Skip to main content
sharethis


โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


 


 


อารยะขัดขืน (civil disobedience) ได้รับการ "พูดถึง" และได้รับการ "ปฏิบัติจริง" ในสังคมไทยในปัจจุบัน


 


ผมขอจำกัดการอภิปรายไว้เฉพาะในกรณีของการลงคะแนนไม่ประสงค์จะลงคะแนน การฉีกบัตรเลือกตั้ง (และการประกันตัวเองออกไปสู้คดี) ของ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


แน่นอนว่ากรณีของ อ.ไชยันต์ (ขอย่อหน่อย) เป็นอารยะขัดขืน แต่เราเรียนรู้อะไรจากการขัดขืนของ อ.ไชยันต์ บ้าง และที่สำคัญ การขัดขืนของ อ.ไชยันต์ นั้น "อารยะ" ตรงไหน? และที่สำคัญอารยะสำหรับสังคม "ไทย" อย่างไร?


 


อ.ไชยันต์กำลังทำอะไร? : ผมตีความว่าอาจารย์กำลังสร้างบทสนทนาทางปรัชญาการเมืองพร้อมกับชี้ให้เห็นว่าความรู้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้


 


ในขณะที่นักกฏหมายมหาชนจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อรองกับการเลือกตั้งและระบอบทักษิณในแง่ "เทคนิค" ทางกฏหมาย อาทิ อ้างว่าการจัดคูหานั้นผิด สิ่งที่ อ.ไชยันต์กระทำ คือปฏิบัติทางการเมืองบางอย่างที่ผสมทฤษฎีและปรัชญาทางการเมืองหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน (ต่อสู้ด้วยหัวและมือ มิใช่ด้วยก้น) ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าอารยะขัดขืน


 


ประการแรก อ.ไชยันต์ ประกาศตนว่าเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้ง และใช้สิทธิเลือกตั้ง


 


ประการที่สอง อ.ไชยันต์ ทำการฉีกบัตรเลือกตั้ง และเสนอว่า ตนนั้นขออนุญาตประชาชนในการละเมิดกฏหมายเลือกตั้งโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขั้นนี้มีความก้ำกึ่งว่าเป็นอารยะขัดขืนที่สมบูรณ์หรือไม่ ด้วยว่าถ้ากฏหมายเลือกตั้งนั้นขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายที่สูงกว่า สิ่งที่ อ.ไชยันต์ทำนั้นก็คือ การทำตามรัฐธรรมนูญ


 


ประการที่สาม อ.ไชยันต์ออกแถลงการณ์ที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ๑. ตนไม่ได้บ้า ๒. สาเหตุที่ต้องละเมิดกฏหมายเลือกตั้ง และ ๓. ยินดีสู้คดี: อ.ไชยันต์ยืนยันว่าไม่ได้บ้า เพราะ อ.ไชยันต์ในฐานะของดุษฎีบันฑิตทางปรัชญาการเมือง (กรีก) กำลังแสดงให้เห็นว่า ตนนั้นเต็มใจขัดกฏหมายและต้องการสู้คดีในขั้นศาล


 


ที่สำคัญ การขออนุญาตประชาชนและฉีกบัตรเลือกตั้งนั้น อ.ไชยันต์ได้ชี้ให้เห็นว่า การลงคะแนนเสียงนั้นไม่ใช่ทำได้แค่การกาบัตร แต่ต้องใช้อำนาจทั้งหมดของความเป็นพลเมืองที่มี (Cast your whole vote, not a strip paper merely, but your whole influence.) และสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนส่วนใหญ่จะยังเลือกคุณทักษิณ แต่พลังของการขัดขืนนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องมีความมากกว่าของจำนวน (จึงไม่ยอมให้บัตรเลือกตั้งของตน "ไหลรวม" ไปกับบัตรเลือกตั้งของเสียงข้างมาก ที่ฟอกคุณทักษิณ) หากแต่อยู่ที่ความเป็นคนกลุ่มที่อาจน้อยกว่าในเรื่องจำนวน แต่มีความเข้มข้นในทางคุณภาพ ด้วยว่ามีความรู้สึกนึกคิดที่เข้าใจว่าเหนือกฏหมายยังมี "กฏอีกชุดหนึ่ง" ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องของมโนสำนึก (conscience) ของตัวเรา


 


อ.ไชยันต์ถามคำถามกับการดำรงชีวิต (an unexamined life is not worth living) ถึงความขัดแย้งระหว่างความเป็นคนดี (good man) กับพลเมืองดี (good citizen) ซึ่งในแง่หนึ่งคนดีนั้นจะเป็นพลเมืองที่ดีได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในรัฐหรือชุมชนทางการเมืองที่ดี          


 


"ความอารยะ" ในอารยะขัดขืน จึงสำคัญไม่น้อยกว่า "การขัดขืน" ท่ามกลางกระแสคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจอารยะขัดขืนเพียงแง่ของเทคนิคการต่อรองอำนาจ หรือมองว่าเราไม่มีสิทธิในการขัดขืนกฏหมายใดๆ (คุณทักษิณมีพื้นฐานจากตำรวจ ย่อมมีความเข้าใจเรื่องกฏหมายในแบบที่คับแคบกว่า)


 


ความอารยะของการขัดขืนจึงอยู่ที่การขัดขืนเพื่อเปิดโปงให้เห็นความถูกต้องชอบธรรมของกฏหมายตัวนั้นๆ และ/หรือ กฏเกณฑ์ที่กำกับชุมชนทางการเมือง (constitutionality)  และเราจะต้องตัดสินความชอบธรรมของกฏหมายนั้นมิใช่ด้วยว่ากฏหมาย/กฏเกณฑ์นั้นถูกกำหนดว่าชอบธรรม หรือคนหมู่มากเห็นว่าชอบธรรม


 


แต่ต้องอยู่ที่มโนสำนึกของเราเองในฐานะพลเมืองของชุมชนทางการเมืองที่ดี


 


อารยะขัดขืน "ของ อ.ไชยันต์"  จึงมิใช่แค่การยืนยันถึงเสรีภาพของมนุษย์ หรือแค่เรื่องของ "ความกล้าหาญ" หากแต่อารยะขัดขืนของ อ.ไชยันต์ "เป็นคุณ" กับชุมชนทางการเมือง เพราะจะเป็นตัวทดสอบว่ากฏหมายและเจตนารมณ์ของกฏหมายที่เราเชื่อถือนั้นมันเป็นกฏหมายที่ถูกกำหนดขึ้นจากมโนสำนึกของพลเมืองดีในรัฐที่ดีหรือไม่


 


ความเป็นอารยะของการขัดขืนจึงมิใช่อยู่ที่การให้กำลังใจ อ.ไชยันต์ หรือเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับ อ.ไชยันต์


 


หากอยู่ที่การถามคำถามกับความเป็นอารยะ และมโนสำนึกของ "ตัวเรา" กับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง


 


ในสังคมที่ "เคย" เข้าใจว่า "ความเป็นพลเมืองดี" คือการ "เชื่อฟังรัฐ" เท่านั้น ทั้งที่การเลือกตั้งเป็น "ห้วงจังหวะ" ของการ "ปลดปล่อยพลัง" ของความเป็นพลเมืองที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนการเมืองได้มากกว่าการกาบัตรและหันก้น!


 


----------------


ตีพิมพ์ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 5 เมษายน 2549 หน้า 4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net