Skip to main content
sharethis


 


 


โดย พิณผกา งามสม


 


 


ใครที่ติดตามอ่านและเขียนตามเว็บบอร์ดช่วงนี้อาจจะรู้สึกเฉยๆ ชาๆ ไม่ค่อยมีเรื่องอะไรให้ตื่นเต้นมากนัก ล่าสุด กรณี "เสก โลโซ" นักร้องในดวงใจใครหลายคนเอารองเท้าไปฟาดกบาล "น้อย วงพรู" นั่นก็สัปดาห์กว่าๆ ผ่านมาแล้ว


 


อย่างไรเสีย ผลจากความคิดความคิดเห็นอันคึกคักอยู่ตามเว็บบอร์ดทั้งใน เว็บ www.manager.co.th และห้องเฉลิมไทย แห่ง "พันทิป" ในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ล่วงมา ก็ยังมีแรงส่งให้หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องออกมาเต้นแร้งเต้นกาด้วยท่าทีเชยๆ ด้วยการเรียกร้องให้สองนักร้องออกมาขอโทษสังคมโดยแยกได้ถึง 3 คดี ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องแสดงความรับผิดชอบ คือ คดีแรก เสก โลโซ เดินคร่อมชฎา ซึ่งในวงการนาฎศิลป์ไทยถือว่า เป็นการลบหลู่ครูอย่างร้ายกาจ


 


คดีที่สอง การทะเลาะวิวาทกันกลางเวทีใหญ่ในต่างแดนนำมาซึ่งความเสื่อมเสียของประเทศชาติ และคดีที่สาม อาจจะไม่เกี่ยวกับคู่กรณีทั้งสองคน แต่เกี่ยวกับคนจัดการแสดง โดยถูกตั้งคำถามว่า ตีความวรรณคดีมากไปหรือเปล่า และการแสดงนั้นเหมาะสมหรือเปล่า


 


น่าสนใจอยู่ว่า ถ้าไม่มีความเห็นในอินเตอร์เน็ต คำถามและข้อเรียกร้องเหล่านี้จะออกมาจากกระทรวงวัฒนธรรมหรือไม่


 


กรณีของเสก โลโซ และน้อยวงพรูนั้น อาจจะเป็นกรณีที่เบาๆ ไปสักหน่อยด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับว่าพลังแห่งการแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดหรือกระทู้ต่างๆ นั้นสามารถสร้างอะไรได้บ้าง


 


ถ้ายังจำกันได้ เมื่อประมาณปีที่แล้ว กรณีของการตามล่า "ไอพี" หาต้นตอของคนส่งรูปลับของของตั๊ก บงกช คงมาลัย อันเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ "ไอ้ฟัก" ซึ่งเริ่มต้นจากการโพสต์ในเว็บ "พันทิป" กระทั่งเป็นเรื่องฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างครึกโครมในช่วงนั้น เมื่อกระแสสังคมระยะแรกก่นประณามไอ้หนุ่ม "มือกลองในตำนาน" ต้นตอภาพลับอย่างหนักหน่วงชนิดที่ไม่ต่างกับนักโทษอุกฉกรรจ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว


 


กระทั่งกระแสความเห็นในอินเตอร์เน็ตเหวี่ยงกลับมาตั้งคำถามว่า ชายหนุ่มคนดังกล่าวกระทำผิดอุกฉกรรจ์ถึงขั้นที่ไม่มีสิทธิได้รับการประกันตัวอย่างนั้นเชียวหรือ (เอ๊ะ! ประเด็นคุ้นๆ แฮะ)


 


ด้วยความเห็นในเว็บพันทิปอีกเช่นกัน ที่ทำให้ "มือกลองในตำนาน" พ้นคุกพ้นตะรางมาได้ หลังจากที่ชาวพันทิปกระหน่ำแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐว่ากระทำเกินกว่าเหตุ


 


นั่นเป็นครั้งที่พลังแห่งความเห็นในอินเตอร์เน็ตได้สำแดงให้เห็นว่า สามารถจะทำให้คนๆ หนึ่งเข้าคุกก็ได้ และรอดออกมาจากคุกก็ได้....ยังไม่นับกรณีของการโพสต์ข้อความโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ชนิดที่นักท่องโลกไซเบอร์เรียกว่า วอร์รูม ที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในกระบวนการทางการเมืองไทยอยู่ในเวลานี้


 


