Skip to main content
sharethis

โดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ 25 เมษายน 2549


 


 


ปัญหาของแรงงานไทยไม่ได้มีเพียงการต่อสู้ระหว่างแรงงานไทยกับบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น ในขณะนี้แม้แต่องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยก็พลอยติดร่างแหไปด้วย


 


จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีจากบริษัท ปับบลิซิส ประเทศไทย (The Publicis Thailand) ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เนื่องมาจากการเสนอข่าวการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทดังกล่าวลงในเวบไซต์ของโครงการฯ (www.thailabour.org) โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จรรยาได้เดินทางไปขึ้นศาลเป็นวันแรก เพื่อรายงานตัวสู้คดีหลังจากอยู่ในกระบวนการรับฟ้องของศาลอาญาใต้มานานกว่า 6 เดือน


 


รู้จักโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


สำหรับโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 ทำหน้าที่รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวของแรงงานไทย โดยทำงานร่วมกับองค์กรแรงงานทั้งในระดับประเทศและสากล เพื่อรายงานสถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทย


 


โครงการฯ ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานอย่างจริงจัง ในกรณีของบริษัทมาสเตอร์ทอย โดยร่วมกับสหภาพแรงงานมาสเตอร์ทอย สภาศูนย์กลางแรงงาน สหพันธ์กระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานพนักงานการรถไฟฯ โดยดำเนินการประท้วงและเผยแพร่เอกสารทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


 


นอกจากการสนับสนุนจากองค์กรในเมืองไทยแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานกว่า 10 องค์กรในฮ่องกง โดยได้ทำการประท้วงหน้าบริษัทแม่ในฮ่องกงถึง 2 ครั้ง จนในที่สุด นายจ้างก็ยอมจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนให้ลูกจ้าง


 


นอกจากงานด้านการรณรงค์แล้ว โครงการฯ ยังมีการทำวิจัยศึกษาและติดตามข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานไทยของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทที่มีจรรยาบรรณแรงงาน (Codes of Conduct) ที่ให้การคุ้มครองทางด้านแรงงาน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม ซึ่งโครงการฯ ได้ติดตามบริษัทอุตสาหกรรมรองเท้า การตัดเย็บเสื้อผ้า และของเด็กเล่น โดยนำเสนอข้อมูลการละเมิดออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย


 


ด้านผลงานวิจัย อาทิ เรื่อง "จรรยาบรรณด้านแรงงานสามารถส่งเสริมสิทธิแรงงานได้จริงหรือไม่? บทเรียนจากอุตสาหกรรมรองเท้าและตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งประเทศไทย" (Can Corporate Codes of Conduct Promote Labor Standards? Evidence from the Thai Footwear and Apparel Industries) โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ และคริสโตเฟอร์ คัลแลนด์ ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษโดยศูนย์ข้อมูลแห่งเอเชีย (Asian Monitor Resource Center)


 


ที่มาของคดี "หมิ่นประมาท"


สำหรับสาเหตุของการถูกฟ้องนั้น เริ่มมาจากการที่โครงการฯ รายงานข่าวการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท ปับบลิซิส ประเทศไทย โดยมีเนื้อหาว่า


 


"บริษัท ปับบลิซิส เป็นบริษัทด้านการสื่อสารที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก บริษัทใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทนี้ใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นอันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัท ปับบลิซิส ประเทศไทย เป็นบริษัทสาขา เมื่อปี 2547 มีรายได้ทั้งหมดภายในกลุ่มบริษัทจำนวนมากกว่า 4.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีการจ้างพนักงานจำนวนกว่า 36,000 คน ใน 104 ประเทศ


 


ซึ่งขณะนี้ ปับบลิซิส ประเทศไทย ถูกกล่าวหาเรื่องการแบ่งแยก กีดกันในการทำงานต่อพนักงานเพศหญิงสูงวัยในระดับผู้บริหารจำนวน 5 คน เพราะเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 บริษัทต้องการลดจำนวนพนักงาน จึงบังคับกลุ่มพนักงานหญิงดังกล่าวให้ออกจากงานโดยขอให้ลงนามในใบลาออก ซึ่งไม่มีผู้ชายคนใดหรือผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปีที่ถูกไล่ออกในครั้งนี้ ซึ่งมีพนักงานหญิงเพียงหนึ่งคนที่ยอมเซ็นใบลาออก ที่เหลือกลับถูกคุมขังในที่ทำงานซึ่งผู้บริหารขู่ว่าจะไม่ได้รับการปล่อยตัวหากไม่เซ็นยินยอมลาออก


 


พนักงานจึงได้เข้ายื่นดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ และเข้าฟ้องต่อศาลแรงงานในวันที่ 1 เมษายน 2548 ในข้อหาการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแรงงานไทย ปี 2541 "ลูกจ้างต้องไม่ถูกกีดกัน แบ่งแยกระหว่างเพศชาย-หญิง ด้วยลักษณะการทำงาน ค่าจ้าง ชาย-หญิงควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน"


 


อย่างไรก็ตาม การกีดกันทางเพศต่อหญิงสูงวัย มีการวิจัยศึกษาภายในประเทศไทยพบว่า ผู้หญิงยังคงได้ค่าแรงต่ำกว่าเพศชายร้อยละ 20 ในลักษณะการทำงานประเภทเดียวกัน นอกจากนี้มีรายงานของธนาคารโลกในปี 2544 พบว่าผู้หญิงได้รับโอกาสก้าวหน้าในการทำงานน้อยกว่า และมักถูกคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานอีกด้วย"


 


