Skip to main content
sharethis


โดย นิตยสารรายสัปดาห์ พลเมืองเหนือ


 


ปัญหาความยากจนของคน อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด กำลังได้รับการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล หลังการลงพื้นที่คลุกวงในฝังตัวในพื้นที่ อ.อาจสามารถแบบ "เรียลลิตี้" ของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ขณะที่อีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็กำลังตั้งตารอการเยียวยาปัญหาความยากจนจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน


 


เหมือนเช่นภาคเหนือ ที่ไม่น่าเชื่อเลยว่ายังครองแชมป์ความยากจนเป็นอันดับสองของประเทศมายาว นานกว่าทศวรรษ ซึ่งข้อเท็จจริงกับภาพที่ฉาบภายนอกอาจดูเป็นความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ "เชียงใหม่" เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่กำลังถูกโถมทับด้วยโครงการเมกกะโปรเจ็กต์สารพัด มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดกว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือ แต่ด้านหนึ่งของเชียงใหม่กลับมีจำนวนคนยากจนและมีจำนวนครอบครัวยากจนมากที่สุดเป็นอันดับสองของภาคเหนือ และมีจำนวนคนลงทะเบียนปัญหาทางสังคมและความยากจนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง


           


สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปสถานการณ์ความยากจนในภาคเหนือ โดยระบุถึงข้อมูลในปี 2545 ที่พบว่า จ.ตาก มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดร้อยละ 30.13 รองลงมาคือ จ.อุทัยธานี ร้อยละ 29.17 และ จ.แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 23.18 ขณะที่ข้อมูลในส่วนของคนจนได้ระบุว่า จ.ลำปาง มีจำนวนคนยากจนมากที่สุดถึง 115,785 คน รองลงมาคือ จ.เชียงใหม่ มีจำนวนคนยากจน 114,766 คน และ จ.ตาก 107,806 คน


           


ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความยากจนของภาคเหนือที่เป็นอยู่นี้ ไม่ควรถูกกลบเกลื่อนด้วยภาพความเจริญที่ฉาบทับด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ ดังนั้น วันนี้จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็วและต้องพิจารณาจากข้อมูลที่แท้จริงจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเบ็ดเสร็จ


           


ในส่วนของความยากจนในระดับหมู่บ้านของภาคเหนือจากข้อมูล จปฐ. ปี 2546 ที่สภาพัฒน์ได้รวบรวมไว้ระบุว่า การสำรวจรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ซึ่งสำรวจทั้งสิ้น 14,890 หมู่บ้าน พบว่าหมู่บ้านที่มีรายได้น้อยที่สุดคือ "บ้านกองสุ่มเหนือ" หมู่ 6 .แม่ดง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 658 บาทต่อคนต่อปี


           


รองลงมาคือหมู่บ้านตุงติง หมู่ 11 .อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีรายได้เฉลี่ย 690 บาทต่อคนต่อปี และอันดับสามคือ บ้านแม่ระมีด หมู่ 17 .อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 744 บาทต่อคนต่อปี สภาพโดยทั่วไปของหมู่บ้านเหล่านี้เป็นหมู่บ้านชาวเขาเกือบทั้งหมดและอยู่ในพื้นที่สูงและทุรกันดาร ที่สำคัญยังพบว่าหมู่บ้านที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนน้อยที่สุดของภาคเหนือจำนวน 100 หมู่บ้าน อยู่ใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก ลำพูน และพะเยา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการพัฒนาในแต่ละด้านของหมู่บ้านที่ยากจนที่สุด 100 หมู่บ้านของภาคเหนือก็พบว่า การพัฒนาด้านความรู้การศึกษาเป็นสัดส่วนของดัชนีการพัฒนาที่อยู่ในระดับล้าหลังมากถึงร้อยละ 54.05 ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของการพัฒนาทั้งหมด


           


โดยผลพวงจากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาประชากรมีระดับการศึกษาต่ำและขาดโอกาสทางการศึกษา รองมาคือ การพัฒนาด้านการประกอบอาชีพและมีงานทำที่อยู่ในระดับล้าหลังถึงร้อยละ 52.22 ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาผลผลิตจากการทำไร่ที่ได้ผลไม่ดี อันดับสามคือ ความเข้มแข็งของชุมชนร้อยละ 37.40 ส่งผลต่อปัญหาการเรียนในชุมชน ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน ถัดมาคือ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 26.73 ด้านทรัพยากรธรรมชาติร้อยละ 22.43 และด้านสาธารณสุขร้อยละ 20.60


           


และจากข้อมูล จปฐ.อีกด้านหนึ่งก็พบว่า ภาคเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่ยากจนมากที่สุดของประเทศ แต่มีครัวเรือนที่ยากจนเป็นอันดับสองของประเทศ โดยในปี 2546 ภาคเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนยากจนที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีสัดส่วนร้อยละ 47.8 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 48.1 แต่หากพิจารณาจากจำนวนครัวเรือนที่ยากจน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนมากที่สุดคือ 1.29 ล้านครัวเรือน ส่วนภาคเหนือเป็นอันดับสอง มีครัวเรือนที่ยากจนจำนวน 848,182 ครัวเรือน


           


โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสัดส่วนครัวเรือนยากจนมากที่สุด ในปี 2546 พบว่ามีสัดส่วนครัวเรือนยากจนเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 81.4 รองลงมาได้แก่ ตาก ร้อยละ 66.5 และเชียงราย ร้อยละ 61.9 ขณะที่เชียงรายมีจำนวนครัวเรือนยากจนมากที่สุด ซึ่งในปี 2546 มีครัวเรือนยากจนถึง 117,806 ครัวเรือน ถือว่ามากที่สุดใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รองลงมาคือ เชียงใหม่ มีจำนวน 113,853 ครัวเรือน และนครสวรรค์ จำนวน 61,509 ครัวเรือน


           


และจากข้อมูลจำวนผู้ลงทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนล่าสุด พบว่า ภาคเหนือมีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.83 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งประเทศ 8.12 ล้านคน โดยภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรที่ลงทะเบียนเทียบกับทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12.94 และจ.เชียงใหม่มีผู้ลงทะเบียนปัญหามากที่สุดถึง 245,254 คน โดยทั้งภาคเหนือมีผู้ลงทะเบียนปัญหาไว้มากถึง 2.93 ล้านปัญหา ซึ่งเรื่องหนี้สินภาคประชาชนถูกลงทะเบียนไว้มากที่สุด 1,122,810 ปัญหา รองลงมาคือ ปัญหาที่ดินทำกิน 1,058,820 ปัญหา และปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนมีจำนวน 350,476 ปัญหา


 


"โมเดลอาจสามารถ" กำลังถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนอาจสามารถ แต่จะเป็นโมเดลต้นแบบแก้ความยากจนให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีใครกล้ายืนยัน เพราะในข้อเท็จจริงทุกพื้นที่นั้นล้วนแตกต่างในเชิงโครงสร้างและสภาพแวดล้อม เฉพาะพื้นที่ภาคเหนืออาจต้องเปิดเวที "เรียลลิตี้" ดูอีกสักครั้ง เพราะปัญหาความยากจนของภาคเหนือซ้ำซากและเรื้อรังมานับทศวรรษแล้ว


 


********************


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net