Skip to main content
sharethis

พาณิชย์ยืนยันร่างกฎกระทรวงเปิดเสรีบริการ 20 สาขาทำมาตั้งแต่ปี 43 ไม่เกี่ยวเอฟทีเอแน่นอน แต่ยอมรับไม่มีการศึกษาความพร้อมแต่ละกิจการชัดเจน ขณะที่กมธ.พัฒนาสังคม-ต่างประเทศสอนมวยข้าราชการ ถ้ายอมเปิดประตูแรก ระวังโดนต่างชาติฟ้องบังคับเปิดประตูถัดไป เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ


 


วานนี้ (27 ต.ค.48) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จับมือ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา เชิญตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาคมประกันชีวิตไทย ร่วมชี้แจงและให้ข้อมูลกรณี "ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว"


 


ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นหลังจากลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมายออกมาแถลงข่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล ซึ่งจนถึงขณะนี้หลายส่วนรวมทั้ง กมธ.ทั้ง 2 คณะยังไม่คลายความสงสัยและกังวล แม้ว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.พาณิชย์ จะยอมถอนเรื่องนี้ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็ตาม โดยการประชุมของ กมธ.ในวันนี้มีการซักถามและแสดงความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้น


 


"ผมถามตรงไปตรงมา ร่างกฎกระทรวงนี้คือสัญญาณของการเปิดเสรีและเชื่อมโยงกับเอฟทีเอที่เรากำลังเจรจากับสหรัฐหรือไม่" น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกมธ.พัฒนาสังคมฯ ถามแบบตั้งข้อสังเกต


 


นางเกษศิริ ศิริภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจนมากว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพราะกฎกระทรวงนี้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งยังไม่มีการทำเอฟทีเอกับประเทศใด


 


จนกระทั่งเดือน พ.ค.48 ทาง ธปท.มีหนังสือเร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ทางกระทรวงฯ จึงทำหนังสือทวงถามไปยังเลขาธิการ ครม.เมื่อเดือน ก.ค.48 จนกระทั่งเรื่องนี้ได้เข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 7 ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา


 


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม. กล่าวทำความเข้าใจกับตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมีสองส่วน คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ โดยตรง หากมีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงดังกล่าวภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้ว ต่างชาติก็จะอ้างได้ว่ารัฐบาลเปิดให้เขาแล้ว ดังนั้น จะมาอ้างกฎหมายเฉพาะที่เหลืออยู่ไม่ได้ และจะต้องมีการฟ้องร้องกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) แน่นอน


 


นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.กทม. กล่าวเสริมว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายอื่นๆ ให้สอดคล้องต่อไปด้วย เช่น เมื่อต่างชาติประกอบธุรกิจหนึ่งได้แล้ว กฎหมายแรงงานไม่สอดคล้องก็จะถูกฟ้อง ซึ่งก็มีทางออกอยู่ 2 ทางคือ ต้องแก้กฎหมายแรงงาน หรือไม่รัฐบาลก็สั่งอธิบดีให้อนุญาตเป็นกรณีไป


 


"กฎหมายนี้เป็นประตูแรก ในต่างประเทศเขาระมัดระวังมาก และต้องเตรียมพร้อมมีประตูสอง สาม สี่ไว้ด้วย แต่เรากลับคิดเอาง่ายๆ ผมยกตัวอย่างนักกฎหมายที่ไปเรียนในสหภาพยุโรปหรือสหรัฐ ขนาดจะขอฝึกงานยังไม่ได้ เขาสงวนไว้ให้คนของเขาเท่านั้น เรื่องแค่นี้ยังไม่ได้เลย" นายสักกล่าว ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายอมรับจะนำประเด็นดังกล่าวกลับไปพิจารณาด้วย


 


ส.ว.รุกหนัก หน่วยงานรัฐไม่กล้ายันธุรกิจไทย "พร้อม"


นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการตั้งคำถามว่า กระทรวงพาณิชย์มีการศึกษาชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าธุรกิจบริการทั้ง 20 สาขานั้นมีความพร้อมจะแข่งขันกับต่างชาติ เนื่องจากกฎหมายระบุชัดเจนว่าจะยกเว้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจไทยมีความพร้อมในการแข่งขันเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกซักถามอย่างไม่ลดราวาศอกจาก ส.ว.หลายคน รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคงชี้แจงด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งเสมอต้นเสมอปลายว่า เหตุผลที่มีการร่างกฎกระทรวงยกเว้นการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก็เพราะทางกระทรวงฯ เห็นว่ามีกฎหมายเฉพาะของธุรกิจแต่ละสาขาควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ส่วนการศึกษาความพร้อมในการแข่งขันนั้น ทาง ธปท.มีเอกสารการศึกษายืนยันความพร้อมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ยืนยันมาว่ามีความพร้อม และต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล


 


ในส่วนของกิจการโรงรับจำนำ คลังสินค้า โรงเรียน มหรสพ นางเกษศิริยอมรับว่าไม่มีหลักฐานการศึกษาความพร้อมที่ชัดเจน แต่ที่นำมารวมไว้ใน 20 รายการด้วยเพราะเห็นว่ามีกฎหมายเฉพาะควบคุมอย่างเข้มงวดแล้วเช่นกัน


 


"ความพร้อมในการแข่งขัน กับการมีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้วมันคนละประเด็น มีกฎหมายอื่นดูแลมันจะพร้อมแข่งขันหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ากระทรวงพาณิชย์พิสูจน์ว่าพร้อมแล้ว แทนที่จะแก้กฎกระทรวงก็ควรให้สภาพิจารณาแก้กฎหมายฉบับนี้เสีย จะเสนอยกเลิกไปเลยก็ได้ อย่างนี้จะตรงประเด็นกว่า" นายเจิมศักดิ์ กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นายเจิมศักดิ์ชี้แจงด้วยว่า กมธ.ทั้ง 2 คณะไม่ใช่ "เต่าล้านปี" ที่มีความเป็นชาตินิยมสูงจน รังเกียจต่างชาติในทุกกรณี อีกทั้งยังเชื่อว่าการแข่งขันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ขณะนี้ยังไม่ทันแก้ปัญหาการผูกขาดภายในประเทศ หรือสร้างความพร้อมธุรกิจภายในประเทศได้ ก็จะกระโดดไปแข่งกับธุรกิจต่างชาติเสียแล้ว "ทีนี้ทั้งทุนไทย ชาวบ้าน ตายกันหมด"


 


จากนั้นที่ประชุมได้หันไปซักถามความพร้อมของธนาคารพาณิชย์กับทาง ธปท. ซึ่ง น.ส.นวพร มหารักขกะ ผอ.สำนักวิเคราะห์และการต่างประเทศ ธปท.กล่าวว่า ไม่สามารถจะฟันธงลงไปได้ว่าธนาคารพาณิชย์พร้อมจะแข่งขันหรือไม่ เพราะในการศึกษาของ ธปท.นั้นศึกษาหลายประเด็น ไม่เฉพาะแต่การแข่งขันเรื่องเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ รวมทั้งมีกำไรเพิ่มขึ้น


 


"เท่าที่ทำมา มันชัดเจนว่าไม่มีการตรึกตรองใดๆ เหมือนกับเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลทำ อย่างการทำเอฟทีเอ 11 ประเทศ กมธ.ต่างประเทศตรวจสอบดูแล้วไม่มีการศึกษาโดยละเอียดเลย จะมีก็แต่ของแคนาดา ซึ่งผลออกมาก็เป็นลบ" นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมากล่าวอย่างมีอารมณ์หลังจากชี้แจงว่าพยายามอดทนฟังอยู่นาน


 


ในด้านผู้ประกอบการ นายกิตติ ผาสุกดี ประธานสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ที่ประชุมว่า เมื่อต้นเดือน ก.ย.48 มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างภาคธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และภาครัฐ เพื่อตรวจสอบความพร้อมรองรับการทำเอฟทีเอของรัฐบาล ซึ่งได้ผลสรุปชัดเจนว่า ขณะนี้ธุรกิจประกันภัยยังไม่มีความพร้อม โดยธุรกิจประกันวินาศภัยขอเวลาปรับตัว 10 ปี ธุรกิจประกันชีวิตขอเวลาปรับตัว 5 ปี


 


ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติจะทำหนังสือสรุปเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net