การต่อสู้ที่เพิ่งเริ่ม


จรรยาเล่าว่า ในการสู้คดีนี้ มีทนาย 3 คน นอกจากนี้ ยังมีองค์กรพันธมิตรในไทย และสากล ยุโรป สหภาพแรงงานต่างๆ เสนอความช่วยเหลือและคอยเป็นกำลังใจให้จำนวนมาก


 


ในฐานะคนทำงานด้านการรณรงค์ ช่วยเหลือข้อพิพาทเกี่ยวกับแรงงานไทยมาหลายปี จรรยา ให้สัมภาษณ์ว่า คดีแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่โครงการฯ ก็ยังยึดมั่นที่จะรณรงค์ทำให้เกิดจรรยาบรรณของนายจ้าง มาตรฐานการทำงานที่ดีในโรงงาน สวัสดิการค่าแรงที่เป็นธรรม ตลอดจนผลักดันกฎหมายแรงงานต่างๆ ต่อไป


 


"เราทำตามอุดมการณ์ขององค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสมานฉันท์แรงงานไทยกับแรงงานสากล ให้ตื่นตัวต่อสู้เพื่อสิทธิความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน การประกันการว่างงาน และมาตรการคุ้มครองแรงงานที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ...ซึ่งเป็นพันธกิจขององค์กรที่ดำเนินมากว่า 5 ปี"


 


กระบวนการในศาลไม่เอื้อแรงงาน?


จรรยา ให้ความเห็นว่า สิ่งที่นำเสนอออกไปนั้นทุกอย่างเป็นความจริง ถึงอย่างไรก็คงต้องต่อสู้ต่อไป ซึ่งตนเองต่อสู้กับนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานมามาก ดำเนินการผ่านกระบวนของศาล มีลูกจ้างมากมายที่ต้องเสียประโยชน์ และกระบวนการศาลก็ไม่เอื้อให้คนงานซึ่งเป็นคนจน คนตัวเล็กๆ ต่อสู้ได้เพราะคดีส่วนใหญ่มักยืดเยื้อ คนงานได้รับความกดดันทางภาวะ ฐานะทางเศรษฐกิจเพราะขณะที่ศาลดำเนินคดีอยู่ คนงานก็ตกงานไม่มีงานทำ สุดท้ายต้องยอมคดีไป


 


ทั้งนี้ โครงการฯ ก็ได้พยายามสู้ ช่วยคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบต่อสู้ด้วย และครั้งนี้ก็เป็นโครงการฯ เองที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท บางคดีที่คนงานพยายามสู้คดีอย่างที่สุด แต่ปรากฏว่าได้เงินชดเชยกลับมาเพียง 10,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 4-5 เดือน


 


นอกจากนี้ บางคดี สภาทนายความไม่รับคดี หรือรับคดีไว้ก็ไม่ดำเนินการต่อ บางคดีนายจ้างก็กดดันลูกจ้าง คนงานไม่มีเงินสู้คดี สุดท้ายคดีจึงตกไป ซึ่งต้องยอมรับว่ากระบวนการในการดำเนินคดีของศาลก็เป็นปัญหา ไม่เอื้อต่อลูกจ้างที่ฟ้องนายจ้างเลย


 


มุมมองของนายทุน อีกอุปสรรคของแรงงานไทย


จรรยา กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการสภาวะแรงงานไทย คือ ทัศนะของผู้บริหารประเทศ อาทิ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มองแรงงานในมิติเพียงเพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ไม่พูดถึงกฎหมายดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงาน


 


ทิศทางการส่งเสริมกลับกลายเป็นนโยบายที่มุ่งส่งคนไปทำงานต่างประเทศเพื่อนำเงินเข้าประเทศ


 


ไม่เพียงเท่านั้น การร้องเรียน การฟ้องร้องนายจ้างของลูกจ้าง กลายเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เกรงว่าภาพลักษณ์ของประเทศชาติจะเสียหาย ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ความถูกต้องและจริยธรรมของนายจ้างของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ถูกดูแลควบคุม


 


"ทัศนะของนายจ้างก็เป็นสิ่งสำคัญ นายจ้างมักไม่ยอมรับเงื่อนไขการเจรจาต่อรอง และมักเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง ส่วนลูกจ้าง คนงานเองก็มีความเข้าใจในมาตรฐานแรงงาน กฎหมายแรงงานน้อย แม้ว่าแรงงานไทยจะมีคู่มือในการยืนยันสิทธิในการหนุนช่วยแรงงานก็ตาม"


 


ทัศนะของนายจ้าง นายทุนมักจะแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ธุรกิจของตนเอง ยังคงมองคนว่าเป็นเพียงแรงงาน หรือเครื่องมือที่นำมาซึ่งเงินตราเท่านั้น ไม่ได้มองว่าแรงงานก็เป็นมนุษย์ที่พึ่งได้รับสิทธิ ความชอบธรรม และการดูแลที่เหมาะสม เท่าเทียม ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป


 


สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคดีความระหว่างบริษัท ปับบลิซิส ประเทศไทยกับจรรยา ยิ้มประเสริฐจะจบลงแบบใด การต่อสู้ระหว่างแรงงานไทยกับบรรษัทต่างชาติคงต้องดำเนินต่อไป ตราบใดที่โลกยังขับเคลื่อนด้วยมือของนายทุนที่เห็นเงินเป็นพระเจ้า!


 


…………………………………………………..


เอกสารประกอบการเขียน


 


1. ข่าว "Pubilcis Groupe accused of discriminate sackings in Thailand" by Stephen Frost จาก CSR Asia Weekly ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2548, www.csr-asia.com


 


2. บทความ "ประสบการณ์ชีวิต" โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. มีนาคม 2549, www.thailabour.org


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net