Skip to main content
sharethis



 "อยากให้ผู้สื่อข่าวพาไปหานายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อบอกว่าขอให้นายกฯ สบายใจที่จะไม่ขอร้องความเป็นธรรมและยินดีที่จะนอนข้างถนนเพื่อชีวิต และอยากมอบโฉนดที่ดินที่มีตราครุฑที่เจ้าหน้าที่ออกให้โดยมิชอบคืนให้รัฐบาล 5 ชีวิตที่เหลืออยู่ ขอให้ท่านหาวิธีฆ่าให้จงได้"


 


ประโยคสะเทือนใจจากนางรัตนา สัจจเทพ พูดกับผู้สื่อข่าวหลังรู้ว่า รัฐสภาไม่ผ่านความเห็นชอบญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอเรื่องของเธอเข้ามาพิจารณาตามกระบวนการเยียวยาของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (อ่านเส้นทางการต่อสู้ของรัตนา สัจจเทพ เพิ่มเติม http://webboard.nationgroup.com/swb/view.php?rid=6&tid=359&PHPSESSID=869fcab90cafb51bc76575b974e41aa6)


 


สิ่งที่เธอยืนยันต่อจากประโยคข้างต้นคือ การยืนกรานว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านน็อคดาวน์ข้างถนนหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหาครไปตลอดชีวิต พร้อมกับลูก 3 คน และหลาน 1 คน เธอยืนยันว่า ทุกคนจะสู้และอยู่ด้วยกัน และพร้อมรับความเจ็บปวดที่เจ้าหน้าที่รัฐยัดเยียดให้


 


แน่นอนมันเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนเต็มขั้นคนหนึ่งอย่างมิพักต้องสงสัย แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน "ผู้ชม" เริ่มเกิดคำถาม ซึ่งบางเรื่องอาจจะมาจากสังคมวัฒนธรรม "สมาธิสั้น" ของไทยเองว่า "ทำไมไม่จบไม่สิ้น" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำถามในใจของหลายคน


 


แต่ "ผู้ชม" ที่ติดตามอย่างใกล้ชิดคนหนึ่ง ตั้งคำถามต่างไปจากนั้น.... "ครูยุ่น" มนตรี สินทวิชัย ส.ว. จากสมุทรสงคราม ซึ่งทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน เขากำลังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้ของคุณรัตนาซึ่งประกอบไปด้วยตัวเธอเอง ลูกสาวคนโต ลูกสาวคนกลาง วัย 23 ลูกชายคนเล็ก วัย 17 ซึ่งร่วมต่อสู้กับเธอมาตั้งแต่พวกเขายังเด็ก และสมาชิกร่วมต่อสู้คนใหม่คือหลานที่เกิดจากลูกคนโตอายุไม่ถึง 2 ขวบ


 


0 0 0


 


ประชาไททราบมาว่า ครูยุ่นติดตามและมีข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับกรณีการต่อสู้ของคุณรัตนา


ปรากฎการณ์ของคุณรัตนามีคนสนใจเยอะ และก็มีคนพูดถึงเยอะ ในลักษณะที่เป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและอดทนมาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี


 


สิ่งที่คนสนใจนั้น อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวของคุณรัตนาสะท้อนให้เห็นถึงหัวอกคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คงมีคนจำนวนมากและโดนใจคนเหล่านี้ คล้ายๆ กับสังคมไทยเราหิวความยุติธรรมและการได้รับการตอบสนองเรื่องความเป็นธรรม และคุณรัตนาก็ต่อสู้มาจนได้รับความสำเร็จ


 


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า การต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ นั้นต้องพิจารณาเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก จุดเริ่มต้นมาจากการฟ้องร้องเพื่อนบ้าน และนำไปสู่ปัญหาบานปลาย


 


ระยะต่อมา มีการร้องเรียนกับหลายๆ หน่วยงานราชการ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งอัยการยกคำร้องไป 2-3 คดี มีการกระทบกระทั่งและการกดดันเกิดขึ้น


 


ระยะสุดท้ายก็เกิดกระบวนการเยียวยา มีการเสนอชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินหลายเท่าของราคาบ้าน ผมก็ถือว่าได้รับสิทธิที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง


 


แต่ผมอยากให้ระวังคือ การเรียกร้องสิทธิ ต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่อาจจะมองว่าเป็นการเรียกร้องอภิสิทธิ์ ต้องไม่รู้สึกว่าเรามีสิทธิเหนือคนอื่น เช่นกรณีการตั้งบ้านน็อคดาวน์ที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ


 


ผมอยากเตือนกว้างๆ คือผมไม่ได้จะเจาะจงเตือนคุณรัตนานะครับ (หัวเราะ) คือการเรียกร้องสิทธินั้นเรามีกฎหมายใช่ไหมครับ แล้วก็มีหน่วยงานที่จะรับเรื่องร้องเรียน แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เราต้องไม่ทำในสิ่งที่เหนือกว่าคนอื่น


 


และประการต่อมาผมไม่รู้ว่าจะพูดดีไหม คือสังคมไทยโดยกระแสก็ได้สร้างคุณรัตนาขึ้นมาแล้วในฐานะนักต่อสู้


 


แต่สังคมไทยก็เป็นสังคมที่เมื่อเชิดชูใครแล้วคุณอย่าพลาด นี่เป็นเรื่องต้องระวัง อะไรที่มันเกินพอดีแล้วไม่จบสักที มันจะเกิดข้อสังเกตทันที และจะละลายทุกสิ่งที่ผ่านมา ที่เคยเชิดชูมันอาจจะพลิกกลับทันที


 


สิ่งที่คุณรัตนาทำกับกรณีของยายไฮมันก็เริ่มต้นจากจุดที่ไม่ต่างกันมาก คือเริ่มจากที่ดินของตนเอง แต่ทำไมจุดหมายปลายทางในประเด็นการยอมรับจากสังคมตอนนี้กำลังจะแตกต่างกัน


 


กรณีของยายไฮแกได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐโดยตรง เป็นเรื่องของผืนดินที่แกผูกพันมา มันไม่เหมือนกันตรงนี้นะ ยายไฮผูกพันต่อแผ่นดินที่แกเคยอาศัย เคยมีอาชีพเคยมีวิถีชีวิต


 


แต่กรณีคุณรัตนาเป็นเรื่องของการซื้อทาวน์เฮาส์ กรณีของยายไฮเป็นแผ่นดินของครอบครัวแต่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ แต่กรณีคุณรัตนา ทีแรกเป็นเรื่องเอกชนกับเอกชน และเป็นการเรียกร้องในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่


 


แต่นี่ก็เป็นสิทธิของชนชั้นกลาง และในแง่หนึ่ง กรณีของคุณรัตนาก็เป็นเรื่องของสิทธิผู้บริโภค และเขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง และกรณีของคุณรัตนาก็เป็นแบบอย่างของคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ


ผมคิดว่า ถ้าคนต่อๆ ไปจะเรียกร้องก็อาจจะไม่ได้รับการชดเชยเท่าคุณรัตนา บางคนอาจจะซื้อบ้านมาเจ้าของไม่ได้ทำตามสัญญา ซึ่งก็มีมาก


 


ถ้าพูดกันจริงๆ สังคมไทยเป็นสังคมละเอียด และบางมุมก็สรุปไม่ได้ง่ายๆ สมมติเช่น ต่างคนต่างร้องคดี ได้รับผลกระทบ บางทีสังคมไทยไม่ได้จะยึดเพียงหลักการ แต่มีเรื่องของท่าทีด้วย คน 2 คนเข้าไปด้วยประเด็นเดียวกัน อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่ากัน ซึ่งมันก็สะท้อนว่าสิทธิเสรีภาพมันยังไม่ได้เข้าไปในวิถีชีวิตของคนไทยจริงๆ


 


และด้วยท่าทีที่ไม่เหมือนกับเขาอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาค หรือถ้าคนทีเรียกร้องทีหลังคุณรัตนาอาจจะไม่ได้กระแสสังคมช่วยอีกก็ได้ เขาก็อาจจะถูกด่าว่าเอาอย่างเหมือนกรณีทุบรถ เพราะว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิการบริโภคยังไม่ได้เข้าไปสู่วิถีชีวิตคน และบางทีการตัดสินอะไรบางอย่างก็อิงกระแส


 


เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.) สภาผู้แทนราษฎรไม่รับพิจารณาเรื่องคุณรัตนา


