Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะนี้  กำลังมีความพยายามจะใช้ต้นทุนทางการท่องเที่ยว และวัฒนธรรมที่ภาคเหนือของไทยมี  พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถความเป็นเมืองให้แข่งขันในระดับสากลได้  ผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมในการจัดการเมืองหัตถกรรมและการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนบน อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ซึ่งขับเคลื่อนโดยวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


 


เป้าหมายที่วางไว้คือจะให้ภาคเหนือตอนบนของไทย เป็นเมืองหัตถกรรม และการท่องเที่ยว CITY OF CRAFTMANSHIP ในปี 2552


 


ขั้นตอนสำคัญที่ผ่านพ้นไปคือการศึกษาดูงานใน 5 ประเทศเพื่อนำมาปรับใช้เพิ่มขีดความสามารถของแต่ละเมืองให้ก้าวไปให้ได้ตามเป้าหมายนั้น โดยเลือก 4 ประเทศคือ  บาหลี- อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง/เซินเจิ้น-จีน  และญี่ปุ่น ให้ผู้บริหาร ข้าราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนได้ไปศึกษาเทียบเคียง และให้กลุ่มจังหวัดนำมาประมวลจัดทำเป็นแผนดำเนินงานในวันที่ 23 ธันวาคมนี้


 


นายณพงษ์  สงวนนภาพร ผู้อำนวยการโครงการฯ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า โครงการนี้เกิดจากแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาหัตถกรรมซึ่งเป็นสินค้าให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระดับสากล  ซึ่งได้ใช้ต้นแบบจากสมาคมผู้ผลิตส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้ คือเป็นการพัฒนาโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองเพื่อที่จะสร้างสรรค์คุณค่า ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดว่าการที่เราจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ทุนทางวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของเรามีความสามารถในการแข่งขันได้


 


"เราอยากสร้างเมืองในลักษณะที่มีความยั่งยืน และต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้เริ่มมองว่าหลังจากได้มีการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์หัตถกรรมมาในระยะหนึ่ง  สร้างนักออกแบบ วิธีการทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ก็พบว่าระยะเวลา 10 กว่าปีความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ไปพัฒนาแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดของหัตถกรรมเหล่านั้น และแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดเหล่านั้นคือว่าเราจะสามารถขุดค้น และนำองค์ความรู้ วัฒนธรรม รวมถึงประเพณี วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์เหล่านี้มาประสานรวมกัน และนำคุณค่าเหล่านี้มาเป็นภูมิในการที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่อไปได้อย่างยั่งยืนไม่รู้จบ"


           


ขณะเดียวกันเมื่อมองถึงโลกทั้งหมด  ไม่ได้มีเพียงแค่การพัฒนาอย่างเดียว แต่มีการแข่งขันด้วย สิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูลว่า เมืองที่จะเทียบเคียงอยู่ในระดับขีดความสามารถของการแข่งขันในตำแหน่งของโลกที่เราจะนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดโลกต่อไปในอนาคต  เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาต่อไป


           


นายณพงษ์กล่าว่า การที่เลือกเมืองและประเทศที่ไปดูงานล้วนแต่มีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการที่จะเก็บความรู้ได้ เช่น สภาพของเกาะบาหลีที่วางบทบาทเมืองและชุมชนไว้ชัดเช่น กรณีเมืองอูบุด ที่คงลักษณะของการใช้ชีวิต และสภาพของกายภาพต่าง ๆ ไว้ตามที่นักท่องเที่ยวคาดหวังที่จะได้มาพบกับความเป็นบาหลีแท้  ขณะเดียวกันเมืองใกล้ ๆ กับอูบุดก็จะมีเมืองคูตะซึ่งห่างกันเพียง 1 ชั่วโมง กลับเป็นเมืองที่ทันสมัยพร้อมสรรพสำหรับความสดวกสบาย


 


ส่วนที่ประเทศสิงคโปร์  ได้ไปดูการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นการสร้างด้วยการลงทุนทั้งสิ้น ประเมินการจัดการและบริหารของไนท์ซาฟารี   และสร้างจุดดึงดูดใหม่ ๆ ต่อนักท่องเที่ยว  ที่ฮ่องกง ศึกษาการวางบทบาทของเมืองที่พัฒนาจากแหล่งช้อปปิ้งมาเป็น ประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่  การได้ฟังบรรยายพิเศษจากศาสตราจารย์ไมเคิล เอ็นไรท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันเมือง  มุมมองการพัฒนาฮ่องกง และพื้นที่  PEARL RIVER DELTA   ศึกษาวิธีการจัดศูนย์แสดงสินค้าซึ่งเชียงใหม่กำลังจะสร้างขึ้น รวมถึงนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่างดีสนีย์แลนด์ ส่วนเซินเจิ้น อันเป็นเมืองชายแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ล้วนเป็นแบบอย่างเรื่องการกำหนดบทบาทเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เป็นอย่างดี


 


สำหรับญี่ปุ่น เลือกเข้าศึกษาเมืองไอจิ  ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดงานเอ็กซ์โปด้านเทคโนโลยีไป เชียงใหม่หากเมื่อจัดงาน WORLD CRAFT EXPO 2009  แล้วจะเก็บเกี่ยวหรือพัฒนาเมืองต่อเนื่องอย่างไร มีการยกระดับในสิ่งใด เราต้องเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น  ไม่ใช่เหมือนฉายหนังกลางแปลง  ฉายจบ พระมากวาดขยะกลางลาน  ผลที่ได้ก็เฉพาะตอนฉายหนัง หากมีการเตรียมความพร้อมก่อนผลที่ได้จะมหาศาล"


 


โครงการพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมในการจัดการเมืองหัตถกรรมและการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนบน  วางกรอบความเป็นเมืองหัตถกรรมต้นแบบไว้หลายย่าน เช่นที่เชียงใหม่ น่าจับตาถนนนิมมานเหมินทร์  ย่ายวัวลา ที่มีชุมชน และวัดที่เข้มแข้งเช่น วันศรีสุพรรณ วัดหมื่นสาร วัดนันทาราม  ที่ได้เริ่มค้นหาเอกลักษณ์ ประสานชุมชนสร้างความตระหนักแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ขับเคลื่อนโครงการ นายณพงษ์มองสิ่งที่เป็นอุปสรรคว่ายังคงมีอยู่ เช่น ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยแม้จะเห็นความต่างจากความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ฮ่องกงว่ากระตือรือล้นในการขับเคลื่อนตัวเอง แต่สำหรับประเทศไทย รัฐบาลยังคงเป็นผู้นำในการพัฒนา สิ่งสำคัญคือการทำให้ภาครัฐเข้าใจถึงเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้นปัญหาการโยกย้ายปรับเปลี่ยนข้าราชการทำให้ขาดความต่อเนื่อง และการจะสร้างขีดความสามารถอ่อนแรงลง  รวมทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ของภาครัฐยังขาดการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อผลักดันขีดความสามารถ และที่สำคัญ ภาคการเมืองจะต้องไม่นำเรื่องขีดความสามารถไปเป็นเครื่องมือในการหาเสียงกับประชาชนเป็นครั้งคราว


 


"โครงการนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งภาคการศึกษาที่ควรจะปรับนำความรู้มาเสริมในสิ่งที่เป็นไปได้  ภาคเอกชนและชุมชนก็จะต้องร่วมมือกันคิดจากตัวเอง ไม่หวังพิ่งรัฐมากไป ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้จะได้นำมาประเมินเป็นแผนปฏิบัติงานร่วมกันนายสุวิทย์  เมษิณทรีย์ในวันที่ 23 เมษายนนี้" นายณพงษ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net