนุนทางด้านการเงินของกลุ่มก่อการร้ายในที่ต่างๆ โดยหาเงินหาทุนให้แทน เช่นทุนตัวเอง ไปสกัดกลุ่มทุนที่มาจากซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ โอมาน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 6000-7000 ล้านต่อปี แต่แผนนี้สหรัฐอเมริกาจะทำได้อย่างไรก็ต้องสังเกตกันต่อไป


 


ประการที่เจ็ด การสร้างขีดความสามารถทางการทหารในพันธมิตรหลักของอเมริกันและยกระดับกลุ่มหัวปานกลางต่างๆเพิ่มด้วยการการฝึกฝนทางการทหารให้ในหลายพื้นที่รวมทั้งประเทศไทย และนำการใช้ข้อมูลด้านข่าวกรอง จิตวิทยามวลชน ภาคประชาชนมาช่วยมากขึ้น


 


แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่การใช้กำลังทางการทหารก็ยังมีให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่นที่ อิรัก ขณะนี้มีทหารประจำการอยู่ประมาณแสนกว่าคน ส่วนการสูญเสียก็ยังสูงอยู่ ดังนั้นจึงไม่มั่นใจว่าทิศทางดังกล่าวจะเปลี่ยนไปได้รวดเร็วอย่างที่ต้องการหรือไม่


 


แต่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาจะปรับทิศทางการต่อต้านการก่อร้ายใหม่ เพราะจะได้มีโอกาสในการแสดงความเห็นมากขึ้น


 


การสูญเสียของอเมริกันที่มากเกินไปโดยใช้งบประมาณ 1,000 กว่าล้านต่อเดือนที่อัฟกานิสถาน 6,000-7,000 ล้านที่อิรัก ทำให้อเมริกาต้องตื่นมาเจอกับความจริง ว่า แม้ตัวเองเข้มแข็งที่สุด ก็คงไม่พอที่จะทำการตามลำพัง คือถ้าไม่ร่วมมือกับพวกเรา ก็จะเป็นจักวรรดิที่ทำการใหญ่เกินตัว เมื่อทำการใหญ่เกินตัวแล้ว ก็จะทำให้เข้าสู่หายนะได้อย่างง่ายๆ


 


 


ศุภมิตร ปิติพัฒน์ :


การเมืองของการก่อการร้าย การวางตัวของประเทศเล็กๆ


 


หัวหอกหลักในการต่อต้านการก่อการร้ายก็คือประเทศอเมริกา แต่ในสงครามครั้งนี้ หลายคนมีความกังวลใจต่อบทบาทนี้และพูดกันว่าประเทศเล็กๆควรแสดงท่าทีอย่างไร


 


เป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงเรื่องท่าทีของประเทศเล็กๆเพราะปัญหาไม่ได้มีแหล่งที่มาแบบเดียว เพียงแต่กำลังถูกเชื่อมโยงให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน จากเหตุการณ์ 911 ซึ่งทำให้ปัญหาการก่อการร้ายกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในระดับโลก เพราะปัญหานี้ทำให้ผู้พิทักษ์ความมั่นคงในระดับโลกรู้สึกไม่มั่นคงเสียเอง แล้วรวบเรื่องการก่อร้ายมาเป็นเรื่อง 3 เรื่องร่วมกัน คือ


 


หนึ่งเรื่องการก่อการร้าย สองการครอบครองอาวุธที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง สามคือเรื่องรัฐอันธพาลหรือแกนของความชั่วร้าย โดยให้นานาประเทศร่วมมือกับเขาเพื่อรับมือกรณีดังกล่าวร่วมกัน


 


แล้วประเทศเล็กๆรวมทั้งประเทศไทยที่เป็นผู้ตามมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง


 


การเป็นผู้ตามมีสิทธิ์สองอย่างที่สำคัญคือ มีสิทธิในการให้ความชอบธรรม และมีสิทธิที่จะบอกว่าการกระทำใดๆของผู้นำนั้นอาจจะไม่ชอบธรรม


