Skip to main content
sharethis


"มหาวิทยาลัยต้องผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพมากที่สุด  เพราะวันนี้ทุนทางปัญญาเริ่มหมด  รวมถึงต้องมองโอกาสทางการศึกษา  ไม่ให้การศึกษาเป็น capitalist  แต่ก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงบ้าง  เพราะมหาวิทยาลัยต้องมีความคล่องตัวของผู้บริหาร  แต่มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน"  นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวถึงการแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วหลังเลือกตั้งผ่านไปหมาด ๆ  ในช่วงที่ได้เป็นรัฐบาลสมัยแรก 


 


คำกล่าวของท่านนายกฯ  บอกอะไรกับเราบ้าง  หากพินิจพิเคราะห์ให้ดีก็จะเห็นว่าท่านนายกฯ  ผู้นี้ฉลาดล้ำลึกในการกล่าวสุนทรพจน์เอาใจประชาชนอย่างยิ่ง    สามารถทำให้ประชาชนที่รับฟังเห็นว่านายกฯ  ให้ความสำคัญกับการศึกษาเสียจริง ๆ     แต่สิ่งที่ไม่มีอยู่ในถ้อยคำของท่านนายกฯ  เลยก็คือว่าหากมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง  แท้ที่จริงแล้วคืออะไร    โอกาสทางการศึกษาที่จะกระจายอย่างเท่าเทียมจะเกิดขึ้นอย่างไรหลังจากมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลง  มหาวิทยาลัยที่เข้าสู่การแข่งขันในระบบตลาดเสรี  จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนบ้าง ?


 


ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่มาแรง  คำพูดที่ว่า  "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ"   กลายเป็นคำฮิตติดปากในแวดวงนักวิชาการด้านการศึกษา  อาจารย์-ข้าราชการในมหาวิทยาลัย   แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่จะต้องส่งบุตร-หลานเข้าเรียนในชั้นอุดมศึกษานั้นยังถือว่ารับรู้เรื่องนี้น้อยมาก    


 


ความจริงแล้วความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  หรือการนำออกนอกระบบราชการ  ไม่ใช่เพิ่งเกิดในสมัยรัฐบาลทักษิณ  แต่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว    และไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่   ดังนั้น เมื่อถึงรัฐบาลทักษิณ  จึงเป็นที่จับจ้องว่าการนำออกนอกระบบราชการอาจจะสามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ด้วยคุณสมบัติพิเศษของนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ที่บริหารประเทศไทยแบบบริษัทจำกัดนั่นเอง     


 


ทำไมต้องออกนอกระบบราชการ


 


มหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาพร้อมๆ กับการปฏิรูประบบการศึกษาในปี 2517   ซึ่งกำหนดแนวทางว่าสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเป็นระบบอิสระ  ไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ   จนกระทั่งปี 2534  รัฐบาลในสมัยนั้นแถลงนโยบายต่อรัฐบาล  เสนอทางเลือกให้มหาวิทยาลัย 2 แนวทางคือ คงอยู่ในระบบราชการต่อไป  แต่ต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้คล่องตัว  มีประสิทธิภาพมากขึ้น  หรือออกนอกระบบราชการ


 


เมื่อออกนอกระบบราชการแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ  แต่ละมหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานมากขึ้น  จากเดิมที่ต้องขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนเป็นบริหารจัดการตนเอง  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจตัดสินใจได้ทั้งงบประมาณ  งานวิชาการ จนถึงงานบริหารงานบุคคล  เป็นต้น


 


แนวทางการออกนอกระบบราชการเริ่มมีความเป็นจริงมากขึ้น    คือในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี  2540  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ  IMF - International Monetary Fund  และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ  ADB  (Asian Development Bank)   ผลักดันให้รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการแปรรูปการศึกษา  โดยแจงเหตุผลว่ารัฐบาลไทยใช้งบประมาณการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการศึกษาสูงเกินความจำเป็น 


 


ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้แปรรูปมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่  27 ม.ค.2541  ตามเงื่อนไขการกู้เงินของ ADB  ที่ระบุชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็น "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล"  หรือออกนกระบบราชการ ภายในปี  2545


 


เงินกู้ด้านการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางสังคม (Social Sector Program Loan)  เอดีบีอนุมัติเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2541  เป็นจำนวน 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 20,000 ล้านบาท)


 


