Skip to main content
sharethis

ประชาไท—28 ม.ค. 2549 เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า กรมสรรพากร แถลงข่าวด่วนหวั่นประชาชนเลี่ยงภาษี หลังกระแสข่าวโจมตีกรมสรรพากรเลือกปฏิบัติ ในการจัดเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป ยันขายหุ้นตระกูลชินวัตร "ไม่ต้องจ่ายภาษี" ด้าน ก.ล.ต.โยนลูกให้ตลาดชี้แจงกรณี ทายาทนายกรัฐมนตรี รับโอนหุ้นจากแอมเพิล ริช กว่า 10% แต่ไม่ได้ทำรายการผ่านกระดานบิ๊กล็อตในวันที่ 20 มกราคม 2549 "ปชป." แฉแอมเพิล ริช ตระกูลชินถือหุ้นผ่านนอมินี ก่อน โอนให้ลูก


 


นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดแถลงข่าวด่วนบ่ายวานนี้ และถือเป็นการชี้แจงกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก หลังมีกระแสโจมตีว่ากฎหมายของกรมสรรพากรเอื้อต่อการขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ สัดส่วน 49.59%


 


เขากล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลจัดเก็บภาษี ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในบทบาทและหน้าที่ของกรมสรรพากร จึงได้เปิดแถลงข่าวขึ้น โดยยืนยันเหมือนเดิมว่า ตามกฎหมายของกรมสรรพากรแล้ว การซื้อขายหุ้นของบุคคลหรือกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อได้รับส่วนต่างจากการซื้อขายหุ้นแล้ว จะได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น ในกรณีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปดังกล่าว จึงถือว่า ถูกต้องตามข้อกฎหมายทุกประการ


 


"วันนี้เรามาคุยให้อยู่ในกรอบการทำงานของเรา ไม่เช่นนั้น จะเกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูกาลเสียภาษี ประชาชนอาจมีคำถามในบทบาทหรือการปฏิบัติงานของกรมสรรพากรได้ ดังนั้น จึงขอชี้แจงถึงกรณีการยกเว้นภาษีการขายหุ้นบริษัทดังกล่าว ว่า เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายทุกประการ ส่วนความเป็นธรรมหรือความถูกต้องของกฎหมายที่ควรมีการแก้ไขหรือไม่นั้น เป็นคนละประเด็น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเป็นผู้พิจารณา เพราะเราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น" นายศิโรตม์กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า กรมสรรพากรจะไม่ลำบากในการจัดเก็บภาษีจากกระแสข่าวดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เข้าไปสัมผัสกับประชาชนผู้เสียภาษี และเชื่อว่า ประชาชนจะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น


 


เขากล่าวด้วยว่า นอกจากกรมสรรพากรจะไม่คิดแก้ไขกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากรได้สอบถามไปยังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยว่า ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเขาปฏิบัติในแนวทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า เกือบทุกประเทศเขายกเว้นภาษีเงินได้แก่ผู้ซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุน ส่วนประเทศใดที่ยังมีการจัดเก็บ เขาก็เตรียมที่จะแก้ไข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า


 


นายศิโรตม์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีการยกเว้นภาษีการซื้อขายหุ้นของบุคคลในตระกูลของนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า จะไม่ขอพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และถือเป็นการฉายหนังเรื่องเก่า จะขอพูดเฉพาะบทบาทและหน้าที่ของกรมสรรพากรที่ทำตามกฎหมายเท่านั้น หากสื่อมวลชนท่านใดยังไม่เข้าใจ ก็จะจัดให้มีการสัมมนาในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความใจกันมากขึ้น และยังปฏิเสธให้คำนิยามของคำว่า รับหุ้นโดย "เสน่หา" โดยกล่าวว่า ยังไม่ได้ทำการบ้านในเรื่องดังกล่าวมา


 


โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ออกมาระบุว่าได้รับข้อร้องเรียนจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ว่ากรมสรรพากรเลือกปฏิบัติโดยไม่เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ได้รับหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร น้องสาว ครั้งแรกจำนวน 4,500,000 หุ้น ซึ่งอ้างว่าเป็นการให้โดยธรรมจรรยา น้องให้พี่ และครั้งที่ 2 จำนวน 26,825,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่หุ้นละ 150 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 140 บาท เมื่อคิดเป็นผลประโยชน์ที่จะต้องคำนวณเป็นเงินภาษีและต้องจ่ายให้รัฐ ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 แล้ว จะตกประมาณ 4,729 ล้านบาท


 


รวมถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์จำนวน 2,000,000 หุ้น เมื่อคำนวณเป็นเงินที่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐจะตกประมาณ 300 ล้านบาท


 


ในขณะที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากนายเรืองไกร ที่ได้รับหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดจากบิดา ประมาณ 21,000 บาท ถือว่ากรมสรรพากรมีการเลือกปฏิบัติชัดเจน


 


อย่างไรก็ตาม ในกรณีของนายเรืองไกร สรรพากรได้ออกมาระบุภายหลังว่า เป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิด และกรมสรรพากร ระบุว่า พร้อมที่จะคืนเงินภาษีที่เก็บคืนนายเรืองไกร