 


แต่คิดว่าโจทย์นี้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการที่ประเทศเล็กจะเล่นบทบาทนี้ได้ ก็ต้องเห็นตรงกันในเรื่องความชอบธรรม ซึ่งมันยากที่จะให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งเห็นปัญหาตรงกันในเรื่องการบทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามการก่อการร้าย


 


เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ มันตั้งคำถามต่อระบบคุณค่า และระบบความเชื่อทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้กำลัง เรื่องหลักการอธิปไตย เรื่องการแทรกแซง


 


ทั้งหมดถูกเผชิญด้วยสถานการณ์ใหม่ๆ สหรัฐอเมริกา ก็ถามเราว่าถ้ามีรัฐอันธพาลคอยสนับสนุนการก่อการร้ายแล้ว ถ้าการก่อการร้ายนั้นได้อาวุธที่ขีดความสามารถการทำลายล้างสูง เราจะเดินตามขั้นตอนที่เป็นกฎกติกาที่เป็นกรอบเดิมอีกหรือเปล่า


 


การใช้กำลังก็เพื่อดำเนินการไม่ให้ฝ่ายรัฐอันธพาลมีขีดความสามารถพอที่จะมาแบล็คเมเราได้ในภายหลัง อเมริกาถืออำนาจการป้องกันตนเองเป็นอำนาจของรัฐอธิปไตยที่ควรจะรักษาไว้อย่างดีที่สุด จึงไม่ปล่อยให้ตกไปฝ่ายตรงข้าม


 


ดังนั้น แม้จะไม่เจออาวุธร้ายแรงในอิรักซึ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของคำถามนี้ แต่คำถามนี้จะยังคงอยู่กับเรา แล้วเราจะจัดการอย่างไร


 


ประเด็นคือในโลกปัจจุบันหลักการหลายอย่างค่อยๆเคลื่อนจากสภาวะเดิมไปสู่สภาวะใหม่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่น หลักการไม่แทรกแซงที่เดิมถือว่าเป็นหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในระยะหลังหลักการอธิปไตยหรือหลักการไม่แทรกแซงก็เริ่มที่จะคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป


 


เช่น ถ้ารัฐใดรัฐหนึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นความชอบธรรมที่นานาประเทศจะต้องร่วมมือกันทางใดทางหนึ่งเพื่อแทรกแซง เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันนั้น


 


ดังนั้นการจะหาจุดยืนของรัฐเล็กๆจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก ซึ่งความลำบากหรือความซับซ้อนก็ขึ้นอยู่กับความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐเล็กนั้นด้วย เพราะ สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพที่ตั้งของแต่ละภูมิภาคของรัฐเล็กๆนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่ในตัว


 


ถามว่า รัฐอย่างเกาหลีใต้ อิหร่าน ศรีลังกา เวเนซูเอร่า จะมีท่าทีที่ตรงกันหรือไม่กับการรับมือปัญหาความชอบธรรมในการทำสงครามการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา อย่างประเทศเกาหลีใต้ อาจจะมีความจำเป็นบางอย่างในภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียที่จะต้องให้อเมริกาเป็นหลักประกันในด้านเสถียรภาพในภูมิภาค


 


แต่อิหร่านอาจจะมีโอกาสที่จะท้าทายอเมริกาได้บ้าง โดยหวังที่ว่าถ้าสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาก็อาจจะเป็นอำนาจต่อรองได้อย่างหนึ่ง


 


ปัญหาต่างๆเหล่านี้ทำให้ประเทศเล็กๆมีท่าทีที่แตกต่างกันทำให้ไม่สามารถพัฒนาระบบคุณค่าใหม่ๆขึ้นมา หรือว่าร่วมมือกันที่จะรับมือกับปัญหาความไม่ชอบธรรมของประเทศผู้นำ