การออกนอกระบบราชการยังไม่สามารถทำได้ทันที   มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด 20 แห่งจะต้องยกร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยและเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเสียก่อน  จนถึงปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.แต่ละมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เสร็จสิ้นเสียที  เพราะมีกระแสการคัดค้านของคณาจารย์  นักศึกษาในมหาวิทยาลัยบางส่วน  


 


ภายหลังจากที่ ครม.มีมติให้แปรรูปภายในปี 2545  เสียงของบรรดาข้าราชการ  อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ถือว่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ  ที่ได้รับผลกระทบตรงแตกเป็นสองฝ่าย  ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็จะเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย  ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศทางวิชาการ   และเหตุผลลึก ๆ  บางส่วนคือจะทำให้อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น


 


ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็มีเหตุผลทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง เช่นกลัวว่าไม่มีความมั่นคงในการทำงาน จะทำงานเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ เหมือนเดิมไม่ได้  จะถูกตรวจสอบ และวัดประสิทธิภาพในการทำงานหนักขึ้น  แต่ก็มีบางส่วนที่มีความเห็นต่อระบบการศึกษา   เกรงว่ามหาวิทยาลัยจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ภาคธุรกิจมากขึ้น    โอกาสที่ลูกคนจน-คนชั้นกลางจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็จะน้อยลงไปอีก


 


ภาวะเสียงแตกทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการออกนอกระบบได้ทันภายในปี  2545  ตามเป้าหมายของเอดีบี   อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการถกเถียงของบรรดาบุคลากรในมหาวิทยาลัย     กลับพบว่าเสียงของภาคประชาชนที่มีความเห็นต่อเรื่องนี้แผ่วเบายิ่งนัก 


   


ขายทอดตลาดมหาวิทยาลัย  


 


หลังจากที่รัฐบาลไทยรับเงื่อนไขเงินกู้เอดีบี ปี 2543  ขบวนการภาคประชาชนที่ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน  และองค์กรชาวบ้านร่วมกันจัดเวทีประชาชน  "การพัฒนาต้องมาจากประชาชน"  โดยมี ประเด็นหนึ่งคือการคัดค้านเอดีบีที่เข้ามากำกับระบบการศึกษาของไทย    ในเอกสารที่จัดทำโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  และคณะทำงานติดตามผลกระทบโครงการเงินกู้เอดีบีตั้งข้อสังเกตต่อการให้เงินกู้ของเอดีบีที่มาพร้อมกับเงื่อนไขให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการว่า จะส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะกับคนจน


 


สาเหตุที่จะทำให้ลูกคนจนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยลง เพราะผู้เข้าเรียนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริง  ขณะที่คนจนต้องพึ่งพากองทุนกู้ยืมการศึกษา ซึ่งแนวโน้มจะมีจำกัด  เนื่องจากรัฐต้องการลดค่าใช้จ่าย   และยังเป็นไปไม่ได้ที่ทุนการศึกษาจะกระจายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 


 


นอกจากนี้จะมีผลทำให้งานวิชาการสำหรับภาคที่ด้อยโอกาสจะน้อยลงไปด้วย  เพราะเมื่อรัฐต้องลดภาระค่าใช้จ่าย  มหาวิทยาลัยก็ต้องดิ้นรนหาเงินเองมากขึ้น    ทางออกคือต้องหันไปพึ่งพาภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมโดยการรับจ้างวิจัยบริษัทเอกชนมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้การค้นคว้าจึงถูกกำหนดโดยเจ้าของเงินมากขึ้น  คณะ  สาขาและสถาบันที่มีประโยชน์  แต่ไม่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงินก็จะอยู่ได้ยากมากขึ้น เช่น สายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  เป็นต้น


 


ขณะที่นักวิชาการ   เช่น  นิธิ เอียวศรีวงศ์  มีความเห็นว่าก่อนที่จะเลือกตัดสินใจว่าจะอยู่ในระบบราชการหรือออกนอกระบบราชการนั้น   สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาให้ได้คือ มหาวิทยาลัยจะต้องเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม    แม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นความไม่เสมอภาคการศึกษามาจากหลายสาเหตุ  ไม่ใช่เป็นเพราะมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียวก็ตาม  แต่มหาวิทยาลัยก็ควรจะทำอะไรที่ทำให้ปัญหานี้บรรเทาลงบ้าง  


