Skip to main content
sharethis



ภาพฝูงชนเดินขบวนประท้วง ชูป้ายเรียกร้องคำขอโทษจากผู้นำเดนมาร์ก ขว้างปากองหิน เผาอาคารสำนักงานของชาวยุโรป และเผาสถานทูตตามเมืองต่างๆ ในเขตชุมชนมุสลิม ตั้งแต่ซีเรีย เลบานอน ปากีสถาน อัฟกานีสถาน อิหร่าน อินโดนีเซีย  

 


เป็นภาพของความรุนแรงและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีมูฮัมหมัด ศาสดาศาสนาอิสลาม จำนวน 12 ภาพ ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์จิลแลนด์-โพสเทน ในประเทศเดนมาร์ก เมื่อ ก.ย. 2548 และได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกมากกว่า 11 ก๊อปปี้ ในอีกหลายประเทศในยุโรป


 


รวมถึงเหตุการณ์ในเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา เมื่อชาวมุสลิมหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน ขว้างปาก้อนหินเข้าไปในโบสถ์คาทอลิกมาโรไนท์ และจุดไฟเผาอาคารของสถานทูตเดนมาร์กในกรุงเบรุต ภายหลังจากเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำเลบานอนเดินทางออกมาจากสถานทูตไม่กี่ชั่วโมง


 


เป็นภาพที่แสดงถึงความโกรธเคืองของผู้คนชาวมุสลิม ที่ปะทุขึ้นมาจากความคับแค้นใจและความรู้สึกถูกดูถูกจากชาวคริสต์ในประเทศยุโรป


 


โดยสาเหตุของความขุ่มมัวและไม่พอใจของชาวมุสลิมในเลบานอนครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในเลบานอนและไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพียงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมทั่วโลกและมีเหตุการณ์ต่อเนื่องกันมานานกว่า 1 สัปดาห์และเข้าสู่กลางสัปดาห์นี้ ด้วยความวุ่นวายและรุนแรงขึ้นเป็นอันดับ


 


ซึ่งรายงานล่าสุดจากสำนักข่าวเอบีซีระบุว่า มีผู้ประท้วงชาวมุสลิมจำนวน 4 รายเสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลาย 10 คน ในอัฟกานีสถาน หลังจากการปะทะกันระหว่างฝ่ายมุสลิมผู้ชุมนุมกับตำรวจอัฟกันที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์การเดินขบวน


 


ความไม่พอใจของชาวมุสลิมทั่วโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีมูฮัมหมัด ศาสดาศาสนาอิสลาม จำนวน 12 ภาพ โดยหนังสือพิมพ์จิลแลนด์-โพสเทน หนังสือพิมพ์รายวันในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเสนอภาพการ์ตูนล้อศาสดานบีมูฮัมหมัดในหลากหลายอิริยาบถ รวมทั้งภาพนบีมูฮัมหมัดสวมหมวกโพกศรีษะที่มีรูปร่างคล้ายระเบิด และภาพนบีมูฮัมหมัดนั่งประชุมกับนักรบระเบิดพลีชีพในสวรรค์ ซึ่งนับว่าเป็นภาพที่แสดงความดูหมิ่นศาสดาของชาวมุสลิมอย่างรุนแรง รวมทั้งเป็นการสร้างอคติต่อชาวมุสลิมในสายตาของชาวโลก


 


มิหน่ำซ้ำภาพการ์ตูนทั้ง 12 ภาพที่หนังสือพิมพ์จิลแลนด์-โพสเทน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ก.ย. 2548 ยังถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์แม็กกาซิเนตในนอร์เวย์ หนังสือพิมพ์ฟรองซ์ ซัวร์ของฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ดี เวลท์ของเยอรมัน และยังถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นอกยุโรปอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์นิวส์ คอร์ป. ในออสเตรเลีย หนังสือพิมพ์ซาราวัค ทรีบูนในมาเลเซีย


 


จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออ้างเสรีภาพสื่อในการนำเสนอความคิดและความรู้สึกของสังคมตามที่หนังสือพิมพ์ยุโรปให้เหตุผลของการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนก็ดี แต่การตีพิมพ์ภาพหรือเผยแพร่ภาพของนบีมูฮัมหมัดและพระอัลเลาะห์ซึ่งเป็นศาสดาและพระผู้เป็นเจ้าของชาวมุสลิม เช่นที่หนังสือพิมพ์เดนมาร์กและอีกหลายฉบับกระทำนั้น นับเป็นการหมิ่นประมาทและผิดหลักศาสนาอิสลาม ที่ระบุว่า ห้ามวาดหรือจินตนาการภาพนบีมูฮัมหมัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม


 


ความไม่พอใจของชาวมุสลิมในเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ประชากรมุสลิมในซีเรียบอยคอตสินค้าจากเดนมาร์กและเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์จิลแลนด์-โพสเทนกล่าวขอโทษกับการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทชาวมุสลิมดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ควบคุมห้ามปรามการกระทำที่ไม่เคารพศาสนาอื่นของสื่อมวลชนในประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.