 


อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาของประเทศเล็กๆแต่ละประเทศก็มีความไม่เหมือนกันทีเดียวในระดับชนชั้นนำ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน


 


ประเทศไทยมีท่าทีตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ หากถามภาคประชาชนก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง ถามภาครัฐก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง


 


กระบวนการของภาคประชาสังคมในระดับประเทศที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายของภาคประชาสังคมในระดับโลก ที่สามารถสร้างเป็น Movement ใหม่ขึ้นมา ทัดทานกับการใช้อำนาจและการคลี่คลายสถานการณ์ให้ไปในทางใดทางหนึ่งยังถูกจำกัด อยู่ในกรอบของ Representation


 


คำถามคือว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เป็นเครือข่ายในระดับประเทศ ภูมิภาค ระดับโลก Represent โดยใคร และกระบวนการ Representation นี้ได้รับการยอมรับแค่ไหน ที่เป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ก็เป็นคำถามที่จะทิ้งไว้


 


 


อุกฤษฎ์ ปัทมนันท์ :


มหาอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ


 


ในแง่มุมนี้มี 3 ประเด็น โดยจะดูในภาพกว้างแบบยุทศาสตร์เป็นหลัก หากลองย้อนไปดูที่ผ่านมาจะเห็นว่าคีย์ที่สำคัญของการก่อการร้ายก็คือ สหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์ 911 และต่อมาก็คือผู้ที่กำหนดนโยบายหลักของโลกว่าอะไรคือเรื่องราวของการก่อการร้าย


 


แต่อยากให้มองมหาอำนาจอื่นด้วยว่ามีอะไรบ้าง ที่เกี่ยวข้องด้วย


 


ออสเตรเลีย เพราะเป็นพันธมิตรในการทำสงครามกับอิรักและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อการร้ายคือคนออสเตรเลียตาย มีโรงแรมถูกระเบิด มีสถานทูตถูกระเบิด


 


สิงคโปร์ เพราะมีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับทางสหรัฐอเมริกา และนอกจากนี้ผลประโยชน์ของสิงคโปร์ อยู่บริเวณทางใต้ของประเทศไทยพอดีด้วย


 


ถ้ามองแง่ยุทธศาตร์แบบนี้ จะค่อนข้างชัดว่าสหรัฐอเมริกา เป็นผู้กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อการร้าย ทั้งพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือทั้งในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไทย


 


ประเด็นที่ควรคิดคือว่า การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของชาติมหาอำนาจหรือเปล่า และจากนั้นก็ดูว่าเกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร สังเกตว่าหลังจากการปล้นปืน เราคิดเรื่องการก่อการร้ายไปในทิศทางเดียวกับประเทศสหรัฐฯ และเห็นพ้องกับการแก้ปัญหาการต่อต้านการก่อการร้าย


 


ประการที่สอง ถ้าสหรัฐฯเป็นผู้กำหนดการมองยุทธศาสตร์ ระบบพันธมิตรทางการทหารก็สำคัญขึ้น และไทยก็ยอมรับการเป็นพันธมิตรนอกนาโต เมื่อ ปี 2003 ทำให้การใช้เครื่องมือทางการทหารเกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการฝึกกองกำลังต่างๆ และต่อมาก็เกิดสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมือที่มาจากการมีแนวคิดในการต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งก็คือ อาวุธ


 


เมื่อแนวคิดการต้านการก่อการร้าย ผลประโยชน์ทางด้านการค้าอาวุธก็เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ย้อนกลับไปประมาณ 6 เดือนให้หลัง แม้ไทยเศรษฐกิจไม่ดี แต่ข้อมูลกระทรวงกลาโหมที่มาจากข่าวหนังสือพิมพ์ กระทรวงกลาโหมได้ก็ของบประมาณพัฒนาอาวุธเป็นแสนล้านบาท คือเหมือนกับว่าการต้านการก่อการร้ายต้องปฏิบัติการทางการทหาร


