Skip to main content
sharethis




 

นอกเหนือจากนโยบายที่มีผลกระทบต่อรากหญ้าอันได้แก่นโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น   นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกฆ่าตัดตอน   ฯลฯ   รัฐบาลทักษิณยังมีนโยบายสาธารณะอีกหลายเรื่องที่ล้วนเป็นเรื่องใหญ่   และมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง     นับตั้งแต่การดำเนินนโยบายเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี  การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  นโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน  น้ำ  และป่าไม้  นโยบายด้านสาธารณสุข  การศึกษาที่สำนักข่าวประชาธรรมจะนำเสนอเป็นตอนต่อจาก นโยบายที่มีผลกระทบต่อรากหญ้า


 


เมกะโปรเจ็กต์ "น้ำ" และต่างชาติ


 


ในช่วงปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณตามแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ (Mega Project) ในช่วงปี 2549-2552   ในการบริหารจัดการน้ำตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอจำนวน  2.4 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ  12  ของงบประมาณการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหมด


 


ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจะดำเนินการทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ  โดยกำหนดแนวทางการจัดการลุ่มน้ำตั้งแต่การจัดการต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ


 


การจัดการต้นน้ำ จะเน้นที่การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การก่อสร้างฝายต้นน้ำ และการปลูกหญ้าแฝก  รวมงบประมาณการจัดการพื้นที่ต้นน้ำ  5,657.99 ล้านบาท


 


การจัดการกลางน้ำ  ประกอบด้วย  1.ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยการขุดลอก  ทำฝายยาง  ประตูน้ำจำนวน 371 แห่ง    2.สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก/กลางและใหญ่จำนวน  151,871  แห่ง


3.จะจัดทำระบบส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำไฟฟ้า  เชื่อมโยงน้ำที่มีปริมาณมากเกินความต้องการไปยังแหล่งน้ำอื่นที่มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น และจัดทำระบบประปาภูมิภาคจำนวน 240 แห่ง  4.จัดการน้ำอุปโภค-บริโภคจำนวน  2,166 แห่ง   และ 5.การป้องกันน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัยด้วยการก่อสร้างคันปิดล้อม แก้มลิง  โครงการผันน้ำ  รวมงบประมาณการจัดการพื้นที่กลางน้ำทั้งหมด  190,093.62 ล้านบาท


 


การจัดการปลายน้ำและชายฝั่ง   ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม   2.การจัดการน้ำเสียชุมชน   และ 3.ระบบนิเวศท้ายน้ำ ฟื้นฟูป่าชายเลนงบประมาณ 208.50 ล้านบาท รวบงบประมาณการจัดการท้ายน้ำและชายฝั่งทั้งหมด 2,759.80 ล้านบาท   และงบประมาณการบริหารจัดการ  4,573.01 ล้านบาท


 


อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตว่างบประมาณที่ใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 25 ลุ่มน้ำนั้น  จัดเป็นงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างสูงถึง 1.68 แสนล้านบาท  ตั้งแต่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ  สระน้ำ เหมืองฝาย ประตูระบายน้ำ  ระบบสูบน้ำ  การก่อสร้างแก้มลิง  และโครงการผันน้ำ  เป็นต้น 


 


หลังจากที่ ครม.รับหลักการเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินโครงการแล้ว  ก็ปรากฏว่าในช่วงปีเดียวกันนี้เอง (ธันวาคม  2548)  นางสุดารัตน์  เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เร่งรีบดำเนินการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำอย่างไม่รอช้า   พร้อมกับการเปิดให้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ  เช่น โครงการวัวนม  โคนม อาหารและเรืออวนล้อม   โดยได้มีการเสนอโครงการให้แก่เอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ  เพื่อพิจารณาโครงการแล้ว


 


โครงการที่จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.การติดตั้งระบบเพื่อบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง   ที่จะต้องบริหารทั้งเรื่องการหาน้ำ  การใช้น้ำของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม  2.การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่นการสร้างอ่าง และเขื่อนต่างๆ ใน 25 ลุ่มน้ำ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ซึ่งประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น   3.การบริหารน้ำในพื้นที่ที่เป็นฟาร์ม  โดยเปลี่ยนจากระบบท่อส่งน้ำแบบชลประทานเป็นระบบน้ำหยด


 


การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์เรื่องน้ำ  ถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาบริหารจัดการน้ำของไทย  โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์  ตั้งคำถามว่าคนต่างชาติจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างไร  จะไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคนไทยได้ 


 


ต่อประเด็นนี้  เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชนก็เคยสะท้อนถึงปัญหาของการจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาโดยตลอด  เช่น กรณีความล้มเหลวของโครงการจัดการน้ำโขง-ชี-มูลที่ลอกเลียนแบบการจัดการน้ำมาจากลุ่มน้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิง ประเทศออสเตรเลีย  โดยรัฐบาลสมัยนั้น (ปี 2532)  มีความคิดที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้เพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน    แบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ ระยะเวลาดำเนินการยาวนานถึง 42 ปี (2532-2576) หลังการประชุมค.ร.ม.สัญจรมีการอนุมัติงบประมาณทันทีงวดแรกจำนวน 1,800 ล้านบาท ก่อนจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์หลักอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรกรรม ตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม 4.98 ล้านไร่ 15 จังหวัด ประกอบด้วยเขื่อน ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คลองผันน้ำ และคลองส่งน้ำ


 


องค์กรสิ่งแวดล้อมทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง เช่น โครงการทามมูลที่อีสาน และโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (ปัจจุบันคือมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)  ได้ทำการศึกษาผลกระทบของโครงการโขง-ชี-มูลแล้วพบว่าโครงการดังกล่าวสร้างปัญหาอย่างมาก เช่น  เมื่อสร้างเขื่อนทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มเนื่องจากดำเนินการบนพื้นที่ดินเค็ม  ทำให้เกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้  


 


นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ในท้องถิ่น  และยังไม่มีความคุ้มทุนในการจัดการน้ำ  โครงการทามมูลคำนวณต้นทุนการพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการโขง-ชี-มูลเฉพาะพื้นที่ราษีไศลจะอยู่ที่ 170,000 บาทต่อไร่  ขณะที่ต้นทุนที่ชาวบ้านจัดการน้ำกันเองโดยการขุดคลอง  และสูบน้ำไปใช้จะอยู่ที่แปลงละ 1,000 บาทต่อไร่เท่านั้นเอง


 


นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแล้วยังมีเรื่องของความเป็นธรรมในการจัดการน้ำ  ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากขึ้นนั้น    ก็พบว่าข้อเท็จจริงที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดการก่อนหน้านี้ เช่น กรณีบริษัทอีสต์ วอเตอร์  จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทบริหารจัดการน้ำตะวันออก  จำกัด (มหาชน)  ที่เข้ามาจัดการน้ำภาคตะวันออกนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการจัดการน้ำที่ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมจริง   เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตน้ำในภาคตะวันออกจนอ่างเก็บน้ำที่ส่งน้ำให้แก่นิคมอุตสาหกรรมแห้งขอด  ก็พบว่าสุดท้ายการจัดการน้ำก็เลือกที่จะจัดหาน้ำ  แก้ปัญหาให้แก่นิคมอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก  ขณะที่มีชาวสวนในพื้นที่เดียวกันก็ขาดแคลนน้ำเช่นกัน 


 


ปัจจุบัน ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่เสนอโดยรัฐบาลนั้น  ภาคประชาชนจำนวนมากยังไม่เห็นด้วย  ทั้งนี้เพราะแนวทางการจัดการน้ำยังคงเป็นแนวทางเดิม ๆ คือการลงทุนก่อสร้างเขื่อน  โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งแต่อย่างใด  เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่า  


 


นอกจากนี้ประเด็นที่เริ่มมีนักวิชาการหลายท่าน  รวมทั้งสื่อมวลชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น คือกรณีที่เสนอให้ต่างชาติเข้ามาประมูลการจัดการน้ำ   ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการจัดการน้ำโดยชาวต่างชาติ  จะทำให้คนไทยสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรหรือไม่  อีกทั้งเทคโนโลยีจะสอดคล้องกับความต้องการของคนไทยหรือไม่ ?


 


แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลทักษิณยังคงเดินหน้ากับโครงการจัดการแสนล้านนี้โดยเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง   แม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนว่าไม่คุ้มทุน    นั่นเพราะเป้าหมายหลักของรัฐบาลอยู่ที่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นเท่านั้น ! 


            


เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net