กรณีที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดเว็บบอร์ดไป โดยเจ้าของพื้นที่ หรือที่เรียกว่า โฮสติ้ง ที่ให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใช้บริการอยู่นั้นเป็นผู้ปิดเสียเอง ภายหลังจากที่กระทรวงไอซีทีขอความร่วมมือมาก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เป็นผลมาจากการโพสต์ข้อความ


 


เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่า การที่เจ้าของโฮสต์ตัดสินใจปิดนั้น เกิดขึ้นหลังมีกรณีผู้ใช้นามสมมติ เข้าไปโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวหลายครั้ง และมีกรณีพิพาทกับผู้ที่อ้างตัวว่ามาจาก http://www.sae-dang.com


 


0 0 0


 


แม้ว่าผู้บริหารของ Search Engine อันดับหนึ่งของโลก อย่าง กูเกิ้ล จะออกมาบอกว่า ภัยที่น่ากลัวที่สุดของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็คืออำนาจรัฐ แต่นั่นก็เป็นการกล่าวถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในโลกไซเบอร์ หลังจากที่รัฐบาลจีนขอความร่วมมือจาก ยาฮู เพื่อตามล่าหาผู้ส่งข้อความที่รัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นอันตรายต่อรัฐบาลจีน


 


แน่นอนว่าอำนาจรัฐนั้นเป็นจำเลยในกรณีเกี่ยวกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทุกกรณีอยู่แล้ว แต่จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า การปิดเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบร่วมของผู้ไปโพสต์ข้อความเจ้าปัญหาทั้งหลาย และคำถามคือ สิทธิเสรีภาพแค่ไหนที่ผู้ใช้เว็บบอร์ดสาธารณะจะใช้ได้โดยไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น (กระทั่งถูกละเมิดเสรีภาพกลับในนามของกฎหมายหรือผู้ดูแลเว็บหรือองค์กรของรัฐ)


 


รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นจำเลยอันดับต้นๆ ไปก่อน เมื่อเราพูดเรื่องเสรีภาพในโลกไซเบอร์ แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ การละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นโดยบุคคลเอง ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของกระทู้และการแสดงความเห็น


 


กรณีการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์นั้นนับเป็นกรณีหนึ่งในหลายๆ กรณีที่จะส่งผลต่อความล่อแหลมหรือร่อแร่ของเว็บบอร์ด (อันที่จริงคงต้องบอกว่า เป็นกรณีที่ชอบธรรมที่สุดที่จะใช้อ้างให้ปิดเว็บบอร์ดหรือเซนเซอร์ข้อความเหล่านั้น รวมไปถึงในโลกความเป็นจริงด้วย)


 


แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ควรกล่าวถึงด้วย แม้การโพสต์เหล่านั้น ส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลให้อำนาจรัฐเข้ามายุ่มย่ามคุกคามผู้ดูแลเว็บบอร์ด แต่หลายความเห็นที่ถูกโพสต์ในอินเตอร์เน็ตนั้นอาจหมายถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น


 


0 0 0


 


การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เมื่อใครๆ ก็รู้เกรดเฉลี่ยของลูกสาวนายกฯ


สิ่งที่จะพบกันบ่อยๆ เมื่อกระทู้หรือข่าวของคนดังขึ้นเว็บ นอกเหนือจากการแสดงความเห็นตามเนื้อหาของข่าวแล้ว เป็นที่คาดหมายได้เลยว่า เรื่องราวส่วนตัวของคนๆ นั้นจะถูกเอามาถลกถกเถียงกันอย่างไร้กติกาและโดยไม่ต้องรับผิดด้วยว่า จริงหรือเท็จ และผู้เขียนข้อความที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จนั้น เป็นใครมาจากไหน


 


ซ้อเจ็ด แห่ง www.manager.co.th เป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีแบบนี้ ด้วยยอดผู้อ่านนับแสนคนต่อสัปดาห์ และความฮิตขนาดที่มีขาประจำคอยแข่งขันกันโพสต์ข้อความเป็นคนแรก หรืออย่างน้อยๆ เป็นหนึ่งใน 100 คนแรกที่ได้อ่านและโพสต์ข้อความลงในคอลัมน์บีบสิว ของซ้อเจ็ดก็ยังดี


 