 


แต่คำขอร้องของชาวซีเรียกลับได้รับการปฏิเสธจากนายกรัฐมนตรีอันเดรียนส์ ฟ็อก์ แรสมูซเซน ของเดนมาร์ก ซึ่งปฏิเสธการขอโทษและระบุว่า "การกระทำ (การขอโทษ) เช่นนั้น จะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูดในที่สาธารณะของสื่อมวลชน"


 


ด้วยการยืนยันรักษาเสรีภาพสื่อโดยละเลยการเคารพในการนับถือศาสนาของผู้อื่นเช่นนี้ จึงเป็นเหมือนลูกไฟก้อนใหญ่ที่โยนลงมาราดลงความรู้สึกเจ็บแค้นและถูกดูถูกที่ชาวมุสลิมรู้สึกอยู่ในมากขึ้น จนนำไปการเผาอาคารสถานทูตเดนมาร์กและนอร์เวย์ในประเทศมุสลิมหลายประเทศ


 


ก่อเกิดเป็นอันตรายของชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิมและชุมชนชาวมุสลิมทั่วโลก เช่นในกาซ่ามีการขู่ลักพาตัวชาวต่างชาติจากยุโรป มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานของสหภาพยุโรป และงดใช้สินค้าที่มาจากนอร์เวย์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมัน และทำให้รัฐบาลนอร์เวย์กับเดนมาร์กต้องเรียกตัวเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่การทูตในเลบานอน ซีเรีย กลับประเทศเพื่อความปลอดภัย


 


ซึ่งในวันนี้ (7 ก.พ.) รัฐบาลเดนมาร์ก ก็ได้เตือนให้ชาวเดนมาร์กที่ท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในอินโดนีเซียเดินทางกลับประเทศ ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียได้เตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศตะวันออกกลางจนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ความสงบ


 


เนื่องจากการประท้วงได้ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลกที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ เช่น ในปากีสถานตะวันออก อิหร่าน อัฟกานีสถาน อินโดนีเซีย และประเทศไทย


 


ความกดดันและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ นายฮัสซัน อัล ซาบาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยของเลบานอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์จนทำให้เกิดการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ และปะทุขึ้นจนนำไปสู่ความรุนแรงและบานปลายออกไป


 


ขณะที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซาราวัค ทรีบูน ในมาเลเซีย ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการโดยสมัครใจ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ที่ได้นำภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีโมฮัมหมัดมาตีพิมพ์ซ้ำ


 


แต่เมื่อเวลาล่วงเลยเข้าสู่กลางสัปดาห์นี้ แม้จะมีคำขอโทษชาวมุสลิมออกมาจากปากของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จิลแลนด์-โพสเทน แล้วก็ตาม แต่การยืนยันที่จะปกปักรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อ โดยไม่เคารพและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางศาสนาอิสลามของนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ก็เป็นชนวนสำคัญของการปะทุขึ้นของฝูงชนชาวมุสลิมในเมืองต่างๆ ทั่วโลก


 


แม้ว่า นายโคฟี อันนัม เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะออกมาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านการตีพิมพ์การ์ตูนภาพนบีมูฮัมหมัด และขอให้ชาวมุสลิมยอมรับคำขอโทษจากหนังสือพิมพ์เดนมาร์กที่เป็นผู้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนชุดดังกล่าว แล้วก็ตาม


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นทั้งคำเตือนและบทเรียนต่อสื่อมวลชนทั่วโลกให้เพิ่มความระมัดระวังและเคารพในพลังความเชื่อศรัทธาต่อศาสนาของทุกผู้คน เช่นที่บทความของ โซเฟีย ซิลลาคยี คอลัมนิสอินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน กล่าวว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ควรระมัดระวังกับเรื่องเหล่านี้ให้มาก เพราะในยุคของข้อมูลข่าวสารที่ส่งข้ามผ่านโลกทุกวันนี้ ย่อมทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างคุณค่าและเสรีภาพในการสื่อสารกับการถกเถียงอภิปรายในเรื่องของอิสลามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


"ในโลกที่เชื่อมต่อกันนี้ ความเชื่อของสังคมและความตึงเครียดทางการเมืองย่อมทำให้เกิดความโกรธแค้นและลุกเป็นไฟได้ทันที ด้วยคำพูดหรือการแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ไม่กี่คำและไม่กี่ประโยค " ซิลลาคยี กล่าว


 


ความรุนแรงที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในกลุ่มชาวมุสลิม ซึ่งทำลายข้าวของ อาคารสถานที่ และเผาธงชาติเดนมาร์กและประเทศในยุโรปอีกหลายชาติด้วยความโกรธเคืองนั้น เป็นภาพที่น่าเศร้าพอๆ กับน่าหวาดหวั่นต่อการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม


 


แต่ความต่างก็ไม่ควรนำไปสู่การทำร้ายชีวิตและทำลายกันได้รุนแรงสาหัสถึงขั้นนี้


 


ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อโดยละเลยความรับผิดชอบของผลที่เกิดจากเสรีภาพนั้น ก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่สื่อที่ดีพึงกระทำด้วย


 


ก่อนความโกรธแค้นจะทำร้ายทำลายให้เกิดความโกลาหลและเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนไปมากกว่า หนทางที่จะยุติความรุนแรงจึงมีคำตอบอยู่ที่คำขอโทษของผู้นำเดนมาร์ก และการให้อภัยของชาวมุสลิมทั่วโลกนั่นเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net