ใช่ ทีนี้ ผมก็ไม่รู้ว่า คือตอนนี้ทุกคนไม่รู้ว่ามันจะจบตรงนี้หรือเปล่า และผมก็ไม่มั่นใจว่าจุดสรุปของเรื่องมันอยู่ตรงไหน แต่ทุกอย่างก็ต้องมีจุดสรุป อาจจะไม่ลงตัวเท่าทีเราคิด แต่มันก็ลงตัวเท่าที่เหมาะสมในทัศนะทางสาธารณะไง คือถ้าเราคิดว่ามันลงตัวเฉพาะเรา มันก็ต้องไปแลกกับการถูกตั้งข้อสังเกตนะ ใช่ไหมฮะ  อย่างไรก็ตาม ผมว่าถ้าถามผม...ไม่รู้นะ ในทัศนะผมเอง ผมอาจจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ในฐานะที่ผมอยู่กับคน อยู่กับเด็ก สิ่งที่เขาต้องการก็คือชีวิตที่ปกติสุข


 


เด็กทุกคนก็อยากให้หมอกควันหรืออะไรที่มันไม่ดีผ่านผู้ปกครองของเขาไปโดยเร็ว


 


แต่คุณรัตนาเองแกยืนยันว่า ลูกยินดีจะสู้กับแก


ผมไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวผม ผมมองต่างมุม ถ้าเป็นผม ผมจะไม่พูดแทน เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อนมากระหว่างผู้ปกครองกับลูกหลาน เขาสู้ด้วยตามแนวทางแล้วมันมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ใจเขาลึกๆ อยากจะจบไหม มันพูดยากนะครับ เพราะมันมีเรื่องของความผูกพัน ความเห็นใจ ความมีพระคุณ เข้ามาเจือปนเยอะนะครับ แต่ถ้าถามเด็กทุกคน เด็กก็อยากให้ชีวิตเป็นปกติสุข


 


แต่ว่าเราควรจะให้การตัดสินใจของเขาอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพที่สุด ต้องตัดเงื่อนไขอะไรต่างๆ ให้เขาสบายๆ ที่สุดในการตัดสินใจ ส่วนตัวเล็กๆ น่ะเขาไม่มีโอกาสตัดสินใจหรอก ทีนี้ผมอยากให้ชีวิตโดยปกติสุขกลับไปสู่ลูกหลานแกโดยเร็ว เพราะว่าแกต้องมีสังคม ต้องมีเพื่อน และผมอยากจะเรียนว่า ถ้าเรามีเพื่อนสักคน เราไม่อยากให้เพื่อนรักเราเพราะสงสารเราหรอก แต่เราอยากให้เพื่อนรักเราเพราะเป็นเรา ตรงนี้ผมว่าทุกคนก็อยากจะได้


 


การต่อสู้ทุกอย่างต้องมีสติ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ถ้าเรามีสติสำรวจตัวเอง เราจะรู้ว่า เราต่อสู้เพื่อตัวเราเอง สู้เพื่อสาธารณะ หรือสู้เพื่อลูกหลาน แต่ไม่ว่าคำตอบของการต่อสู้จะเป็นอย่างไร ถ้ามันเกี่ยวข้องกับเด็กแล้ว ถึงแม้เราจะสู้เพื่อตัวเองเพราะเราคาใจ มันไม่แล้วใจเรา เราก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กด้วย ถ้าเราชัดเจนว่า ประโยชน์สูงสุดของเด็กอยู่ตรงไหน....ผมอยากจะเรียนว่าในการทำงานของผมหลายครั้งก็จำเป็นต้องยอมแพ้นะ


 


เพราะอะไรจึงยอมแพ้


เพราะถ้าผมไปชนะแล้วเด็กไม่ได้ประโยชน์สูงสุด


 


ประโยชน์สูงสุดของเด็กคืออะไร


ถ้าเกิดปัญหาอะไร เราก็ต้องคำนึงว่า ถ้าเราเดินต่อน่ะได้ แต่เราต้องพิจารณาว่า เด็กจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเมื่อเทียบกับว่า ถ้าเราหยุดเดิน แล้วเด็กอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เราจึงต้องเลือก ซึ่งอาจจะดูเหมือนแพ้ในประเด็นที่เราต่อสู้นะ


 


แปลว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กนั้นต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป


ใช่ แต่เราทิ้งไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม ผมอาจจะสุดขั้วนะ แต่ผมว่าเด็กเขามีชีวิตของเขา เรามีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม คุ้มครอง และช่วยเขาค้นหาในสิ่งที่เขารักเขาชอบ และเราไม่มีสิทธิบอกให้เขาเดินตามเรา


 


