Skip to main content
sharethis

ประชาไท—11 พ.ย.48      รมว.พลังงาน เตรียมพร้อมชี้แจงศาลปกครองสูงสุด เชื่อไม่กระทบความมั่นใจนักลงทุน ระบุจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าขึ้นมาดูแลผู้บริโภค ด้านปิยสวัสดิ์ ชี้จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมก่อนนำ กฟผ. เข้าตลาดหุ้น ชี้หากศาลเลื่อนตัดสินอีกอาจเกิดความสับสนกับประชาชนและนักลงทุน ฝ่ายองค์กรภาคประชาชนจับมือม็อบเบียร์ช้างนัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง18 พ.ย.นี้


นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของโลก "Staying Ahead of the Energy Scenarios" ณ โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำไปชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 14 พ.ย.นี้แล้ว กรณีข้อสงสัยในเรื่องการกระจายหุ้นบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเรื่องนี้คงไม่กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน เนื่องจากหุ้น กฟผ.ยังไม่ได้มีการนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และขอยืนยันว่าการดำเนินการแปรรูป กฟผ.เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน


นายวิเศษ กล่าวว่าการแปรรูป กฟผ.ก่อให้เกิดผลดีและไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับแพงขึ้นเมื่อเทียบกับไม่ได้แปรรูป โดยเมื่อกระจายหุ้นไปแล้วจะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ กฟผ. มีความคล่องตัวในการระดมทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะใช้รูปแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากรัฐประกาศชัดเจนว่าจะไม่เข้ามาค้ำประกันหนี้ เพราะไม่ต้องการเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ


สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น จะมีแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (Regulator) ขึ้นมาดูแลทั้งด้านราคา การแข่งขันการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่เปิดให้ภาคเอกชนหรือไอพีพี เข้ามาผลิตไฟฟ้า และดูแลเรื่องการบริการ โดยในเรื่องของสายส่งไฟฟ้า แม้จะไม่มีการแยกบริษัทออกมาจาก กฟผ.แต่คณะกรรมการกำกับฯ จะเข้าไปดูแล และเปิดให้เอกชนเข้ามาใช้สายส่งได้เช่นกัน โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจำนวน 7 คน ภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนที่หุ้น กฟผ. จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 30 พ.ย.นี้


รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า กฟผ.ได้มีการกำหนดค่าไฟฟ้าหลังแปรรูปไว้อย่างชัดเจน โดยในช่วง 3 ปีนี้ ค่าไฟฟ้าฐานจะไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) จะมีการเปลี่ยนแปลงตามค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทน 8.3% ที่กำหนดให้กฟผ. ต้องได้รับ เป็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนที่เป็นการกำหนดขึ้นตามปกติของการกำหนดค่าไฟฟ้าส่งระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่ใช่ผลตอบแทนแก่นักลงทุนแต่อย่างใด 


ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด และประธานมูลนิธิพลังงานไทยเพื่อสิ่งแวดล้อม เห็นว่าโดยปกติประเทศพัฒนาแล้วเมื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าอิสระเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมีกติกาขั้นตอน เพื่อไม่ให้ราคาเบี่ยงเบนไปจากราคาตามมาตรการที่ตกลงไว้


 


"องค์กรที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นรัฐบาลสามารถสั่งได้ ไม่ว่าจะให้ลงทุนเพิ่มหรือลดค่าไฟ แต่ถ้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แม้แต่มติ ครม.ก็ไม่ง่ายเท่าไร จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ที่สำคัญต้องมีมาตรการด้านค่าไฟที่ชัดเจนและสร้างความมั่นใจได้ว่าต่อไปจะรักษากติกาอย่างเคร่งครัดโปร่งใส โดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงเสียก่อน"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว


 


นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ยังเห็นว่าบรรดานักลงทุนต่างก็ต้องการซื้อหุ้น กฟผ.กันทั้งนั้น สำหรับราคาขายในตอนนี้อาจไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนในหลายเรื่องส่งผลให้ กฟผ.เสนอขายเพียงราคาหุ้นละ 25-28 บาท จะทำให้มีรายได้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากเดิมที่ กฟผ.ประมาณมูลค่าการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ไว้ถึง 3 แสนล้านบาท


 


อย่างไรก็ตาม ประธานมูลนิธิพลังงานไทยเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ขอแสดงความเห็นต่อกรณีองค์กรภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด แต่แสดงความเห็นว่าผลคำตัดสินถ้าออกมาคงไม่มีปัญหาว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ แต่ถ้าศาลยังไม่มีคำตอบในวันที่ 15 พ.ย.นี้ก็จะทำให้เกิดความคาราคาซัง และจะก่อให้เกิดความสับสน คนที่จะจองหุ้นก็ไม่รู้จะทำยังไง


 


ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจะรับ กฟผ. เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตามมติของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ หาก กฟผ.สามารถผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ได้ และเห็นว่าถ้าศาลปกครองวินิจฉัยให้ กฟผ.กระจายหุ้นต่อประชาชนได้ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ในวันที่ 16-17 พ.ย. กฟผ.ก็จะต้องเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน โดยผ่านขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ และในวันที่ 30 พ.ย.ก็จะเป็นการเข้าซื้อขายวันแรกของ กฟผ.


ขณะเดียวกัน นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์การผู้บริโภค กล่าวบริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าทางกลุ่มจะหยุดเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อหยุดการนำ กฟผ. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วเท่านั้น ส่วนกลุ่มของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำองค์การพันธมิตรคัดค้านการขายสมบัติชาติ (อพคช.) กล่าวว่า จะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มผู้คัดค้านทุกกลุ่ม ในวันที่ 18 พ.ย. บริเวณท้องสนามหลวงในเวลา 17.30 น. โดยจะมีการติดต่อกับกลุ่มผู้คัดค้านการนำบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้างเข้าร่วมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net