เมื่อซ้อเจ็ดได้บรรเลงเพลงกระบี่ฟาดฟันหนุ่มสาวในวงการบันเทิงแล้ว สิ่งที่อ่านสนุกไม่แพ้กันก็คือความเห็น ที่อาจจะออกมาเสริมความของซ้อเจ็ด หรืออาจจะออกมาแก้ข่าว


 


หลายๆ ความเห็นสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองโดยการอ้างตัวว่าเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง หรือเป็นน้องของเพื่อน เพื่อนของน้า หรือเป็นน้องของพี่เขยของแฟนน้า หรือลูกสาวของเพื่อนแม่หรือพี่สาวของน้องชายเพื่อนของคนที่ถูกพาดพิง จนกระทั่งมีการล้อเลียนการอ้างความสัมพันธ์แบบนี้อยู่พักหนึ่ง


 


ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครเลยสักคนที่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง ในขณะที่หลายคนเริ่มสร้างนามปากกาให้ตัวเองเขียนบทความแข่งขันกับซ้อเจ็ดเป็นที่สนุกสนาน


 


สิ่งที่ซ้อเจ็ดและเหล่าสมาชิกของซ้อเจ็ดนำเสนอนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ พฤติกรรมทางเพศ ของดารานักร้องชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อสังเกตว่าดาราชายบางคนเป็นเกย์ ดาราหญิงบางคนท้องก่อนแต่ง ดาราคนนี้เลิกกับดาราอีกคนไปคบกับอีกคนหนึ่ง ฯลฯ


 


และสิ่งที่ซ้อเจ็ดทำเสมอๆ ก็คือการพูดเรื่องศีลธรรม กับความสำส่อน รวมทั้งการหลอกหลวง ตอแหล ตบตาประชาชน และนั่นก็คือความชอบธรรมที่ซ้อเจ็ดและบรรดาสมาชิกของคอลัมน์บีบสิว ทำกันเสมอๆ โดยไม่ได้ถามตัวเองว่า ระหว่างการสำส่อน หลอกลวง ตอแหล ตบตาประชาชน กับการละเมิดเสรีภาพในการจะมีเพศอะไร หรือมีเซ็กส์กับใครนั้น อย่างไหนมันเลวร้ายกว่ากัน


 


นอกเหนือจากเหล่าผู้คนในแวดวงบันเทิงแล้ว นักการเมืองหรือญาติของนักการเมืองก็ดูเหมือนจะเป็นเหยื่อรายต่อมาที่จะถูกละเมิด และครอบครัวที่มีคะแนนนำโด่งในเรื่องการถูกละเมิดมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ครอบครัวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีผู้ตกอยู่ในสถานะตกต่ำอันยาวนานที่สุดในบรรดานายกรัฐมนตรีของไทย


 


ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม แต่ล่าสุด เมื่อคอลัมน์หนึ่ง ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์พูดถึงผลการเรียนและเกรดเฉลี่ยของนักศึกษาผู้หนึ่ง ซึ่งบังเอิญว่าเกิดมาเป็นลูกสาวนายกฯ ออกมาเผยแพร่นั้นไม่เคยถูกตั้งคำถามนั่นคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคลหรือไม่


 


กรณีของการอ้างตัวว่าเป็นบุคคลสาธารณะหรือการอ้างตัวเป็นบุคคลอื่น


ก่อนสงกรานต์ ปี 2548 ชื่อ "น้ำอบ" หรือ "คุณน้ำอบ" โด่งดังมากอยู่ใน "ห้องสมุด" ของ www.pantip.com เพราะมีการตามล่าหาตัวจริงในโลกจริงของผู้ใช้นามแฝงนี้ หลังจากเธอแอบอ้างตัวว่าเป็นผู้ใกล้ชิดราชวงศ์ชั้นสูง


 


ทำให้เกิดการเฉลยกันกลายๆ ว่าเธอเป็นใครจากคนในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับศาสนาซึ่งเคยเผชิญกับอาการฟุ้งของเธอมาก่อน


 


ครั้งนั้น สังคมในโลกไซเบอร์เอาใจช่วยคุณ MONIQUE เพื่อให้ตามล่าและจัดการกับ "คุณน้ำอบ" ในโลกจริง แต่ก็ดูเหมือนเรื่องราวจะหายเงียบไป ก่อนที่เธอคนนี้จะกลับมาอีกครั้ง เป็นระยะสั้นๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ แต่เธอก็หายตัวไปอีก เมื่อมีผู้โพสต์ข้อความในทำนองว่า จำเธอได้จากเรื่องราวอันกระฉ่อนในเว็บพันทิป