 


"ของใหม่เมื่อไม่แน่ใจและมีปัญหา ให้เอาของเก่าไว้ก่อน"  ชาญวิทย์  เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อ้างถึงคำพูดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  เมื่อต้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2546 


 


ชาญวิทย์ ถือเป็นนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ท้วงติงการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไว้อย่างน่าสนใจว่าการแปรรูปนั้นจะมีผลกระทบใหญ่มากต่อศูนย์กลางทางปัญญา  และอนาคตของประเทศชาติ  สังคม  ถ้าหากยังมีข้อท้วงติง  มีความเห็นต่างก็ไม่ควรเร่งรีบแปรรูปหรือว่า "ขายทอดตลาด"   เพราะจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงดังว่า 


             


โอกาสคนจน  นักศึกษาเป็นเพียง "ลูกค้า"    


 



 


 


 


จนถึงปัจจุบันข้อถกเถียงของฝ่ายที่คัดค้าน  และฝ่ายที่สนับสนุนการแปรรูปมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เป็นที่ยุติ   แต่ประเด็นที่ยังมีการถกเถียงกันน้อยคือ  โอกาสที่ลูกคนจน  หรือชนชั้นกลางระดับล่างจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะเป็นเช่นไรหลังการแปรรูปออกนอกระบบ    หรือนำมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบตลาด  


 


แม้ว่าที่ผ่านมาก็เป็นทราบกันดีว่าคนที่มีโอกาสศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในระบบเองก็มักจะเป็นลูกชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ ไปจนถึงลูกคนรวยก็ตาม   แต่เมื่อเข้าสู่ระบบตลาดโอกาสของคนจนจะยิ่งน้อยลงไปหรือไม่ ?  ยังไม่มีใครตอบได้


 


อย่างไรก็ตาม ขณะที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมการเพื่อออกสู่นอกระบบพบว่า  บางมหาวิทยาลัยก็ทยอยขึ้นค่าหน่วยกิตไปบ้างแล้ว  เช่น ในปี  2546 พบว่าจากเดิมที่มหาวิทยาลัยเคยคิดค่าหน่วยกิต 600 บาท  ก็เพิ่มเป็นหน่วยกิตละ 1,200 บาท  เดิมหลักสูตรเหมาจ่าย  12,000 บาท ก็ปรับเพิ่มเป็น 24,000 บาท   หลักสูตรที่ถือว่าปรับเพิ่มกระฉูดคงหนีไม่พ้น แพทย์ศาสตร์  จากเดิมเคยจ่ายกันปีละสามแสนบาท  ก็ปรับเพิ่มจ่ายถึงปีละ 6 แสนบาท  เป็นต้น


 


การทยอยปรับเพิ่มขึ้นค่าหน่วยกิตสำหรับคนที่มีฐานะก็ดูจะไม่สะท้านสะเทือนเท่าไรนัก  แต่สำหรับลูกคนจนที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  การขึ้นค่าหน่วยกิตกลายเป็นภาระก้อนโตของครอบครัว  ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินกันมากขึ้นเพื่อส่งบุตรหลานเรียน   นอกจากค่าหน่วยกิตแล้ว  หลายมหาวิทยาลัยก็ยังเก็บค่าบำรุงการศึกษา เช่น ค่าใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เป็นต้น                         


 


ด้วยเหตุที่มีจำนวนลูกคนจนที่มีโอกาสศึกษาต่อไม่มากนัก  ทำให้ประเด็นค่าหน่วยกิตแพงขึ้นไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร  เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จะสามารถรับภาระค่าหน่วยกิตที่แพงขึ้นได้   มีเฉพาะคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้


 


น.พ.พิศิษฐ์  โจทย์กิ่ง  ประธานที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)  ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีความเห็นว่าการที่มหาวิทยาลัยทยอยขึ้นค่าหน่วยกิต  รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ จากนักศึกษามากขึ้นนั้นเริ่มมาตั้งแต่มีมติ ครม.ให้มีการแปรรูปออกนอกระบบ  เริ่มไม่มีการกำหนดเพดานเรียกเก็บค่าใช้จ่าย   แล้วแต่เทคนิคของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะเรียกเก็บตรงไหน  เพิ่มค่าใช้ตรงไหน  เป็นต้น


 


