Skip to main content
sharethis


ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 กันอย่างอึงมี่ ทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ จนแม้กระทั่งมีแนวความคิดที่จะขอพระราชทานคำแนะนำจากองค์พระมหากษัตริย์ และในฝ่ายของรัฐบาลเองที่ก็ได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 พ.ย.48 ให้เสนอร่างแก้ไขในบางส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาขององค์กรอิสระต่างๆ

 


ในฝ่ายแรกนั้นได้มีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "พระราชอำนาจกับการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา มีความคิดว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 313 ก่อนให้มีองค์กรที่จะเข้ามาแก้เป็นการเฉพาะ จากนั้นให้องค์กรที่จะมาแก้นี้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกที โดยองค์กรที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเงื่อนไข 3 ประการคือ 1.เป็นผู้เสียสละ 2.มีบารมี 3.มีอำนาจชี้นำประชาชนได้ แล้วนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยอาศัยพระบารมีที่จะให้พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำโดยผ่านประธานองคมนตรี


 


และคณะกรรมการที่ว่านี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มาจากการเสนอถวายรายชื่อโดยประธานองคมนตรี และการแนะนำจากคณะองคมนตรี 2 คน ประธานวุฒิสภา เสนอชื่อ 1 คน สภา
ผู้แทนเสนอได้ 2 คน โดยคนหนึ่งนั้นแนะนำโดย สส.ฝ่ายรัฐบาล อีกคนเป็น สส.ฝ่ายค้าน ดังนั้น จะได้
ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น จะได้คนที่เป็นกลางทั้งสิ้น 7 คน
มายกร่าง โดยมีประธานของคณะกรรมการพิเศษนี้เป็นผู้คอยรับพระราชทานข้อสังเกตของพระองค์เพื่อนำมาบรรจุไว้ในการยกร่าง


 


ในฝ่ายแรกนี้ ในความเห็นของผมแล้วเห็นว่า ออกจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับคณะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ (ส.ส.ร.) ผู้ยกร่าง รธน. ฉบับ พ.ศ.2540 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุว่าในส่วนของที่มาของ ส.ส.ร.นั้น มีที่มาจากหลากหลาย และมีการดำเนินการของประชาพิจารณ์ไปทั่วประเทศ และจนในที่สุดก็มีการทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย ซึ่งผมมองว่าที่มาของคณะผู้ร่างก็ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และน่าเชื่อถือในความเป็นกลางพอสมควร


 


ในส่วนของเนื้อหาสาระนั้น จริงอยู่ บางส่วน บางมาตรา มีปัญหาในทางปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขกันไป ที่สำคัญก็คือ ปัญหาส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการตีความเสียมากกว่า เนื่องเพราะเหตุพากันตีความไปในทางที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ไปเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือมิเช่นนั้นก็ตีความเสียจนที่ภาษากฎหมายเรียกว่า เกิดผลประหลาด (absurd) ทั้งๆ ที่บางทีถ้อยคำมีความชัดเจนอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องตีความ (in claris non fit interpretario)


 


เช่นกรณีที่รัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตีความกันไปตีความกันมาจนไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ถ้อยคำก็เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องคำพิพากษา เป็นต้น ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งเป็นการลบข้อความใน รธน.ไปถึงสี่มาตรา ที่ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุก (ม.216(4) ม.152 วรรคสาม (4) ม.260(7) และ ม.298 วรรคสาม)


 


แนวความคิดที่จะให้องคมนตรีมาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งยังจะขอรับพระราชทานรายละเอียดหรือข้อสังเกตของพระมหากษัตริย์เพื่อนำมาประกอบการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ให้ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมืองโดยใช่เหตุ เว้นเสียแต่จะขอพระราชทานคำแนะนำเป็นหลักการยกร่างฯ ในทำนองการขอพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการยกร่างรัฐธรรมนูญ


 


ในทางกลับกันคือฝ่ายที่เห็นว่าค่อยๆ แก้ไปที่ละประเด็นย่อยๆ ไป แทนที่จะแก้ในประเด็นใหญ่ๆ เป็นหมวดๆ ไปให้สอดคล้องกัน ซึ่งในที่นี้ก็คือฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงอยู่ในมือที่สามารถแก้ไข รธน.ได้อย่างง่ายดาย แต่กลับมาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นย่อยๆ หรือเล็กๆ น้อยๆ เช่น


 


ประเด็นแรกเริ่มจากมาตรา 3 ให้เพิ่มข้อความว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหากรรมการเลือกตั้งมีจำนวนไม่ครบองค์ประกอบตามที่กำหนดหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่" ซึ่งในประเด็นนี้ผมเห็นด้วย


แต่กังขาทำไมถึงจะต้องแก้เฉพาะการสรรหา กกต.เท่านั้น องค์กรอิสระอื่นๆ อีกที่จะต้องมีปัญหาทำนองเดียวกันนี้ ทำไมจึงไม่แก้เสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน


 