 


การแอบอ้างตัวเองนี้ คาดว่าน่าจะมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง อาจจะด้วยเวลาแห่งโลกจริงไม่ได้มีมากพอให้มาไล่ตามจับตัวตนของคนในโลกไซเบอร์


 


ในเว็บบอร์ดสาธารณะที่ระบบสมาชิกไม่เคร่งครัดนัก ก็จะเกิดกรณีแอบอ้างตัวว่าเป็นบุคคลอื่นอยู่ไม่น้อย เช่นกรณีของ www.prachatai.com พบว่ามีเจ้าของนามแฝงหลายคนขอให้ลบข้อความที่เขาไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ถูกแอบอ้างชื่อ (นามแฝง) โดยบุคคลอื่น


 


การใช้ถ้อยคำหยาบคาย


การใช้คำหยาบคาย หรือหยาบโลน การใช้คำเสียดสี การใช้คำหมิ่นแคลน ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ ผิว การศึกษา หรือแม้กระทั่งศาสนาหรือเชื้อชาติ กรณีแบบนี้มีอยู่เป็นปกติ และอาจจะเรียกได้ว่ามีพัฒนาการที่สุด เพราะตามเว็บบอร์ดต่างๆ เมื่อต้องเผชิญกับถ้อยคำจำพวกนี้ก็มักจะติดตั้งโปรแกรมกรองคำ


 


ผลก็คือ ผู้ใช้เว็บบอร์ดพัฒนาศักยภาพในการเขียนข้อความหยาบคายโดยการสลับตัวอักษร บางคนใช้คำผวน บางคนใช้ตัวสะกดภาษาอังกฤษสะกดคำด่าภาษาไทย หรือการใช้ตัวอักษรเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้อ่านกลับไปอ่านแป้นภาษาไทย เช่น vu[hk บางคนเติมตัวอักษรเข้าไป เช่น กรู มรึง และอีกวิธี คือ เขียนแล้ววรรค หรือใส่เครื่องหมายวรรคตอน เช่น เ..ย ค.....ย


 


กรณีแบบนี้ ผู้ดูแลเว็บบอร์ดต้องอาศัยระบบ manual เพียงอย่างเดียว


 


0 0 0


 


แล้วจะทำอย่างไรกับเสรีภาพที่ไม่ได้ตามมาพร้อมความรับผิดชอบ


ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์เขียนไว้ในบทความ เรื่อง การจัดการความคิดเห็นในชุมชนออนไลน์ http://www.onopen.com/2006/01/634 โดยศึกษากรณีของ www.pantip.com ซึ่งมีระบบระเบียบในการเขียนข้อความค่อนข้างมาก และกรณีเว็บบอร์ดสาธารณะอื่นๆ ที่ไม่มีการจัดการระบบสมาชิก


 


ดร.จิตร์ทัศน์ยกตัวอย่างการจัดการระบบสมาชิกที่ค่อนข้างเป็นระบบกว่าเว็บไซต์อื่นๆ โดยผู้จะแสดงความเห็นชนิดที่เป็นขาจร และผู้ที่ต้องการบัตรผ่านในการแสดงความเห็นจะต้องแจ้งอีเมล์ที่ใช้การได้ให้กับทางเจ้าหน้าที่ของเว็บไซต์ ในขณะที่ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของพันทิปในปัจจุบันก็ต้องใช้หมายเลขบัตรประชาชนในการสมัคร


 


ผู้ที่ใช้บัตรผ่าน หรือขาจรจะแสดงความเห็นได้บางเว็บบอร์ดเท่านั้น เช่น เฉลิมไทย แต่ในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับการเมืองและกีฬาก็จำกัดสิทธิเฉพาะสมาชิกเท่านั้น


 


นอกจากนี้ เว็บไซต์พันทิปได้กำหนด กฎ กติกา มารยาทในการแสดงความเห็น โดยผู้ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความเห็นว่าเป็นไปตามกติกาหรือไม่ นอกจากเจ้าหน้าที่ของพันทิปแล้วยังรวมถึงผู้ใช้บริการเว็บพันทิปที่สามารถจะแจ้งลบกระทู้โดยระบุเหตุผลด้วยว่าขัดกับกฎ กติกาข้อใด โดยจะต้องแจ้งอีเมล์ของผู้แจ้งลบกระทู้ด้วย


 


