Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





 โดย ตติกานต์ อุดกันทา

 


"หาญเล็ด" ในภาษาพม่า เท่ากับคำว่า Nettle ในภาษาอังกฤษ...


 


หมายถึง พืชชนิดหนึ่งที่มีพิษ (ไม่ร้ายแรง) แต่ทำให้คนที่แตะถูกมันเกิดอาการแสบๆ คันๆ จนลืมไม่ลง


 


หรือถ้าจะพูดให้จำเพาะเจาะจงกว่านี้อีกนิดก็ต้องบอกว่า หาญเล็ด คือ "ต้นตำแย" ในภาษาบ้านเรา ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการก่อความระคายเคืองให้กับคนที่บังเอิญไปข้องแวะแตะต้องกับมันเข้า


 


ด้วยคุณสมบัติที่น่ารักน่าชังเช่นนี้เอง ทำให้นักวาดการ์ตูนชาวไทใหญ่ (สัญชาติพม่า) นำชื่อ "หาญเล็ด" (Harn Lay) มาใช้เป็นนามปากกาของตัวเอง ก่อนจะตั้งหน้าตั้งตาเสียดสีการเมืองของพม่าผ่านการ์ตูนล้อเลียน ด้วยความหวังว่าการสร้างความระคายเคืองอย่างสม่ำเสมอแก่รัฐบาลเผด็จการที่ใช้ปืนปล้นประชาธิปไตยมา อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมพม่าได้


 


หรือถ้าโชคร้าย...ในกรณีที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเลย อย่างน้อยที่สุดหาญเล็ดและแอคติวิสต์คนอื่นๆ (ทั้งในและนอกพม่า) ก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่าพวกเขาจริงจังพอที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง แทนที่จะนั่งรอให้เหตุการณ์ต่างๆ สุกงอมด้วยตัวของมันเองเพียงอย่างเดียว


 


0 0 0


 



หาญเล็ด หรือ "จายสายแหลด"



 


"สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าได้ออกมาสู่สายตาคนทั่วโลกน้อยมาก และสิ่งที่เราทำคือการตบหน้าเบาๆ ให้คนหันมาเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น..."


 


นั่นคือคำอธิบายถึงเหตุผลในการทำงานของหาญเล็ด ผู้มีชื่อจริงว่า "จายสายแหลด" ศิลปินนักวาดการ์ตูนวัย 40 ปี ที่เขียนภาพประกอบลงในนิตยสารและหนังสืออีกมากมาย ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสะท้อนความเคลื่อนไหวของการเมืองในประเทศพม่าออกมาให้คนรับรู้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


 


ผลงานล่าสุดของหานเล็ดกำลังอยู่ในระหว่างตีพิมพ์ เป็นหนังสือรวมภาพการ์ตูนล้อการเมืองที่สำนักพิมพ์อิรวดี (IPG: Irrawaddy Publishing Group) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยหนังสือเล่มที่ว่าจะรวบรวมงานที่ดีที่สุดจำนวน 100 ภาพของหาญเล็ดไว้ด้วยกัน


 


หาญเล็ดเล่าให้ฟังว่านายแพทย์คนหนึ่งที่เขารู้จักถูกจับขังคุกถึง 15 ปี ด้วยข้อหา "เป็นภัยต่อความมั่นคง" เพียงเพราะนายแพทย์คนนั้นถูกจับได้ว่าอ่านหนังสือพิมพ์พม่าที่เสนอข่าวต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว


 


"คนพม่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสและไม่มีช่องทางสื่อสารให้โลกได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน เพราะรัฐบาลทหารคุมเข้มทุกอย่าง"


 


สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เสนอข้อมูลแตกต่างจากสำนักข่าวที่ถูกควบคุมโดยทหารพม่า มีที่มาจากต่างประเทศ และถูกนำเสนอผ่านมุมมองของชาวพม่าพลัดถิ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นที่กังขาของคนทั่วไปว่าความแม่นยำของข้อมูล รวมถึงอคติที่ผู้เสนอข่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริงๆ จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวหรือไม่


 


"ถึงจะอยู่ข้างนอก (ประเทศพม่า) แต่เราก็ยังติดต่อกับคนในพื้นที่ และเราก็รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร เพราะก่อนที่เราจะออกมาจากพม่า เราก็เคยเจอกับการกดดันจากรัฐบาลที่สั่งห้ามทุกอย่าง ทั้งห้ามชุมนุม ห้ามแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาล และวิจารณ์อะไรไม่ได้"


 


"ยิ่งรัฐบาลพยายามปกปิดความจริงมากเท่าไหร่ คนพม่าก็ยิ่งต้องหาทางทำให้คนอื่นๆ รู้ว่าความจริงเป็นยังไงกันแน่ และต้องทำทุกวิถีทางด้วย"


 


