Skip to main content
sharethis


 


ขณะที่สังคมไทยกำลังร้อนระอุด้วยประเด็น จริยธรรมของผู้นำ และปัญหาการเมืองที่ยังคงหาทางออกไม่ได้ ในอีกด้านหนึ่ง เครือข่ายธรรมโฆษณ์ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมหวังระดมธรรมอันเย็นฉ่ำให้กลับคืนสู่สังคมไทย เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่านพุทธทาส แห่งวัดสวนโมกขพลาราม ในปี 2549 นี้


 


"สวนโมกข์เสวนา" เป็นกิจกรรมแรกที่เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และจะจัดติดต่อกันไปทุกเดือนตลอดทั้งปีนี้ ท่ามกลางสังคมที่ดูเหมือน "วิปริต" มากขึ้นเรื่อยๆ วงเสวนาครั้งแรกนี้จะมาคุยกันเรื่อง "มองอนาคตผ่านฐานคิดและชีวิตพุทธทาส"


 


พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า หากเราต้องการมองไปยังอนาคต หลักคิดของพุทธทาส เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามองเห็นความวิปริตที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ขณะเดียวกันก็ตระหนักรู้ว่ามนุษย์สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วยอาศัยธรรมะ เหมือนที่ท่านพุทธทาสพยายามทำโดยตลอดชีวิตของท่านด้วยปล่อยวาง แต่ท่านปล่อยวางโดยไม่งอมืองอเท่า


 


สิ่งที่เราต้องทำคือการนำศีลธรรมกลับคืนมาสู่สังคมที่นับวันจะยุ่งเหยิง เพราะขณะนี้ศีลธรรมดูเหมือนจะวิ่งไล่ไม่ทันความชั่วร้ายของยุคสมัย ความชั่วทุกวันนี้พัฒนาตัวเองไปจนสามารถอำพรางให้คนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาได้ หรือทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องชอบธรรมขึ้นมาได้


 


อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของความชั่วก็สะท้อนความล้มเหลวของธรรม เนื่องจากศาสนาไม่ได้สนใจที่จะสร้างจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเลย ซึ่งพระไพศาลขยายความว่า โลกสมัยใหม่มีแหล่งกำหนดจริยธรรมในสังคมใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงศาสนาเกิดขึ้นมาก แม้กระทั่งระบบทุนนิยมก็เข้ามาแย่งชิงการกำหนดจริยธรรมในสังคม


 


"ทุนนิยมบอกว่า การใช้ซีดีเถื่อน ไม่มีลิขสิทธิ์เป็นเรื่องผิด ถือว่าเป็นการขโมย แต่การเอาเปรียบแรงงาน ใช้แรงงานทาส อย่างนี้ทุนนิยมไม่ถือว่าเป็นการขโมย มันจึงมีปัญหามาก" พระไพศาลกล่าว


 


ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า การชิงพื้นที่ของศีลธรรมนั้น จะต้องเข้าไปในวิถีชีวิต ในตลาดหุ้น ในวงการธุรกิจ สถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งท่านพุทธทาสให้ความสำคัญมากว่า ต้องทำให้การเมืองมีศีลธรรมเสียก่อน จะต้องขยายคอนเซ็ปเรื่องบาปบุญให้ทันกับโลกสมัยใหม่ และจะต้องทำให้สังคมเห็นว่า ศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น เพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นศีลธรรมให้กลับคืนมาในสังคม ไม่เช่นนั้นแล้วท้ายที่สุดศีลธรรมจะกระจุกอยู่กับคนกลุ่มน้อย เหมือนเกาะกลางทะเลที่ตัดขาดจากคนอื่นๆ ในสังคม


 


ทั้งนี้ สมรภูมิทางศีลธรรมที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่จิตใจ จะสู้กับความวิปริตได้ ต้องเริ่มต้นที่ใจเสียก่อน ต้องฟื้นฟูโลกุตรธรรมในตนเองเสียก่อน แล้วขยายจากตัวเองไปสู่ผู้อื่น


 


รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พุทธทาสเคยกำหนดความวิปริตไว้ใน 3 มิติ คือ 1. ศาสนิกเข้าไม่ถึงศาสนาแห่งตน 2. ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาเลวร้าย 3. วัตถุนิยมเฟื่องฟู หรืออีกนัยคือ เงินได้เข้าไปครอบครองควบคุมกิจการทุกอย่าง


 