สำหรับกติกาที่พันทิปกำหนดไว้ได้แก่ ห้ามเขียนข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ห้ามเสนอข้อความลามก ห้ามใส่ร้ายผู้อื่น ห้ามเขียนข้อความชวนทะเลาะ ห้ามโจมตีเกี่ยวกับศาสนา ห้ามใช้นามแฝงเป็นชื่อจริงผู้อื่น ห้ามเขียนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี เป็นต้น หากผู้ดูแลตรวจพบหรือมีผู้ใช้แจ้งเข้ามา กระทู้เหล่านี้จะถูกลบทันที โดยอาจไม่มีการแจ้งเหตุผล และสถานะสมาชิกอาจถูกยึด (เรียกกันว่าการยึดอมยิ้ม) นอกจากนี้ในการเขียนข้อความลงในพันทิปผู้ที่เขียนข้อความดังกล่าวอาจต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง ซึ่งในการจัดการดังกล่าว พันทิปอาจ "เปิดเผยที่มาและรายละเอียดส่วนตัวของผู้เสนอข้อความนั้นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" ซึ่งรวมไปถึงการขอข้อมูลจากบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย


 


ทั้งนี้ ระบบกระดานข่าวอื่นซึ่งไม่ได้จัดระบบสมาชิกอย่างเคร่งครัดอย่างพันทิปก็จะมีการแสดงหมายเลขไอพี แต่ ดร.จิตร์ทัศน์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าในกระดานข่าวที่ไม่มีระบบสมาชิกเลย มักมีการถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนของผู้เขียน และคล้ายกับมีความเชื่อที่ว่าผู้ที่ใช้ชื่อจริง มีความกล้าในการแสดงออกและกล้ายืนยันจุดยืนของตนเองมากกว่าคนที่ใช้นามแฝง


 


0 0 0


 


แม้พันทิปจะแสดงให้เห็นผลสำเร็จบางส่วนจากการจัดการระบบแสดงความเห็น แต่ก็ยังแสดงให้เห็นว่าการละเมิดกติกามีอยู่ และหลายครั้งที่ต้องอาศัยกฎที่เข้มงวดที่สุดคือ ยึดอมยิ้มหรือลบความเห็นออกไป


 


ทั้งที่ก่อนที่นักท่องเว็บทุกคน จะแสดงความคิดเห็นย่อมจะเคยเห็นกฎ กติกา มารยาท ก่อนที่จะทำการโพสต์ข้อความ แต่ผู้ดูแลเว็บบอร์ดทั้งหลายก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะเผชิญกับการละเมิดกติกาอยู่เนืองๆ


 


เมื่อใดที่มีสังคมเกิดขึ้น เมื่อนั้นย่อมต้องมีกติกา และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่า เมื่อใดก็ตามที่มีกติกา เมื่อนั้นก็จะมีผู้พยายามละเมิดกติกา ในโลกจริงนั้นเผชิญกับข้อเท็จจริงนี้มานานแล้ว และในโลกไซเบอร์ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน


 


ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ต ในฐานะสังคมเสมือน จึงไม่ใช่เพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และกล่าวโทษองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่คำถามสำคัญอาจจะอยู่ที่ว่า เมื่อมีสิทธิเสรีภาพแล้ว ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจัดการกับมันอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้การแลกเปลี่ยนกันในโลกไซเบอร์เป็นไปอย่างเคารพในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น พร้อมๆ ไปกับที่ต้องเคารพในเสรีภาพของผู้อื่นที่ถูกอ้างอิงถึงด้วย


 


0 0 0


 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง


การจัดการความคิดเห็นในชุมชนออนไลน์ ตอนที่ 1http://www.onopen.com/2006/01/634


 


แจงเหตุปิดบอร์ด ม.เที่ยงคืน ไอซีทีขอความร่วมมือ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4379&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


ม.เที่ยงคืน เดินหน้าเปิดเว็บบอร์ดเอง หลังถูก ICT ระงับ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4417&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


ผู้บริหารกูเกิลฟันธง "อำนาจรัฐ" เป็นภัยต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4586&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


เรื่องราวของคุณน้ำอบ (บางส่วน)


http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3417282/K3417282.html


http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K3421084/K3421084.html


 


กรณีมือกลองในตำนาน "การประทุษร้ายสังคมบนอินเทอร์เน็ต : ปรากฏการณ์เก่าที่เล่าใหม่"


http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php%3Ft%3D1%26s_id%3D56%26d_id%3D56+%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=18

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net