 


ด้านดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตนไม่มีความเห็นเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า หากมีการตกลงซื้อขายกันนอกตลาดแล้วมาทำการซื้อขายจริงในตลาด เพื่อเลี่ยงภาษี ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะในหลายกรณีที่มีการซื้อขายล็อตใหญ่ เขาก็ต้องไปตกลงกันก่อนอยู่แล้ว จากนั้นก็เข้ามาซื้อขายในตลาด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด


 


ก.ล.ต.สั่งตลาดรายงานหุ้นแอมเพิล ริช


ขณะที่นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึง กรณีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นางสาวพิณทองทา และ นายพานทองแท้ ชินวัตร รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN จำนวน 329 ล้านหุ้น จากแอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ ในราคาหุ้นละ 1.00 บาท โดยระบุเป็นการทำรายการในตลาด แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการทำรายการบิ๊กล็อตในกระดาน ว่า เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ในการตรวจสอบว่าทำไม รายการบิ๊กล็อตหุ้น SHIN จำนวน 329 ล้านหุ้น จึงไม่ปรากฏในกระดานบิ๊กล็อตตามวันที่ระบุในแบบรายงาน ส่วนสำนักงาน ก.ล.ต.คงไปขอดูรายละเอียดว่าทางบริษัทมีการแจ้งมาในแบบแสดงการได้มาและจำหน่ายไปของหลักทรัพย์ของกิจการก่อน


         


รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 20 มกราคม บริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ ซึ่งถือหุ้นชินคอร์ป 10.98% ได้ขายหุ้นให้นางสาวพิณทองทาและนายพานทองแท้ ในสัดส่วน 5.49% เท่ากัน ในราคาหุ้นละ 1 บาท


         


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รายงานต่อ ก.ล.ต.ชัดเจนว่า ได้จำหน่ายหุ้น 32.9 ล้านหุ้น (ขณะนั้น พาร์ 10 บาท) ให้กับบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ ซึ่งจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้น 100%


         


ปชป.ยันแอมเพิล ริช นอมินีชินวัตร


         


นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ปมการซุกหุ้นเพราะว่ามีประเด็นว่า การขายหุ้น ทำไมต้องให้แอมเพิล ริช มาโอนหรือขายหุ้นในราคา 1 บาท ให้แก่ลูกชายและลูกสาวตัวเอง ทำไมไม่ให้แอมเพิล ริช ขายให้เทมาเส็กโดยตรง ทำไมต้องโอนให้ลูกก่อนแล้วขาย เหตุผลก็คือว่า กลัวจะตอบคำถามไม่ได้ว่า แอมเพิล ริช คือใคร


         


ประเด็นที่ 2 แล้วทำไมต้องขาย ทำไมไม่เก็บหุ้นนี้ไว้ เพราะไม่จำเป็นต้องขาย คำตอบคือ ก่อนที่เทมาเส็กจะมาซื้อได้ตรวจสอบเบื้องลึกทางบัญชีทั้งหมด รวมทั้งตรวจสอบว่ามีใครบ้างเป็นผู้ถือหุ้น ปรากฏชัดเจนว่า แอมเพิล ริช แม้จะถือหุ้นโดยนอมินีก็ตาม แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ ครอบครัวชินวัตร ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ว่าหากจะขายก็ต้องขายให้หมด แม้กระทั่งหุ้นของนางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยานายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่มีเพียงแสนกว่าหุ้นก็ต้องขาย


         


นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หุ้นที่กล่าวถึง เป็นหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งตนได้เคยเขียนรายละเอียดในบทความทั้งหมดของแอมเพิล ริช และหุ้นดังกล่าวในหนังสือใครว่าคนรวยไม่โกงเล่มแรก โดยพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับหุ้นของแอมเพิล ริช แจ้งแต่ว่าขายไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าได้รับเงินมาแล้ว เพราะไม่ปรากฏในรายได้ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ หรือขายแล้วแต่ให้คนอื่นถือแทน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าของแอมเพิล ริช จะใจดีโยนเงินหมื่นกว่าล้านบาททิ้งไป เพราะตอนแอมเพิล ริช ซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณไปเมื่อปี 2542 ก็ไม่ใช่ถูกๆ ต้นทุนในขณะนั้น ราคาตลาดอยู่ที่ 40 บาท ก็ 10,000 กว่าล้านบาท แล้วอยู่ดีๆ จะมาขายหุ้นละ 1 บาท แค่ 300 กว่าล้านบาท เป็นไปไม่ได้


        


"คุณทักษิณตอบไม่ได้หรอกว่า แอมเพิล ริช ไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลคุณทักษิณ แต่ก็คงมีทางออก ต้องบอกว่า เขาไม่ใช่ผู้ถือหุ้นแอมเพิล ริช เหมือนที่เขาปฏิเสธตอนเรื่องซุกหุ้น" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว


         