ประเด็นที่สอง ในมาตรา 4 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 225 ของ รธน.และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน


 


"ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีองค์ประกอบหรือจำนวนไม่ครบตามวรรคหนึ่ง แต่ไม่น้อยกว่า 10 คน และการสรรหาและเลือกบุคคลเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่า ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามมาตรา 261 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ"


 


ซึ่งก็หมายความว่า ต่อไปการคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีครบ 15 คน มีเพียง 10 คนขึ้นไปก็สามารถประชุมคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น เห็นว่าตัวเลข 10 คนนั้นไม่จำเป็น น่าจะให้เลือกกันเฉพาะที่มีอยู่ หรือไม่เช่นนั้นก็แก้ให้ผู้รักษาการหรือผู้ทำหน้าที่ประธานมีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนประธานตัวจริงเสียเรื่องก็จะง่ายขึ้น เกิดวันดีคืนดีพากันล้มหายตายจากกันไป เหลือไม่ถึง 10 คนขึ้นมา ปัญหาเดิมๆ ก็จะตามมารังควานอีก


 


ประเด็นสุดท้ายเขียนไว้ในมาตรา 5 ให้เพิ่มข้อความเป็นวรรคสองของมาตรา 257(1) ว่า


 


"ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนไม่ครบองค์ประกอบตามที่กำหนด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่"


 


อ่านดูเผินๆ แล้วก็น่าจะดี แต่อย่าลืมว่าในมาตรา 257(1) มีการแบ่งสัดส่วนหรือผู้ทรงคุณวุฒิไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งเลือกกันเองเหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็น ส.ส.พรรคละหนึ่งคนเลือกกันเอง 4 คน


 


ก็หมายความว่าคณะกรรมการสรรหาไม่จำเป็นต้องมีครบตามจำนวนก็ได้ ซึ่งคงจะดูพิลึกๆ นะครับ เลือกผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์ แต่ไม่มีกรรมการสรรหาทางนิติศาสตร์เลย หรือในทำนองเดียวกันหากจะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ แต่ไม่มีกรรมการสรรหาทางรัฐศาสตร์เลย


 


กล่าวโดยสรุปก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะทำเป็นระบบ มิใช่คอยตามแก้จุดเล็กจุดน้อยเหมือนคอยอุดเฉพาะส่วนก้นถังน้ำที่รั่ว แต่รูรั่วด้านข้างๆ ที่น้ำมีปริมาณไม่ถึงก็ปล่อยไว้ไม่ซ่อมแซม เมื่อจะใช้บรรจุน้ำที่มีปริมาณมากขึ้นก็ต้องไปปะผุกันอีกไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งๆ ที่สามารถทำได้ในคราวเดียวดังเช่นในกระบวนสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ว่ามาแล้ว และการที่จะโละทิ้งไปเสีย แล้วหาถังน้ำใหม่มาแทนโดยที่ถังน้ำเก่ายังใช้ได้ดีอยู่พอสมควร และพอซ่อมแซมได้ แต่ไม่กระทำ กลับไปฝากความหวังไว้กับถังน้ำใบใหม่แทน ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าจะใช้ได้ดีกว่าเดิม



 


แก้ไปแก้มาแทนที่จะดี กลับกลายเป็นเหมือนนิทานเรื่องลิงแก้แหที่ยิ่งแก้ยิ่งพันตัว จนสุดท้ายลิงตัวนั้นต้องจมน้ำตายไปในที่สุด


 


หมายเหตุ :


ในปัญหาที่กำลังถกเถียงกันในปัจจุบันว่าศาลปกครองไม่สามารถส่งตุลาการฯไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่มีผู้ใดสมัครใจไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบ 15 คน เป็นเหตุให้เลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้จนมีผลกระทบไปถึงการเลือกกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลายนั้น เห็นว่าการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ นั้น


 


รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 261 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งให้นำบทบัญญัติ 255 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยให้ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญเหลือไม่ครบ 15 คน ย่อมไม่เป็นเหตุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ไม่สามารถประชุมและเลือกเลือกกันเองได้แต่อย่างใด เพราะมาตรา 260 วรรคสอง บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในการประชุมและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


 


ส่วนการที่คุณวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความแล้วว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือเท่าไรให้ทำหน้าที่ต่อไปได้ หมายความถึงกรณีการพิจารณาคดีอย่างเดียว ส่วนการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้นั้น คงไม่ถูกต้องเพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านคงไม่สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเอง โดยยังไม่มีการยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นแต่เพียงการสอบถามธรรมดา จึงเป็นการให้ความเห็นที่ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 268 ที่จะต้องมีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด


 


อย่าลืมว่า"ศาล"ไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลนะครับ "ศาล" มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง คำวินิจฉัย เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเท่านั้น และการตีความกฎหมายก็ต้องตีความไปในทางที่ปฏิบัติได้ มิใช่ตีความแล้วทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้


 


..................................................


 


 


 


 


 


 


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net