Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เตรียมตั้ง "ผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าสงขลา" ตามข้อเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม "กฟผ." แก้เกมถูกโวย ประกาศรับอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม ติดตามการปฏิบัติตามแผนสิ่งแวดล้อม ระบุคุณสมบัติต้องเป็นคนในพื้นที่ที่มาสมัครงานกับโรงไฟฟ้าฯ "อาจารย์มอ.ปัตตานี" มั่นใจ สูบน้ำ - ปล่อยน้ำหล่อเย็น ไม่กระทบคลองนาทับ


 


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 ธันวาคม 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนโรงไฟฟ้าสงขลา ครั้งที่ 2/2548 โดยนายสุเทพ โกมลภมร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน มีกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุม 40 คน


 


ที่ประชุมได้กำหนดกรอบการแต่งตั้งผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมและอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าสงขลา เพื่อป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยให้ความเห็นชอบต่อองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ 9 คน มีผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 เป็นประธาน ประมงจังหวัดสงขลา นักวิชาการในท้องถิ่น ผู้แทนชุมชนตำบลคลองเปียะ ตำบลป่าชิง ตำบลจะโหนง ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตำบลละ 1 คน เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนจากฝ่ายสิ่งแวดล้อม บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการและเลขานุการ


 


คณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมชุดนี้ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ให้เป็นไปตามที่ระบุในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา รวมทั้งให้คำเสนอแนะ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้งอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกจากประชาชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ที่สมัครเข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าฯ ให้ทำหน้าที่สอดส่องดูแล และติดตามการปฏิบัติตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะพิจารณาแต่งตั้งอาสาสมัครชุดนี้ ในช่วงการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปี 2550


 


นายนคร ศรีวิเชียรสมบัติ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา รายงานต่อที่ประชุมว่า การดำเนินโครงการคืบหน้าร้อยละ 4.83 ประกอบด้วย งานปรับถมที่เป็นส่วนใหญ่ และการก่อสร้างอุโมงค์น้ำลอด ส่วนการเก็บข้อมูลคลองนาทับ ที่บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีดำเนินการนั้น ได้รับรายงานเบื้องต้นแล้วว่า การสูบน้ำในคลองนาทับเพื่อใช้ในระบบหล่อเย็น ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำและแพลงค์ตอน เนื่องจากที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ห่างจากแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำถึง 9 กิโลเมตร โอกาสที่ตัวอ่อนของสัตว์จะติดเข้ามาในเข้าในเครื่องสูบน้ำมีน้อยมาก อีกทั้งน้ำในคลองใกล้โรงไฟฟ้ามีสภาพเป็นกรด ไม่เหมาะต่อการวางไข่ของสัตว์น้ำ


 


นายนคร กล่าวอีกว่า ตนได้รับหนังสือร้องเรียนมาจากชาวบ้านในตำบลป่าชิงว่า การถมที่สร้างโรงไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลป่าชิง จึงเสนอให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ และให้ขุดลอกคลองที่มีอยู่เดิมเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทางบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ของบริษัทฯ ยกเว้นเจ้าของพื้นที่อนุญาต และมีนักวิชาการมายืนยันว่า เมื่อดำเนินการแล้วจะแก้ปัญหาได้จริง


 


นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ ที่ปรึกษาบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เสนอว่า จะเชิญนักวิชาการเข้ามาศึกษาว่า การถมที่เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา สูญเสียพื้นที่รับน้ำไปเท่าไหร่ เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือไม่ หากพบมีสาเหตุมาจาการถมที่สร้างโรงไฟฟ้า ก็จะหาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไป


 


นายศราวุธ เจ๊ะโซ๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี ในฐานะหัวหน้าคณะเก็บข้อมูลคลองนาทับ กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า การสูบน้ำเข้าไปในระบบหล่อเย็น ไม่น่าจะกระทบกับสัตว์น้ำแน่นอน ถ้าอัตราการสูบน้ำอยู่ที่ 0.1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที่ ตามที่บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ เพราะน้ำจะไม่กระฉอก ส่วนการปล่อยน้ำที่ผ่านการหล่อเย็น ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำในคลองนาทับเช่นกัน ถ้าน้ำที่ปล่อยลงคลองมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณภูมิน้ำในคลองไม่เกิน 1 - 2 องศาเซลเซียส ตามที่บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ เพราะน้ำจะลดอุณภูมิลงเท่ากับอุณหภูมิน้ำปกติในคลอง เมื่อไหลไปประมาณ 800 - 1,000 เมตร


 


"ผมเกรงว่า เมื่อถึงเวลาดำเนินการจริง ทางบริษัทฯ จะไม่ทำตามที่ระบุไว้ ผมเลยเสนอให้ตั้งกรรมการติดตามตรวจสอบตลอดเวลาด้วย ส่วนน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นให้พักน้ำไว้ จนอุณหภูมิลดลงเท่ากับอุณหภูมิน้ำในคลองแล้ว จึงค่อยปล่อยลงคลอง และให้ตั้งมิเตอร์วัดอุณหภูมิในบ่อพักน้ำด้วย เพื่อให้ชาวบ้านมาตรวจสอบได้ตลอดเวลา ข้อเสนอนี้ทางบริษัทฯ โดยนายนครรับไปพิจารณาทุกประเด็น" นายศราวุธกล่าว


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net