Skip to main content
sharethis

22 ตุลาคม 49   คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง ยุติการคุกคามและสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หลังผู้ใหญ่บ้านแกนนำการช่วยเหลือผู้เสียหายคดีตากใบถูกลอบสังหาร เผยเดือนที่ผ่านมามีนักกิจกรรมสังเวยไฟใต้แล้วถึงสองคน และได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


 


0 0 0


 


แถลงการณ์ เรื่อง ยุติความรุนแรงต่อทุกฝ่าย


ยุติการคุกคามและสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน


ในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้


 


วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2549 นายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโน อายุ 40 ปีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านจาเราะ ต. ไพรวัน อ. ตากใบ จ. นราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตใกล้บริเวณบ้านที่พักอาศัย มีบุตรชายหญิง จำนวน 8 คน เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหาและญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบมาโดยตลอด


 


ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมานายนายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโน ได้นำตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านใหม่ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งพร้อมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงภาคใต้


 


เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมได้จัดเลี้ยงละศีลอด(เปิดบวช)พร้อมกับญาติและผู้ได้รับผลกระทบในหมู่บ้านหลายสิบคนที่มัสยิดบ้านจาเราะ ต.ไพรวัน


 


วันที่เกิตเหตุวันที่ 20 ตุลาคม นายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโนขณะพักอยู่กับครอบครัว มีคนโทรศัพท์นัดพบ ชึ่งได้ขับรถยนต์จอดอยู่ห่างจากบ้านพักประมาณ 200 เมตร จากนั้นนายมูฮัมหมัดดือไร ได้ขับรถจักรยานออกไปพบบุคคลดังกล่าว คนร้ายจึงใช้ปีนยิงเสียจนชีวิต


 


ในวันเดียวกันนั้นตัวแทนเครือข่ายผู้สูญเสียกรณีความรุนแรงภาคใต้ได้เดินทางมายื่นหนังสือเสนอแนวทางสมานฉันท์ให้กับตัวแทนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่กรุงเทพ


 


การก่อเหตุรุนแรงต่อผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านในกรณีตากใบซึ่งอาจจะเป็นการกระทำในลักษณะข่มขู่เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีตากใบ ซึ่งจะมีกำหนดครบรอบสองปีในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นวันครบรอบสองปีเหตุการณ์ตากใบและขณะนี้หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องผู้ต้องหากรณีทำร้ายสถานที่ราชการทั้ง 59 รายนี้


 


ก่อนหน้านี้นายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโนได้รับการประสานงานจากทหารสองนายว่าต้องการพูดคุยกับญาติและผู้ประสานงานญาติกรณีตากใบและขอให้นำตัวผู้ประสานงานคดีไปพบ แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบรายละเอียดวัตถุประสงค์และหน่วยงานทางทหารที่ติดต่อพูดคุยกับชาวบ้าน


 


ผู้ประสานงานคนนี้เป็นญาติของชาย 2 คนกรณีตากใบ หนึ่งในนั้นเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ตากใบ และอีกคนต้องตกเป็นจำเลยจากเหตุการณ์เดียวกันในข้อหาทำลายทรัพท์สินของทางราชการ ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาหนึ่งใน 59 คน ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ถูกยิงเสียชีวิต ผู้ประสานงานคดีตากใบอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยต่อการคุกตามอยู่ตลอดมา นอกจากการประสานงานเพื่อเดินทางไปศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อรับฟังการพิจารณาคดีในฐานะจำเลยตลอดมาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2549 ผู้ประสานงานเหล่านี้ยังมีบทบาทในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีตากใบและให้กับญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบและกรณีอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโน เนื่องจากอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง และเนื่องจากนายมูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด


 


ในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ มีนักกิจกรรมในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้เสียหายจากความรุนแรงถูกลอบสังหารสองคนและถูกยิงบาดเจ็บสองคน ขณะนี้จึงมีแนวโน้มว่าบุคคลที่มีส่วนในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านจะตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามถึงขั้นการลอบสังหาร อาจเนื่องจากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ บรรยากาศของการเจรจาจากส่วนกลางและในพื้นที่อาจทำให้หลายฝ่ายเกิดความขัดแย้งทางความคิด และบุคคลที่มีส่วนในการประสานงานอาจต้องตกเป็นเหยื่อของหลาย ๆ ฝ่ายท่ามกลางความขัดแย้ง ความสับสนและเป้าหมายที่แตกต่างกัน


 


 " เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจให้กับบรรดาผู้ใฝ่หาสันติภาพ และทำลายบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ จึงควรที่รัฐจะเร่งทำความจริงให้ปรากฏ และหาตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะความสมานฉันท์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัย และความไม่ไว้วางใจ รัฐต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ในการที่จะปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และกติกาสากลระหว่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จึงทำให้ผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างสถานการณ์แห่งความกลัว และความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน สุดท้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีผู้ใดสามารถปกป้องคุ้มครองได้ " นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอเรียกร้องให้ทุก ๆ ฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการทุกวิถีทางด้วยสันติวิธี เคารพหลักสิทธมนุษยชนและหลักธรรมในการนำมาซึ่งสันติสุข จากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาในภาคใต้ เกิดความสูญเสียต่อชีวิต สร้างความขมขื่น ทุกข์ยาก แสนสาหัสในชีวิตของประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐจากพื้นที่ต่าง ๆทั่วประเทศ รวมทั้งกับประชาชนชาวไทยมามากมาย การแก้ไขปัญหาของภาคใต้ต้องเริ่มที่การเคารพหลักธรรมและยุติการใช้ความรุนแรง


 


                                                                                         22 ตุลาคม 2549


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net