"ท่านพุทธทาสกำลังบอกว่า พลังวัตถุเข้มแข็งมากจึงเกิดวิกฤต และวิกฤตินี้สะท้อนว่า พลังความถูกต้องนั้นอ่อนแอ ศาสนาอันเป็นตัวกำหนดความถูกต้องที่สำคัญนั้นอ่อนแอ" รศ.ดร.สุวรรณากล่าว


 


รศ.ดร.สุวรรณา อธิบายเรื่องความถูกต้องเพิ่มเติมว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีวิธีคิดถึงที่มาของความถูกต้องมากจาก 4 แหล่งใหญ่ๆ คือ 1.ความถูกต้องที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นความสัมพันธเชิงครอบครัวที่มนุษย์นับญาติกับธรรมชาติ เช่น อินเดียนแดงนับตัวเองเป็นพี่น้องกับต้นสน


 


"เมื่อก่อนคนเห็นแม่น้ำเป็นสายเลือดของบรรพบุรุษ แต่ตอนนี้น้ำคือไฮโดรเจนสองออกซิเจนหนึ่ง มองน้ำในฐานะเป็นวัตถุสสารเท่านั้น มิติอื่นหายหมด" รศ.ดร.สุวรรณากล่าว


 


2.ความถูกต้องที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับประวัติศาสตร์ บรรพชน เช่น ขงจื้อ เชื่อในตัวอย่างความดีงามของกษัตริย์ในอดีต


 


3. ความถูกต้องที่มากจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า จะพบมากในศาสนาเอกเทวนิยม ซึ่งบ่อยครั้งมีความชัดเจน เช่น บัญญัติ 10 ประการของคริสต์ศาสนา แต่บ่อยครั้งก็ไม่ชัดเจน เช่น เจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร ยกตัวอย่างบทที่ 1 ของคัมภีร์ไบเบิล ที่มนุษย์ละเมิดไปกินผลไม่แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว ทำให้เกิด "ความอาย" อันเป็นสำนึกในศีลธรรมข้อแรกของมนุษย์ ซึ่งความอายนั้นเกิดจากการถูกมองจากสังคม แต่เมื่อสมัยนั้นยังไม่มีสังคม เหตุใดมนุษย์ชายหญิงคู่นั้นจึงอาย นักวิชาการบางคนจึงอธิบายว่า "เมื่อมนุษย์รู้จักศักยภาพในการควบคุมความอยากของตน รู้ว่าควบคุมความอยากได้ แต่ไม่ควบคุม มนุษย์จึงอาย"


 


4. ความถูกต้องที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์กับสภาวธรรม ซึ่งเป็นวิถีของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสเองพูดถึงความปกติที่สื่อถึงความสุข และความปกติก็คือธรรมชาติ ซึ่งเห็นว่าสัจธรรมเป็นกฎ และจริยธรรมเป็นหน้าที่ เวลาพูดถึงธรรมมะ ท่านพุทธทาสหมายถึงหน้าที่ สิ่งที่เราต้องทำไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และมีสถานะเหนือคำอธิบายใดๆ ของสังคม


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.สุวรรณา ยังอธิบายลักษณะของความถูกต้องว่าโดยหลักแล้วมีอยู่ 5 แบบ คือ 1.ความถูกต้องเชิงกฎหมาย 2.ความถูกต้องแบบการเรียกร้อง เช่น พระเจ้าเรียกร้องให้รักเพื่อนมนุษย์ 3. ความถูกต้องแบบเมตตา เช่น พ่อแม่มีความรักลูก 4.ความถูกต้องแบบพันธะหน้าที่ 5. ความถูกต้องที่มาจากประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่


 


ทั้งนี้ ท่านพุทธทาสเน้นความถูกต้องแบบหน้าที่มากกว่านักคิดเถรวาทอื่นๆ ที่ผ่านมา ผ่านการอธิบายเรื่องธรรมะคือธรรมชาติ


 


รศ.ดร. สุวรรณา กล่าวด้วยว่า สังคมไทยในอดีตมีความถูกต้องแบบเมตตาค่อนข้างสูง จะเห็นได้จากความอดทน และการลืมง่าย (ให้อภัยง่าย) แต่ปัจจุบันนี้สังคมไทยพยายามพัฒนาความถูกต้องในแง่กฎหมายมากขึ้น โดยที่ความถูกต้องแบบเดิมกำลังอ่อนแอ ความต้องแบบใหม่ก็ยังต้องพัฒนาไปอีกมาก


 


แม้รศ.ดร.สุวรรณาไม่ได้กล่าวไว้ แต่เราก็คงสรุปได้เองว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาอันตรายสำหรับสังคมไทย เพราะความดีงามทุกอย่างอยู่ในสภาวะอ่อนแอเหลือเกิน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net