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นการซุกหุ้นจริง พ.ต.ท.ทักษิณจะอ้างว่าเป็นความบกพร่องโดยสุจริตหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า รายการนี้บกพร่องโดยสุจริตไม่ได้ เพราะเป็นการแสดงเจตนาทุกอย่าง ชัดกว่าซุกหุ้นครั้งแรกเสียอีก แต่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีทางออก ซึ่งในแง่ของราชการต้องไม่เชื่อและต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องตรวจสอบเรื่องการนำเงินออกนอกประเทศ


         


ปชป.ชี้ ก.ล.ต.ผ่อนเกณฑ์เอื้อขายชิน


         


นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามตรวจสอบการขายหุ้นชินของตระกูลชินวัตร ตั้งข้อสังเกต ว่า การซื้อขายหุ้น เปิดเผยว่า การที่ แอมเพิล ริช ขายหุ้นให้บุตรทั้งสองของนายกรัฐมนตรี ในราคา 1 บาท น่าจะเกี่ยวข้องกับการโอนเงินจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศ ผ่านการซื้อขายหุ้น เพราะหากยังอยู่ในชื่อแอมเพิล ริช และขายให้กลุ่มเทมาเส็ก เงินที่ได้รับก็จะอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้น จึงหันมาใช้วิธีขายหุ้นให้บุตรทั้งสองของนายกรัฐมนตรี ในราคา 1 บาท เงินที่ออกไปต่างประเทศ เพียง 329 ล้านบาท แต่หลังจากรับหุ้นแล้ว ทั้งสองคน ขายในตลาดหลักทรัพย์ ในราคาหุ้น 49.25 บาท ส่วนต่างมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เงินส่วนนี้ ก็จะเขามาอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสามารถนำไปลงทุนหรือทำอะไรได้ง่ายขึ้น


          


"ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี เนื่องจาก แอมเพิล ริช จดทะเบียนในบริติส เวอร์จิน ได้สิทธิ ทางภาษีอยู่แล้ว" นายกรณ์ตั้งข้อสังเกต


         


ขณะเดียวกัน กรณี ก.ล.ต.ผ่อนเกณฑ์ ไม่ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ในหุ้นไอทีวี และแซทแทล และตั้งราคาเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หุ้นเอไอเอส แค่ 72 บาท ถือว่าเป็นการเอื้อต่อดีลการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก และทำให้รายย่อยสูญเสียประโยชน์


        


"เนื่องจากหาก ก.ล.ต.ไม่ผ่อนเกณฑ์ให้ ทุนสิงคโปร์ ต้องใช้เงินมากกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท หรือน่าจะมากกว่าแสนล้านบาท เพราะต้องหาเงินมาตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ เอไอเอสมากกว่า 72 บาท และต้องทำเทนเดอร์ ไอทีวี และแซทเทล ด้วย ซึ่งหากต้องใช้เงินมาก เทมาเส็กอาจจะไม่ซื้อชินคอร์ป ก็ได้ แต่จะเจาะจงซื้อเฉพาะเอไอเอส ที่เขาต้องการโดยตรงมากกว่า" นายกรณ์กล่าว


         


ครป.ประเมินต่างชาติถือชิน 70% แล้ว


         


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบการซื้อชายหุ้นชินอย่างกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และชี้แจงสังคมเป็นการด่วนอย่างน้อยก็ 3 ประเด็นที่ตลาดหุ้นต้องตอบสังคมว่าการซื้อขายครั้งนี้ ชอบมาพากลหรือผิดกฎหมายหรือไม่


         


ประเด็นแรก ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ครอบครัวและเครือญาตินายกฯ มีการเจรจาขายหุ้นชินให้กับบริษัทเทมาเส็กนั้น พบว่าระดับราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พบว่าผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ป ก็มีการขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง


         


ประเด็นที่สอง ในช่วงที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทชินจะขายหุ้นไปยังต่างชาติจากข้อมูลของ ตลท.ระบุว่า ราคาของหุ้นชินได้มีการปรับตัวขึ้นมากกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ และมีนักลงทุนหันมาสนใจมากกว่า 3 เท่า


         


ประเด็นที่สาม กรณีที่บริษัทเทมาเส็กซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติตั้งบริษัทตัวแทนหรือนอมินี ขึ้นมา 2 บริษัทคือบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ และบริษัทแอสเปน โฮลดิ้งส์ ซื้อขายหุ้นชินซึ่งรวมกันแล้วเทมาเส็กถือหุ้นกว่า 70% ซึ่งเกินกว่าเพดานกฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 49% พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายขัดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่


         


"เราเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ควรโน้มนำหรือตั้งธงว่าตรวจสอบแล้วไม่พบสัญญาณของการปั่นหุ้น ต้องตรวจสอบและต้องเคลียร์ทุกคำถามก่อนสรุปผล โดยในต้นสัปดาห์ ครป.จะไปยื่นร้องเรียนต่อนายกิตติรัตน์ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง หากนายกิตติรัตน์และกรรมการ ก.ล.ต.เพิกเฉย ครป.จะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 (3) ตรวจสอบข้อเท็จจริงดูว่าพฤติกรรมของนายกิตติรัตน์ และกรรมการ กลต.ทั้งคณะ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่"


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net