Skip to main content
sharethis


ซุกรายได้จากหุ้น  ไม่เสียภาษี


เลิกบกพร่องโดยสุจริต  คิดแบ่งปันสังคม


 


โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา


                                                                                                                                


คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ตรวจสอบพบว่า


            1) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540  คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้โอนหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยที่ไม่ได้ชำระภาษีรายได้


            2) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 26,825,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะนั้นหุ้นดังกล่าวมีราคาซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาหุ้นละ 150 บาท ทำให้นายบรรณพจน์ได้รับผลประโยชน์ประเมินเป็นรายได้ คือส่วนต่างของราคาที่ซื้อขายกับราคาในตลาด เป็นมูลค่าประมาณ 3,755 ล้านบาท หากนำมาคำนวณภาษีต้องเสียภาษีจำนวน 1,389 ล้านบาท แต่ผู้มีเงินได้ก็มิได้ชำระภาษี


            3) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะนั้นหุ้นดังกล่าวมีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาหุ้นละ 150 บาท ทำให้นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับผลประโยชน์ประเมินเป็นรายได้ คือ ส่วนต่างของราคาที่ซื้อขายกับราคาตลาด เป็นมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาท  หากนำมาคำนวณภาษีต้องเสียภาษีจำนวน 67 ล้านบาท แต่ผู้มีเงินได้ก็มิได้ชำระภาษี


            ปัญหาจึงมีอยู่ว่า  กรณีที่มีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อในทันทีที่มีการโอนหุ้น เพราะผู้ซื้อได้รับหุ้นที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าสูงกว่าที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นดังกล่าวในทันที แล้วผู้รับโอนซื้อหุ้นต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่?


           


เรื่องทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนปี 2538 แล้ว โดยมีบุคคลผู้เป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้แก่พนักงาน  กรมสรรพกรได้มีคำวินิจฉัยที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ให้พนักงานผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวต้องคำนวณส่วนต่างของราคาหุ้นในตลาดกับราคาหุ้นที่ซื้อ เพื่อหามูลค่าแตกต่างทั้งหมด โดยถือว่าเป็นรายได้ของพนักงานที่ได้รับ จึงต้องนำมาคำนวณรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา


            คำวินิจฉัยนี้ ดร.อรัญ ธรรมโน เป็นหัวหน้าคณะพิจารณา ได้วางแนวทางการวินิจฉัยเอาไว้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าไม่ถือว่าความแตกต่างของราคาและมูลค่าเป็นเงินได้ที่ต้องประเมินเสียภาษี ต่อไป ก็จะมีผู้หลักเลี่ยงภาษี โดยขายหุ้นให้ราคาต่ำๆ แลกเปลี่ยนกับการจ่ายเงินเดือน หรือค่าเช่า หรือค่าจ้างเป็นตัวเงิน รัฐก็จะขาดรายได้ และไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา


            เมื่อผู้ซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ไม่ได้นำรายได้ดังกล่าวไปประเมินเพื่อเสียภาษีรายได้ ก็บังเอิญว่า "ฟ้ามีตา" 


จึงได้มีกรณีของคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ซื้อหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จากบิดา โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 5,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายหุ้นดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์มีราคาหุ้นละ 21 บาท เป็นผลให้นายเรืองไกร ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อหุ้นนั้นทันที (คำนวณมูลค่าจากส่วนต่างราคา) เป็นเงิน 54,000 บาท  


ในขั้นต้น นายเรืองไกรก็ไม่ได้นำผลประโยชน์ดังกล่าวไปคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี เช่นเดียวกับนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


แต่กรมสรรพากร ได้นำผลประโยชน์ที่นายเรืองไกรได้รับจากการโอนซื้อหุ้นนี้ ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี และแจ้งให้นายเรืองไกรไปชำระภาษีเพิ่ม จำนวน 21,000 บาท นายเรืองไกรก็ได้นำเงินไปชำระเรียบร้อยโดยไม่ได้อุทธรณ์


ต่อมา นายเรืองไกรได้อุทธรณ์การชำระภาษีเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการต้องเสียภาษีจากการได้รับโอนซื้อหุ้นนี้ คณะกรรมการอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยเรื่องนั้น และได้มีวินิจฉัยครอบคลุมถึงกรณีให้นายเรืองไกรต้องชำระภาษีเพิ่ม จากผลประโยชน์ในการซื้อหุ้นดังกล่าวว่า กรมสรรพากรเรียกเก็บถูกต้องแล้ว


ในประเด็นนี้  คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า กรมสรรพากรได้วินิจฉัยและดำเนินการมาถึงขั้นนี้ ถูกต้องแล้ว