ด้วยเหตุนี้ นอกจากการเขียนภาพประกอบลงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หาญเล็ดยังมีผลงานตีพิมพ์เป็นประจำในเวบไซต์ข่าวอิรวดีซึ่งอัพเดทข้อมูลอย่างทันสถานการณ์ด้วย


 


0 0 0


 



 ภาพ Don"t Bite the Hand that Feeds


  


ในจำนวนผลงานนับร้อยที่หาญเล็ดเขียนขึ้นนับตั้งแต่ลี้ภัยออกจากพม่าเมื่อปี 1988 เขายังคงมีอารมณ์ขันและถ่ายทอดมันลงในการ์ตูนล้อการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นคือผลจากการติดตามความเคลื่อนไหวในพม่าและรัฐฉานซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ตลอดเวลา


 


แม้จะใช้สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าเป็นหลัก แต่การกระทำที่นานาประเทศสนองตอบรัฐบาลทหารของพม่าที่เปลี่ยนหน้ากันมาปกครองประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี คือกระจกเงาที่จะทำให้คนในแต่ละประเทศเข้าใจถึงจุดยืนของรัฐบาลตนเองมากขึ้น และจุดยืนเหล่านั้นจะน่าภาคภูมิใจหรือน่าอดสู ไม่อาจดูที่เจตนาเพียงอย่างเดียว แต่คงต้องมองยาวไปถึงผลกระทบที่เกิดตามมาด้วย


 


การจัดให้การ์ตูนของหาญเล็ดมีสัญชาติพม่าเพียงอย่างเดียว จึงออกจะเป็นคำนิยามที่คับแคบไปสักหน่อย เพราะประเด็นที่เสนอในการ์ตูนล้อหลายๆ ภาพของหาญเล็ด สะท้อนถึงความเชื่อมโยงระดับประเทศเลยทีเดียว


 


ผลงานของหาญเล็ดที่สร้างความระคายเคืองแก่คนในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ภาพหนึ่ง ชื่อว่า Don"t Bite the Hand that Feeds


 


หาญเล็ดอธิบายความหมายให้ฟังว่า ภาพดังกล่าว คือภาพผู้นำประเทศในแถบอาเซียนและนักธุรกิจที่วิ่งกรูเข้าหามือเปื้อนเลือดของผู้นำทหารพม่า และหยดเลือดที่หล่นลงมาจากมือก็เป็นตัวเลข 888 อันเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยภาคประชาชนชาวพม่า เมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988


 


การต่อสู้ครั้งนั้นจบลงที่การนองเลือดของประชาชนที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากนายพลเนวินก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร


 


เหตุการณ์ครั้งนั้นอีกเช่นกันที่ทำให้สุภาพสตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย "อองซานซูจี" ถูกจับกักบริเวณเป็นครั้งแรก


 


หลังจากนั้น สิทธิมนุษยชนในพม่าก็ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องยาวนาน ใครที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลทหารจะถูกจับขังด้วยข้อหาอะไรก็แล้วแต่ ตามที่จะตั้งขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้และพื้นที่ทำประมงที่อุดมสมบูณ์ก็ถูกแปลงให้เป็นทุนด้วยการเปิดให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาชุบมือเปิบ


 


แน่นอนว่ามือของผู้นำทหารที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดของประชาชนพม่า ไม่ได้เป็นที่รังเกียจของนักลงทุนในแต่ละประเทศ แถมพ่วงด้วยผู้นำประเทศอาเซียนบางส่วนที่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลพม่าด้วยความเต็มใจ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงเลยว่า ผลตอบแทนที่ผ่านมาสู่ประเทศของตนจะหมายถึงการสนับสนุนให้รัฐบาลพม่ากดขี่และขูดรีดผลประโยชน์ต่างนานาจากประชาชนพม่าโดยทางอ้อมหรือไม่


 


ถึงจะท่องประโยคว่า "การเมืองเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ" จนขึ้นใจก็ตามที แต่ความสัมพันธ์ของพม่ากับประเทศในละแวกใกล้เคียงก็ไม่ได้ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างใครสักคนที่มองเห็นรางๆ ว่าเพื่อนบ้านของตนกำลังกดขี่ทารุณกับลูกบ้าน


 


และถึงจะเห็นไม่ชัดเจน หรือจับไม่ได้คาหนังคาเขา เพราะเพื่อนบ้านของเราสามารถปิดปากลูกบ้านไม่ให้มีโอกาสต่อว่าต่อขานประจานตัวเองต่อหน้าคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเพิกเฉยและมองว่านั่นคือเรื่องภายในบ้านอื่นๆ ที่ไม่ควรยื่นมือเข้าไปยุ่ง


 


0 0 0


 


 


ภาพ Hush-Hush, Meeting in Naypyidaw


 



ภาพ Together we'll sort out this problem


 


