Skip to main content
sharethis

อาจกล่าวได้ว่าปัญหาความรุนแรงที่ภาคใต้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลทักษิณเพิกเฉย  และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น    ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปล้นปืน   ตากใบ    มัสยิดกรือเซะ    หรือการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร     


 


จนถึงปัจจุบันปัญหาความรุนแรงภาคใต้ยังคงดำรงอยู่   ท่ามกลางสังคมที่กำลังเร่งตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน    แต่ประเด็นที่มีการใช้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นฆ่าตัดตอนเพื่อปราบปรามยาเสพติด  หรือการใช้ความรุนแรงที่ภาคใต้ยังไม่มีการตรวจสอบมากนัก  


 


ที่ผ่านมาความรุนแรงที่ภาคใต้มักจะถูกนำเสนอผ่านสื่อแต่เพียงด้านเดียวว่าสาเหตุเป็นเพราะมีผู้ก่อความไม่สงบ  เกี่ยวข้องกับผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ เป็นต้น  ทำให้ประเด็นที่ฝังรากลึกอยู่ในชายแดนใต้ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงเท่าที่ควร  เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ   ประเด็นที่คนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดสรรทรัพยากร  ด้านเศรษฐกิจ  และการศึกษา


 


เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.)  ได้มีการศึกษาสาเหตุความรุนแรงของพื้นที่ชายแดนใต้   พบว่าความขัดแย้งเชิงโครงสร้างเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาชายแดนใต้ เช่นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ  การจัดสรรทรัพยากร  การศึกษา  และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรม  ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างคนในเขตชายแดนใต้กับส่วนอื่นๆ ของประเทศ  จนเหมือนกับมีสองประเทศในสังคมไทย


 


นอกจากนี้ในงานศึกษาของ กอส.ยังระบุว่าความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนานั้น  ไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรง   แต่กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยอมรับการใช้ความรุนแรง   นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากที่อยู่ห่างไกลชายแดนใต้ไม่รู้สึกสะเทือนใจกับการใช้ความรุนแรงในภาคใต้มากเท่ากับ  กรณีการที่มีโกงภาษีหุ้นของชินคอร์ป 


 


ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นพลังประชาชนจำนวนนับแสนมีความตื่นตัวกับกรณีการโกงภาษีหุ้นของชินคอร์ปมากกว่าเมื่อมีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ  หรือกรือเซะจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก


 


ในงานศึกษาของ กอส.ระบุว่าช่วงเวลา  11  ปี  ตั้งแต่ปี  2536-2548  เกิดเหตุการณ์รุนแรงใน จ.ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  (รวมทั้งสงขลาและสตูลในบางครั้ง)  748  ครั้ง  หรือเฉลี่ยปีละ  68  ครั้ง  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2547  และ  2548  จำนวนเหตุการณ์รุนแรงสูงขึ้นอย่างน่าตระหนก    กล่าวคือในปี  2547  เกิดความรุนแรง  1,843 ครั้ง  ในปี 2548 เกิด 1,703  ครั้ง  รวมทั้งสองครั้งเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึง 3.546  ครั้ง   อัตราเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ  374  เมื่อเทียบกับเมื่อ  11 ปีก่อนหน้านั้น


 


กอส.ยกตัวอย่างกรณีที่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การจับกุม นพ.แวมาฮาดี  แวดาโอ๊ะกับพวกในข้อหา เจไอ  การจับกุมเด็กและเยาวชนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย  การใช้วิธีสอบสวนที่ไม่เป็นตามหลักกฎหมาย  เช่นจับตัวทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ   การควบคุมตัวระหว่างจับกุมและสอบสวน  กรณีตากใบจนทำให้เสียชีวิตถึง 1,300 คน  การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น 


 


นอกจากนี้ข้อมูลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ กอส.รวบรวมมาพบว่ามีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจต่ำมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย  กล่าวคือในช่วงปี 2541-2546  ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ  5.5  ต่อปี  ภาคประมงขยายตัวร้อยละ 0.3  ต่อปี   3  จังหวัดติดอันดับความยากจนด้านรายได้มากที่สุดของภูมิภาค  คิดเป็นร้อยละ  47.6 ของคนคนทั้งภูมิภาค  จึงทำให้มีคนว่างงานสูงมาก


 


รายงานการศึกษาของ กอส.ชี้ชัดว่าปัญหาชายแดนใต้นั้นนอกเหนือจากที่มีขบวนการก่อความไม่สงบแล้ว   ยังเป็นปัญหาที่ภาครัฐเองก็ต้องตรวจสอบกระบวนการทำงานของตนเองที่ผ่านมาด้วยว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่  อีกทั้งยังเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจปัญหาทางโครงสร้าง เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา  การเข้าถึงทรัพยากร  จนถึงวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น


 


จากการติดตามสถานการณ์โดยศูนย์ข่าวอิศรา  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยระบุว่าสถานการณ์ภาคใต้เลวร้ายมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการแผนดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2548  ผลักให้รัฐตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำมาโดยตลอด  ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงขยายวงกว้างจากเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่ประชาชนทั่วไปไม่ว่าหญิง ชาย ผู้ใหญ่ เด็ก ชาวพุทธหรือมุสลิม


 


ทั้งนี้เพราะกฎหมายใหม่ซึ่งมาแทนกฎอัยการศึก ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้น สอบสวน กระทั่งจับกุมผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำ โดยไม่ต้องมีหมายจับ ได้ขยายปัญหาให้ลุกลาม ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน  มีการสำรวจความคิดเห็นพบว่าหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้อยละ 55.7  เห็นว่าสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่เลวร้ายลงมาก


 


รูปธรรมของความหวาดระแวงที่ปรากฏชัดคือ  กรณีการลอบสังหารโต๊ะอิหม่ามที่บ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งจุดชนวนกระแสความหวาดกลัว  ลุกลามถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวกันปิดหมู่บ้าน ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปภายใน  ตามมาด้วย131 ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ขอลี้ภัยเข้าไปในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กระทั่ง "วิกฤตการณ์ตันหยงลิมอ" ซึ่งสังเวยด้วยความตายทั้งชาวบ้านและนาวิกโยธินรวม 5 คน 


 


ไม่นับปัญหาในเชิงนโยบาย ที่ส่วนกลางกะเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นอาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำ "บัญชีดำ"ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยหวังว่า จะแยกแยะผู้ก่อการออกจากกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่รัฐใช้วิธีการเหวี่ยงแห  กดดันให้เข้ามามอบตัวตามเป้าที่กำหนดโดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริงรองรับ ทำให้ความหวาดระแวงซึมลึกเข้าไปในกลุ่มชาวบ้าน กลายเป็นความเกลียดชังที่ยากจะบรรเทา


 


คนในสังคมจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหาชายแดนใต้  เพราะหากจะว่าไปแล้ว  ถ้าภาคใต้ ไม่สงบจะหวังว่าสังคมไทยจะสุขสงบคงเป็นไปได้ยาก. 


 


 


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net