Skip to main content
sharethis

มาเลเซีย - 12 ก.ย. 49      เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 กันยายน 2549 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศมาเลเซีย ที่โรงแรมซันเวย์ รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานความก้าวหน้าของสภาธุรกิจ 3 ประเทศ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 12 กันยายน 2549 ที่โรงแรมเดียวกัน


 


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอของนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ หัวหน้าคณะฝ่ายไทยที่ขอเพิ่ม 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่และภูเก็ต ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT) และข้อเสนอของดาโต๊ะ สรี อับดุลเราะห์มาน ไมดิน ประธานสภาธุรกิจฝ่ายมาเลเซีย ที่เสนอเพิ่มรัฐเนกรี ซัมบีลันเข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT ด้วย


                     


ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่จะรายงานต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจ 3 ประเทศ กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือAsian Development Bank : ADB ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอิสลาม หรือ Islamic Development Bank : IDB ด้านการเงิน ด้านการพัฒนาทักษะต่างๆ เป็นต้น พร้อมกับเสนอความร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Development Programme : UNDP ในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิที่จังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย


 


นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรื่องการตั้งคณะทำงาน 11 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานด้าน IMT - GT แอร์ไลน์ ด้านเรือเฟอร์รี่ RO - RO ด้านการจัดงาน Visit IMT - GT Year 2008 ด้านศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค ด้านการโปรโมตการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ด้านการท่องเที่ยวเชิงบำบัด ด้านสปาและการสนับสนุนสุขภาพ ด้านโรงแรม 3 ดาว ด้านการจัดทำแบรนดิ้ง และด้าน IMT - GT Plaza โดยคณะทำงานชุดนี้จะมี 2 คณะทำงานย่อย รับผิดชอบการกำหนดมาตรฐานและการจัดทำแบรนดิ้ง


สภาธุรกิจ 3 ประเทศ จะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา IMT - GT ฉบับแรก ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส พร้อมกับแจ้งให้ทราบด้วยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนได้ทำการค้าแบบแลกสินค้าระหว่างกัน หรือบาร์เตอร์เทรดแล้ว


 


ส่วนเรื่องที่จะให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสรับรองพิจารณาและสนับสนุน ประกอบด้วย ให้รับรองตราสัญลักษณ์ IMT - GT ให้ Uninet หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน IMT - GT สนับสนุนองค์ความรู้ให้ภาคเอกชน และให้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และให้ภาครัฐของอินโดนีเซีย ออกวีซ่าระยะยาวตลอดหลักสูตรให้นักศึกษาในพื้นที่ IMT - GT


 


สภาธุรกิจ 3 ประเทศ ยังจะขอให้ภาครัฐให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่น หรือหน่วยราชการในท้องถิ่นสามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ที่เป็นการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และมีอำนาจในการอนุญาตให้นักธุรกิจ ตั้งสถานีขนส่งสินค้าในพื้นที่ของตนได้ รวมทั้งขอให้กำหนดพื้นที่ IMT - GT เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดอัตราภาษีแบบพิเศษ มีนโยบายทางการเงินแบบพิเศษ เป็นต้น อนุญาตให้สายการบินต่างชาติ แวะจอดรับผู้โดยสารตามสนามบินต่างในพื้นที่ IMT - GT


 


สำหรับกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการค้า ณ จุดแรกเริ่ม เสนอให้แนะนำ IMT - GT กับผู้บริหารท้องถิ่นที่จะตั้ง IMT - GT Plaza และจัดสัมมนาเรื่องการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า โดยให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย ในวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน 2549 ที่เมืองเบอลีตุง ประเทศอินโดนีเซีย


 


ส่วนสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากสะพานเศรษฐกิจ เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกลไกการตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของแต่ละประเทศ โดยให้หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของแต่ละประเทศ ยอมรับมาตรฐานกันและกันด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ทางสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาลของมาเลเซีย หรือ JAKIM ห้ามขายอาหารฮาลาลที่ไม่มีตราฮาลาลของ JAKIM ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับมาตรฐานของประเทศอื่น


 


สาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขอให้รับรองสายการบินอัสมารา เข้ามาอยู่ใน IMT - GT ด้วย และขอให้ฝ่ายรัฐช่วยสนับสนุนบริษัทเดินเรือเฟอร์รี่ RO - RO เส้นทาง ปีนัง - เบลาวัน ด้วย เพราะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้องแข่งขันกับธุรกิจเรือเร็ว เพราะจะกระทบกับการขยายเส้นทางเดินเรือมายังท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง


 


ส่วนสาขาตลาดเสรีเสนอให้ครอบคลุมการประกันภัยผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่RO - RO บริเวณชายฝั่ง สาขาการท่องเที่ยวเสนอให้แต่ละประเทศปรับปรุงป้ายจราจรเพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวนอกจากนี้ ฝ่ายมาเลเซียยังได้ขอให้ฝ่ายไทยเสนอเรื่องการเปิดด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 24 ชั่วโมง ฝ่ายไทยไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เพียงแต่แจ้งให้นำเสนอในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส


 


สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส จะมีขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 2549 จากนั้นจะนำข้อเสนอทั้งหมด เข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 13 กันยายน 2549 ที่โรงแรมเดียวกัน โดยฝ่ายไทยมีนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net