ถ้ากรณีของคุณรัตนาเป็นบทเรียนสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่กำลังเรียกร้องสิทธิบางอย่าง ข้อพึงระวังของเขาคืออะไร


ข้อพึงระวังคือ 1.อย่าให้เด็กต้องเดินตามเราโดยไม่มีทางเลือก 2.ต้องคำนึงถึงว่า มีแนวทางอื่นๆ อีกไหมที่เขาจะได้รับประโยชน์มากกว่าแนวทางที่ใช้อยู่ 3.ต้องคำนึงถึงจิตใจพื้นฐานของมนุษย์ ว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ใครสงสาร แต่มนุษย์เกิดมาเพื่อมีกัลยาณมิตร และเป็นตัวของเขาเอง


 


ล่าสุด เมื่อสภาบอกว่าไม่รับเรื่อง คุณรัตนาก็ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าจะนอนข้างถนน และลูกหลานก็จะนอนข้างถนนด้วย ครูยุ่นมีข้อเสนอเฉพาะหน้าสำหรับกรณีนี้ไหม


แกพูดอย่างนั้นเลยเหรอครับ.....อย่าลืมว่าทุกอย่างที่เราทำ เด็กซึมซับหมด ผมไม่ได้จะวิจารณ์อะไรมาก แต่ถ้าเด็กจำแนวทางแบบเรา เขาจะมีความสุขจริงหรือเปล่าในอนาคต เขามีความสุขจริงหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ได้มีความสุขจริง มันน่าจะมีอะไรดีกว่านั้นไหม และจริงๆ แล้วเด็กต้องการนอนข้างถนนจริงหรือ เขาต้องการเห็นผู้ปกครองนอนข้างถนนจริงหรือ หรือว่าเขาต้องการชีวิตที่ปกติสุข


 


การบอกแทนและให้ทำตามนั้นเป็นการครอบครองเด็กมากเกินไปหรือเปล่า ผู้ใหญ่มีสิทธิที่จะคุ้มครองเด็กแต่ไม่ใช่ครอบครอง มันไม่เหมือนกันนะ


 


เด็กทุกคนจะต้องซึมซับประสบการณ์ในวัยเด็กและเขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นสมาชิกสำหรับสังคมเพื่อน เพื่อนร่วมงาน และเป็นพลเมือง เราจึงต้องระมัดระวังมาก เพราะขณะนี้ อย่างน้อยที่สุดการทดแทนเกิดขึ้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมสิ้นสุดแล้ว


 


และถึงแม้จะมีบางส่วนที่ค้างคาใจอยู่ แต่ผมก็มีคำถามว่า แล้วทำไมตอนนี้จึงดูเหมือนแย่กว่าตอนที่ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย โอเค ในช่วงหนึ่งจากการทาบ้านเป็นสีดำ มาสู่การเสนอทดแทนชดใช้ แต่ทำไมวันนี้เมื่อสภาลงมติไม่รับพิจารณา ทำไมต้องทำมากกว่าเดิม แล้วทำไมต้องให้เด็กๆ ได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม


 


ชีวิตที่ต่อสู้มันเป็นศิลปะ มันเป็นความงดงาม แต่อะไรก็ตามที่เป็นความโกรธมากเกินไป มันก็ไม่งดงาม ที่พูดนี่เป็นทัศนะส่วนตัว คุณรัตนาอาจจะมีอะไรที่พิเศษกว่านั้น แต่การต่อสู้ก็ต้องมีสติและมีความพอดี ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเพียงการเรียกร้อง ซึ่งมันต่างกันนิดเดียว


 


ถ้าเกิดว่าลูกๆ ของคุณรัตนาบอกว่า เขาโอเคกับสิ่งที่แม่เขาทำล่ะ


โอ้....ถ้าเขาโอเคอย่างที่เขาพูดจริงๆ เขาจะมีความสุขมาก เขาจะไม่ทุกข์หรอก เพราะเขาได้ร่วมเส้นทางการต่อสู้กับผู้ปกครองของเขา แต่ก็ต้องระวังว่า เราเป็นผู้ใหญ่ เราอาจจะสู้ทน แต่เด็กอาจจะทนสู้กับคุณก็ได้ ผู้ใหญ่กับเด็กนั้นเป็นเรื่องของอำนาจ แต่รูปแบบของอำนาจนั้นมีหลายอย่างแต่ว่า....เด็กต้องมีชีวิตของเขาไง


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net