ปอมท.จึงได้คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาอย่างต่อเนื่อง  โดยชี้แจงประเด็นโอกาสการศึกษาของคนไทย  ไม่เห็นด้วยกับมติครม.เมื่อวันที่  7  เม.ย.2547  ที่มีการกำหนดให้ผู้เรียนต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนตามต้นทุนค่าจ่ายการดำเนินงานถึง 100 %  จากเดิมที่ผู้เรียนเคยจ่ายแค่ 25 %  และรัฐอุดหนุน  75 %    และให้รัฐเลิกกำหนดเพดานค่าเล่าเรียน    รัฐอ้างว่าจะมีกองทุนให้กู้ยืมอยู่แล้ว


 


ส่วนการที่ทบวงมหาวิทยาลัยระบุว่ามีลูกคนจนศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยน้อยนั้น  ทาง ปอมท.ก็โต้แย้งว่าความจริงแล้วมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ  อาจจะใช่  แต่สำหรับมหาวิทยาลัยในชนบท   เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มีลูกเกษตรกรเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ถึง  21 %   ดังนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย   ไม่เช่นนั้นจะเป็นการปิดกั้นโอกาสลูกคนจนในการศึกษาต่อ    


           


ตลาดนำความรู้ ?


 


"มหาวิทยาลัยมองตัวเองเหมือนบริษัท และย่อมตอบสนองต่อตลาดที่มีกำลังซื้อ ไม่ว่างานวิจัยหรือการขายบริการทางวิชาการอื่น ๆ  แม้แต่การผลิตบัณฑิตก็นึกถึงแต่ตลาดจ้างงาน  ทั้งหมดนี้ทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งรับใช้แต่บางภาคส่วนของสังคมเท่านั้น  ถึงแม้จะอยู่ในระบบราชการก็ทำอยู่อย่างนี้แล้ว  ยิ่งออกนอกระบบยิ่งหันมาเน้นลักษณะเช่นนี้สูงขึ้น"  นิธิ  กล่าวถึงแนวโน้มของมหาวิทยาลัยที่จะเกิดขึ้นหากมีการออกนอกระบบราชการและเข้าสู่ระบบตลาดอย่างเต็มรูปแบบ 


 


ขณะที่หลายคนอาจจะพูดถึงเสรีภาพงานวิชาการว่าการออกนอกระบบจะทำให้มีเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้น    แต่ก็มีข้อท้วงติงจากฟากหนึ่งว่าเสรีภาพที่ได้มาจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม  นั่นคือแม้นักวิชาการจะสามารถหลุดพ้นจากกรอบอันคับแคบของระบบราชการ   แต่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบทุนอยู่นั่นเอง เช่นนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ไปรับจ้างเขียนอีไอเอให้แก่บรรษัทข้ามชาติ  เป็นต้น


 


ต่อเรื่องนี้ นิธิตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นถือว่าเป็นคนที่ละเมิดเสรีภาพทางวิชาการได้มาก  เพราะอยู่ในอำนาจ   ฉะนั้นการออกนอกระบบราชการจึงใคร่ครวญประเด็นนี้ให้ดี   เพราะหากนักวิชาการรับใช้ภาคธุรกิจก็ไม่มีความหมาย 


 


คำถามใหญ่ของสังคมคือนักวิชาการควรจะเป็นผู้แสวงหาคำตอบ    สร้างองค์ความรู้  หาทางออกให้แก่สังคมจะสามารถทำได้หรือไม่เมื่อมหาวิทยาลัยแปรรูปเข้าสู่ระบบตลาด    ถึงตอนนี้นักวิชาการบางส่วนเริ่มไม่มั่นใจนัก   เพราะการที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องพึ่งตนเอง   บริหารจัดการด้านงบประมาณเอง  งบประมาณอุดหนุนลดลง   จะทำให้ความเข้มข้นในการค้นคว้าวิจัย  งานวิชาการที่รับใช้สังคมจะทำได้มากน้อยแค่ไหน  


 


ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา  นักวิชาการน้ำดีในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวสร้างงานวิชาการ  เกิดความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก  เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนชายขอบ  นโยบายการจัดการที่ดิน  แก้ไขปัญหาคนจน   เป็นต้น 


 


หากการแปรรูปมหาวิทยาลัยจะทำให้งานส่วนนี้ต้องลดความสำคัญลงไปก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย.


 


เบญจา  ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


           


                 


           


    


 


 


                                    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net