Skip to main content
sharethis

ระนอง—22 ก.ค. 2549 เปิดท่าเรือระนอง เฟส 2 เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้า "เชียงแสน - แหลมฉบัง" มุ่งหน้าบุกเอเชียใต้ เตรียมสร้างแลนด์บริดจ์ใหม่ ขยายถนนระนอง - ชุมพร / ระนอง - สุราษฎร์ รองรับลานวางตู้สินค้าคอนเทนเนอร์สถานีรถไฟบ้านวิสัย ชุมพร


 


เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดท่าเรือระนอง ระยะที่2 หมู่ที่ 5 บ้านเขานางหงส์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง รองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 12,000 ตันกรอส ใช้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งอันดามัน โดยมีเป้าหมายขนส่งสินค้ากับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC


 


นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้ากับต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุภาค BIMSTEC ซึ่งทั้ง 3 ภูมิภาคนี้ นับเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 3 พันล้านคน และไทยมีโอกาสและศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของเขตภูมิภาคดังกล่าว ในด้านการค้าสินค้าบริการ และการลงทุน


 


นายภูมิธรรม กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่ง และการพัฒนาโลจิสติกส์ทั้งระบบ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ และส่งออกสินค้าใน 3 ภูมิภาค จึงมุ่งพัฒนาท่าเรือต่างๆ ให้เป็นประตูเศรษฐกิจการค้า โดยทางด้านภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนตอนใต้ มีการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ จังหวัดเชียงรายขึ้นมารองรับ ขณะที่ท่าเรือระนอง จะเป็นประตูการค้าทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย กับกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งปัจจุบัน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


 


นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อพัฒนาท่าเรือพร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศสมบูรณ์ ทั้งถนน รถไฟ และทางน้ำ ท่าเรือระนองจะเชื่อมโยงกับท่าเรือเชียงแสนทางภาคเหนือ และท่าเรือแหลมฉบังทางภาคตะวันออก ในรูปสามเหลี่ยมรองรับการค้าระหว่างประเทศทั้งฝั่งแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และภาคใต้ของจีนต่อไปในอนาคต ท่าเรือระนองจึงจะเป็นท่าเรือที่มีบทบาทสำคัญของประเทศและของภูมิภาคต่อไป


 


นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ท่าเรือระนอง เดิมเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ขนาด 500 ตันกรอส ต่อมาเมื่อปี 2546 รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการขนส่งทางน้ำ และให้กลุ่มจังหวัด จัดทำวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งอันดามัน จังหวัดระนองจึงได้เสนอแผนให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 12,000 ตันกรอสได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา


 


"ในส่วนของจังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัด ได้ผลักดันพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคม - ขนส่ง ระหว่างจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อมโยงสู่ท่าเรือระนอง โดยให้กรมทางหลวงเสนอแผนการปรับปรุงถนนเพชรเกษม ระหว่างชุมพร - ระนอง และหลังสวน - ระนอง เป็นสี่ช่องจราจร นอกจากนี้ ยังได้สร้างลานวางตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่สถานีรถไฟบ้านวิสัย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เพื่อลดต้นทุนการขนส่งตู้สินค้า จากภาคอื่นสู่ท่าเรือระนอง" นายเมฆินทร์ กล่าว


 


นายเมฆินทร์ กล่าวว่า ในอนาคตท่าเรือระนองจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะสามารถลดต้นทุนในการขนส่งและระยะเวลาในการเดินเรือ ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศแถบเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะใช้ท่าเรือระนองเป็นฐานสนับสนุนการส่งอุปกรณ์สำรวจ และขุดเจาะแก๊สธรรมชาติและปิโตรเลียม ที่ได้รับสัมปทานในอ่าวเมาะตะมะ ของพม่าด้วย


 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะบริหารกิจการท่าเรือระนองให้ได้มาตรฐานเดียวกับท่าเรือกรุงเทพ โดยจัดสรรงบประมาณจัดหาเครื่องมือทุ่นแรงมาให้บริการยกขน เคลื่อนย้าย สินค้าและตู้สินค้า รวมทั้งจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มาให้บริการ พร้อมนำระบบ One Stop Service มาใช้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ขณะนี้ กลุ่มผู้ประกอบการสายเดินเรือ เจ้าของสินค้า และผู้ประกอบการขนส่ง ต่างให้ความสนใจ และกำลังศึกษาวางแผนงานด้านการตลาดและแผนปฏิบัติการ เพื่อเปิดเส้นทางการขนส่ง และเดินเรือประจำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net