 


ประเด็นสุดท้าย มองว่า ถ้าดูบทบาทของอเมริกากับเอเชีย หากย้อนไปประมาณ ปี 2540 เราอยู่ในกระบวนการอิทธิพลของวอชิงตัน คอนเซ็นซัส มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ได้รับข้อเสนอเกี่ยวกับการเปิดเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ประเด็นเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ต่อประเทศมหาอำนาจหรือไม่


 


นักลงทุนสหรัฐฯมากว้านซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ขาย การค้าการลงทุนเปลี่ยนไป มีข้อเสนอในการจัดระเบียบเศรษฐกิจ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เกิดในไทย


 


โดยธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้คือธุรกิจพลังงานกับการสื่อสารคมนาคม เป็นแหล่งผลประโยชน์ใหม่ขนาดใหญ่ของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ คิดว่าสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการต้านการก่อการร้าย


 


ในแง่ยุทธศาสตร์มองแค่สหรัฐไม่ได้ ต้องคิดว่าการเข้ามาของจีนมีความสำคัญ ด้วย ไม่นานมานี้ไทยได้เซ็นสัญญา 12 ข้อตกลงกับทางรัฐบาลจีนในเรื่องการลงทุน ซึ่งมีความหมาย คือจีนพยายามตกลงว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาเซียนและ GMS


 


จีนเข้ามามีบทบาทตรงนี้เหมือนกับการสร้างสมดุลย์กับมหาอำนาจโดยเฉพาะอเมริกา


 


ฉะนั้นในการต่อต้านการก่อการร้ายมีประเด็นการค้าอาวุธเข้ามา และเกี่ยวข้องกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ คิดว่าจีน ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจน่าจะมองเรื่องของการลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์ได้คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็มาลงทุนในด้านธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม


 


ทำให้มีการแข่งขันในเชิงธุรกิจระหว่างบรรษัทของประเทศในมอเมริกา กับบรรษัทท้องถิ่นภายในประเทศด้วยการเปิดเสรี ซึ่งทางผู้ประกอบการฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีโดยสมบูรณ์ มีข้อเสนอจากคณะวิจัยหลายแห่งพยายามค้านการปิดเสรีโดยตรงคือหมายความว่ากลุ่มทุนภายในประเทศเห็นว่ามหาอำนาจมีเทคโนโลยีและทุนขนาดใหญ่ที่ลงทุ่มในภูมิภาคนี้ได้


 


ขอทิ้งท้ายว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาตร์การแข่งขันอีกครั้ง ตัวเปลี่ยนที่สำคัญคือช่วงการเกิดเหตุการณ์ 911


 


 


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :


การเมืองของการก่อการร้ายในบริบท South East Asia


                    


ในแง่มิติเวลาทางประวัติศาสตร์ของการก่อการร้าย มีความน่าสนใจในแง่สังคมอุดมการณ์ รวมทั้งแนวคิดศาสนา


 


สหรัฐฯไม่เคยมีกำลังนอกประเทศบุกเข้าไปโจมตีสหรัฐได้ตั้งแต่สงครามกับอังกฤษ ปี1812 ที่โจมตีได้ แต่ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นประเทศเอกราชเต็มตัว แต่ จากนั้นก็ไม่เคยมีประเทศใดเข้าไปแหย่หรือทำอะไรอเมริกาได้ ดังนั้นการทำลาย แบบที่เกิดใน กรณี11 ก.ย. ถือเป็นประวัติการณ์ที่ฉีกหน้าอเมริกา


 


หากมองในแง่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าก่อการร้ายที่เกิดกับสหรัฐฯคราวนี้ มันเคยมีเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วภายในเป็นเรื่องระดับภูมิภาค แต่จะเรียกว่าในระดับโลกก็ได้ในสมัยนั้น คือ ศตวรรษที่ 16-19