            แต่เมื่อเกิดเหตุ มีผู้เทียบเคียงกรณีของนายเรืองไกร กับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จึงเกิดคำถามว่า กรมสรรพากรเลือกปฏิบัติต่อราษฎรอย่างนายเรืองไกร แตกต่างจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และภริยานายกรัฐมนตรี ได้อย่างไร 


กล่าวคือ เรียกเก็บภาษีแต่เฉพาะนายเรืองไกร แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กลับทำนิ่งเฉย ไม่เรียกเก็บ  จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ดับเบิลสแตนดาร์ด


            กรมสรรพากร ได้พยายามชี้แจงว่า กรณีของนายเรืองไกร เป็นความบกพร่องโดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ และอ้างว่าคอมพิวเตอร์คำนวณผิดพลาด เมื่อเห็นเป็นรายได้ก็นำมารวมคำนวณเสียภาษี โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบไม่รอบคอบ และกรรมการอุทธรณ์ที่วินิจฉัยไปถึงกรณีนี้ว่าให้นายเรืองไกรต้องเสียภาษีก็เป็นความผิดพลาด ไม่ได้ตรวจทานการพิมพ์คำวินิจฉัย


            และเมื่อมีการท้วงติงจากคณะกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภา สื่อมวลชน รวมทั้งมีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคฝ่ายค้าน  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมากล่าวหาว่านายเรืองไกรไม่เข้าใจข้อกฎหมาย และกรมสรรพากรก็ได้เรียกนายเรืองไกรไปรับเงินคืน


            เมื่อนายเรืองไกรไม่ยอมไปรับเงินคืน โดยให้เหตุผลว่าตนเห็นชอบว่าตนมีรายได้ ควรที่พลเมืองผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องเสียภาษีให้รัฐ และหากตนไปรับเงินคืน ในอนาคตตนอาจถูกเรียกภาษีย้อนหลัง ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มอีกจำนวนมาก  แต่แล้วกรมสรรพากรก็อุตส่าห์ออกเช็คส่งเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยคืน โดยส่งไปให้นายเรืองไกรถึงบ้าน บัดนี้ นายเรืองไกรก็แจ้งว่า ยังไม่นำเช็คไปขึ้นเงิน และจะไม่ไปขึ้นเงิน


            คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กรมสรรพากรไม่มีอำนาจคืนเงินภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดินไปคืนแก่นายเรืองไกร และได้วินิจฉัยว่าการซื้อขายหุ้นโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดหลักทรัพย์ ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้ซื้อแล้ว (ไม่ว่าจะขายหุ้นดังกล่าวหรือยังไม่ขายก็ตาม) จึงเป็นรายได้ที่พึงประเมินเพื่อเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรเอง เมื่อปี 2538


            คำชี้แจงของกรมสรรพากรที่อ้างว่า ขณะนี้ นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้ขายหุ้นที่ซื้อมาจึงยังไม่เกิดรายได้ จึงฟังไม่ขึ้น เพราะในความเป็นจริง หุ้นที่บุคคลทั้งสองซื้อมามีมูลค่าในตลาดสูง  การถือเอกสารใบหุ้นที่มีมูลค่าสูงกว่าที่ซื้อมา ก็ไม่ต่างอะไรกับการถือธนบัตร เพราะจะเปลี่ยนเป็นเงินสดเมื่อใดก็สามารถนำหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที


            คำชี้แจงของกรมสรรพากร เป็นคำชี้แจงที่ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของตนเมื่อปี 2538 จะอ้างว่า คำวินิจฉัยในปี 2538 เป็นกรณีนายจ้างขายหุ้นให้กับลูกจ้างก็ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นใครขายให้กับใคร หากขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดหลักทรัพย์ ก็ก่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นเงินได้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับหุ้นเช่นกัน


            และหากกรมสรรพากรจะละเลย ปล่อยให้ผู้ซื้อหุ้นกรณีดังกล่าว ไม่ต้องนำผลประโยชน์มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี   ต่อไปในวันข้างหน้า ผู้ซื้อก็จะนำหุ้นไปขายโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ และสร้างเรื่องว่าตนขายในราคาต่ำ ในราคาเท่าที่ซื้อมา ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก และหากทำต่อๆ ไปเช่นนี้ รัฐก็จะขาดภาษีจำนวนมาก และตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีปัญหาในระยะยาว


            กรมสรรพากร จึงต้องเรียกภาษี พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จากนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท


            คนที่อยู่ระดับสูงในสังคม มีเงินทองมากมาย มีทรัพย์สินมั่งคั่ง สมควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไปในสังคม


            เรื่องนี้ ขอสรรเสริญคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในความตรงไปตรงมา และกล้าหาญ เห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตน


 


  กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net