ภาพล้อเลียนอื่นๆ ของหาญเล็ดที่พูดถึง "ผลกระทบ" จากความร่วมมือที่ประเทศต่างๆ มีให้แก่รัฐบาลพม่า มีตั้งแต่ภาพการประชุมเรื่องการตั้งเมืองหลวงใหม่ของพม่า ที่มีผู้นำ (หน้าเหลี่ยม) จากบางประเทศงุบงิบคุยกันถึงเรื่องผลประโยชน์อยู่ในโปงผ้าห่ม น่าจะเป็นภาพที่คนไทยเข้าใจถึงนัยยะแสบๆ คันๆ ที่แทรกอยู่ในนั้นได้เป็นอย่างดี


 


หรือแม้แต่ภาพล้อชื่อว่า Together we"ll sort out this problem คือภาพผู้นำพม่าและผู้นำอินเดียลองใช้อาวุธยิงเป้าไปยัง "นาคาแลนด์" อันเป็นดินแดนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียที่ต้องการประกาศอิสรภาพและปกครองตนเอง ซึ่งเป็นหนามยอกอกรัฐบาลอินเดียอีกชิ้นหนึ่ง


 


เมื่อรัฐบาลพม่าจับมือกับอินเดียเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในด้าน "อาวุธยุทโธปกรณ์" ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำนี้ก็หนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ ชาวนาคาแลนด์ที่ถูกทำให้กลายเป็นหนูทดลองประสิทธิภาพของอาวุธสังหารเหล่านั้น...


 


 



88 generation (ภาพ I thought we had tis one all tied up)



 


เช่นเดียวกับภาพของชาวพม่าคนหนึ่งที่ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ทหาร 2 นายพยายามจะหาตาข่ายและเชือกมามัดโยงไม่ให้ชาวพม่าคนนั้นเคลื่อนไหว


 


แม้จะมีเพียงหนึ่ง แต่ตัวการ์ตูนที่เป็นชาวพม่า ถูกบรรยายไว้ว่า "88 Generation - Students Group" ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักศึกษาพม่าที่เติบโตมาในยุคเหตุการณ์ 888 พอดี และพวกเขาได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยที่กลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้นทุกวัน


 


ภาพต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า "ความเคลื่อนไหว" บางอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว และหากมีใครสนใจจะเป็น "แนวร่วม" เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง "เจเนเรชั่น 88" ก็คงจะยินดีมิใช่น้อย...


 


0 0 0


 


 


หาญเล็ด และ คำป่าง นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองชาวไทใหญ่


 


แม้ว่าการต่อสู้ด้วยปลายดินสอและพู่กันจะไม่เห็นผลทันตาเหมือนการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ แต่หาญเล็ดเลือกที่จะใช้ภาพวาดเป็นสื่อ ในฐานะที่เขาเป็นศิลปิน ซึ่งก็คือการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ดีกว่าต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัดแล้วทำออกมาได้ไม่ดี


 


เรื่องของ "บทบาทหน้าที่" จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งหาญเล็ดให้ความสำคัญอย่างขึ้นใจ


 


"การที่เราออกนอกประเทศ ไม่ได้หมายความว่าเราจะวางเฉยกับเรื่องที่เกิดขึ้นภายใน แต่เราจำเป็นต้องหนีออกมาตั้งหลัก เพื่อจะได้รับมือกับรัฐบาลทหาร เพราะถ้าเรายังอยู่ในนั้น เราคงทำอะไรไม่ได้มาก"


 


"คนพม่าคนอื่นๆ ไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะคนเราก็ต้องทำมาหากิน ต้องเอาตัวรอด แต่สิ่งที่เราทำอยู่ ก็เพราะอยากให้เขาคิดได้ว่าจะต้องลงมือทำอะไรบ้าง เผื่อเรื่องภายในของพม่าจะดีขึ้น"


 


"อีกอย่างหนึ่งก็คืออยากให้คนข้างนอกได้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเขาสามารถช่วยกระจายข้อมูลเหล่านี้ได้ก็น่าจะทำให้มีหลายๆ คนช่วยกันจับตามองรัฐบาลพม่ามากขึ้น ทหารเขาจะได้ทำอะไรไม่สะดวกบ้าง"



 


หมายเหตุ :


ประชาชนชาวไทยสามารถชมผลงานของหาญเล็ดได้ในระยะประชิด ณ ห้องนิทรรศการ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ชั้นเพนท์เฮาส์ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ สุขุมวิท


 


นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานของนักวาดการ์ตูนชาวไทใหญ่ ได้แก่ หาญเล็ด, วินทุน, คำป่าง และภาพการ์ตูนล้อเลียนที่เป็นผลงานของกลุ่มสตรีพม่า


 


แต่ถ้าสนใจงานที่ทันสถานการณ์กว่านั้น สามารถเข้าไปทัศนาได้ที่เวบไซต์อิรวดี และติดตามความคืบหน้าของหนังสือรวมผลงานหาญเล็ดได้ที่ http://www.irrawaddy.org


 


 


……………………………………………………………….................................................


ข่าวประกอบ :


ชวนชมนิทรรศการภาพการ์ตูนของนักเขียนชื่อดังจากพม่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net