 


เรื่องของกระบวนการทำนองการก่อการร้ายที่เกิดในโลกตะวันตก ในช่วงศตวรรษที่19 ในความหมายคือการใช้กำลังโจมตีอำนาจรัฐแต่รวมถึงผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งไม่ใช่การรบในสงคราม เป็นการกระทำที่คลุม แต่อำนาจรัฐก็กระทบกระเทือน


 


ลักษณะนี้เหมือนการใช้กำลังแบบสมัยใหม่ เพราะสมัยก่อนจะใช้กำลังยึดอำนาจแบบราชวงศ์มากกว่า คือต้องการเล่นงานเพื่อโค่นอำนาจ แต่สิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายนั้นมีจุดหมายทางการเมืองที่ต่างจากการลุกขึ้นสู้อื่นๆ คือไม่ได้ถือการยึดอำนาจรัฐเป็นหัวใจ


 


จุดหลักคือทำลายอำนาจรัฐมากกว่ายึดอำนาจรัฐ


 


ในมิติประวัติศาสตร์ในการคลี่คลายและการเคลื่อนไหวที่อาจคล้ายการก่อการร้ายมันก่อตัวขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรืออาจเริ่มปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นกระบวนการคลุมสองทวีปนั่นคือยุโรปกับอเมริกา


 


กระบวนการที่ว่านี้ คือกระบวนการต่อทาส ศตวรรษที่ 19 ในยุโรปไม่มีทาสแต่จะมีในอาณานิคมที่อยู่ภายนอก มีอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่มีทาสอยู่ในประเทศ โดยซื้อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนเป็นประชากรประมาณ 4,000,000 คน ในขณะนั้น ซึ่งเยอะมาก


 


ต่อมาเกิดกระบวนการต่อต้านระบบทาส ในตัวของมันไม่ใช่การก่อการร้าย แต่ก็คือการยอมตายเพื่อความเชื่อหรืออุดมการณ์ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ในยุโรปก็ยอมไปใน ค.ศ. 1930 คือให้เลิกทาสในทุกอาณานิคม


 


แต่ใน ค.ศ.1930 การต่อต้านทาสที่อเมริกาเพิ่งเริ่มต้น  ต่อมาได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นความขัดแย้งเนื่องจากระบบเศรษฐกิจอเมริกาผูกติดกับระบบทาส ภาคใต้ทั้งภาคอยู่ได้ด้วยระบบทาส ทั้งนี้ การค้าทาสเป็นสิ่งที่ทำให้อเมริกาสามารถสะสมทุนมาปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังสงครามกลางเมืองได้


 


สรุปทางการเมืองว่าอเมริกาไม่ยอมเลิกทาสและกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเหนือกับใต้ในเวลาต่อมา เพราะฝ่ายเหนือไม่ได้ใช้ทาสในระบบต่างๆแล้ว แต่ยังมีอยู่ในกฎหมาย


 


ดังนั้น กระบวนการต่อต้านทาสสู้อำนาจรัฐไม่ได้ ใช้กฎหมายไม่ได้จึงต้องสู้ทุกรูปแบบ ตรงนี้ที่มองว่ากระบวนการต่อต้านทาสก็คือบรรพบุรุษของขบวนการก่อการร้ายทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่ใช่ขบวนการส่งเดช แต่เป็นขบวนการก่อการร้ายที่มีจุดหมาย


 


ย้อนกลับไปมันเริ่มที่อเมริกา มันเป็นความคล้ายคลึงของประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าเหมือนกัน สิ่งที่สู้คืออุดมการณ์ตัวนี้เป็นสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้ เป็นสารที่อยู่ในความเชื่อ อยู่ในหัวใจของคนเข้าร่วมขบวนการต่างๆ


 


ตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนที่ย้อนกลับไปอเมริกาก็จัดการไม่ได้ กระบวนการต่อต้านทาสก็ขยายตัวออกไปเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ความขัดแย้งภาคเหนือภาคใต้เกิดขึ้นจนประทุเป็นสงครามกลางเมือง


 


ถ้ารู้ประวัติศาสตร์อเมริกา คงเคยได้ยิน จอห์น บราว  ซึ่งเป็นวีรบุรุษผู้ปลดปล่อย ตอนนั้นเขาคือส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อต้านทาส ทางเดียวที่จอห์น บราว เสนอ คือ การเลิกพูดแล้วนำมาปฏิบัติ จากนั้นจึงพาลูกพร้อมด้วยพรรคพวกติดอาวุธไปเล่นงานบรรดาเจ้าของทาสทั้งหลาย ภารกิจสุดท้ายก่อนสงครามกลางเมืองเกิด คือไปปล้นปืนที่เวอร์จิเนีย ที่ ฮาเบอร์ เฟอร์รี่


 


คือหวังว่าถ้าปล้นสำเร็จจะติดอาวุธให้ทาสแล้วยึดอเมริกา แต่ตอนนั้นไม่สำเร็จ ไม่มีทาสมาร่วม ก็ถูกแขวนคอ แต่ก็กลายเป็นวีรบุรุษของภาคเหนือที่มาตะลุยภาคใต้หลังจากนั้น


 


การต่อต้านทาสเป็นตัวอย่างของสงครามอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผนวกศาสนา ทางมนุษยธรรม อุดมทางการเมืองสมัยใหม่โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มแนวคิดแบบพื้นฐานนิยม เพราะเอาความเป็นคนมาเป็นฐานอุดมการณ์ นักต่อสู้เพื่อทาสก็เพื่อปลดปล่อยทาสสู่ความเป็นมนุษย์


 


ตรงนี้เป็นจุดที่อำนาจรัฐจัดการไม่ได้ เพราะมันจะมีจุดที่เป็นช่องโหว่ของความไม่ยุติธรรมที่มีตลอดเวลาในระบบของการปกครอง และเมื่อไหร่ที่มีความรุนแรงในการปราบกระบวนการเหล่านี้ ก็ยิ่งเปิดโปงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบกระฎุมพี แบบเสรีนิยม จริงๆแล้วปากว่าตาขยิบ มันใช้ความรุนแรงกับประชาชน


 


ตั้งแต่ 100 ปีมาแล้วกับปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน วิธีที่อเมริกาใช้กับ เหตุการณ์ 11 ก.ย.  ก็คือใช้วิธีเดียวกับที่จัดการกับประเทศคอมมิวนิสต์ คือมองว่าเป็นการสู้กับรัฐ การสู้กับอัฟกานิสถาน หรืออิรักก็ดี คือมองว่าเป็นการสู้กับรัฐที่เป็นถือเป็นหัวหาด อันเป็นเป็นจุดที่จะทำให้กระบวนการก่อการร้าย


 


ในขณะที่ถ้าหากว่าบินลาเดนอยู่ เขาก็อยู่ในส่วนของเขา มีคนเสนอว่า อเมริกันอาจจะต้อง แยกระหว่างลัทธิบินลาเดนลิสซึม กับลัทธิ อิสลามมิคเนชั่นแนลลิสซึม ซึ่งอาจจะอยู่ในที่เดียวกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน


 


เพราะฉะนั้นพัฒนาการทุกอย่างมีส่วนได้และมีส่วนเสีย มีราคาที่เราจะต้องจ่าย ควรรับฟังที่มากที่สุดก่อนที่จะปราบ จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าการปราบอย่างเดียวมันไม่ยุติแน่นอน เพราะรัฐเปลี่ยนไปรูปแบบอันใหม่เข้ามา มีกระบวนการรองรับ เรียกได้ว่ามันเคลื่อนไปแล้ว มันหยุดไม่ได้


 


..........................


 


หมายเหตุ เสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net