Skip to main content
sharethis

4 ธ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ เปิดเผยถึงแนวทางการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า จะต้องปรับปรุงระบบคัดเลือกและพัฒนาบุคคลที่จะมาเป็นตำรวจควบคู่กันไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ครั้งต่อไปวันที่ 8 ธ.ค.49


      


สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากเป็นสถาบันคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นตำรวจ แต่ปัจจุบันระบบการศึกษาที่เน้นความเป็นกึ่งทหาร เนื่องจากการฝึกวิชาชีพแบบทหารมีข้อดีอยู่เยอะ เหมาะสมสำหรับงานที่เน้นวินัยความเสียสละ ความอดทนและการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีความจำเป็นในระบบที่ต้องการบุคลากรแบบนั้น แต่ในส่วนตำรวจสมัยใหม่ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด การฝึกในลักษณะกึ่งทหาร โดยการเรียนเตรียมทหาร 2 ปี แล้วมาแยกเหล่าทีหลังนั้นเหมาะสมหรือไม่


      


ทั้งนี้ โรงเรียนนายร้อยเป็นสถาบันที่ดีและก็ได้รับการพัฒนามาโดยตลอด แต่ว่าการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับระบบตำรวจสมัยใหม่หรือไม่ ต้องนำมาเป็นประเด็นที่คุยกัน ประเด็นแรก คือ ปรัชญาการเป็นตำรวจกับแนวทางที่เป็นกึ่งทหาร ซึ่งจะกระทบทั้งความเหมาะสมจากโรงเรียนรวมเหล่าเตรียมทหาร และหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องพูดให้ชัดเจนว่าไม่ได้หมายความว่าจะยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เราจะยกโรงเรียนนายร้อยให้เป็นสถาบันวิชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจยังไม่ได้คุยกัน


 


ฉะนั้น ที่เขาพูดยังเป็นเพียงแนวทางที่ฝ่ายเลขาฯได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ให้รวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าหากมีการพัฒนาคนที่ดี จะสามารถแก้ปัญหาได้มาก


      


ขณะเดียวกันต้องให้พนักงานสอบสวน (พงส.) เป็นวิชาชีพด้านสอบสวนและกฎหมาย บรรจุครั้งแรกเป็นพนักงานสอบสวน เมื่อทำงานครบตามระยะเวลาที่กำหนดหรือมีคุณสมบัติครบ ต่อไปก็เลื่อนขึ้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ไล่ต่อเนื่องไปถึงผู้ชำนาญการพิเศษ เป็นต้น


 


โดยจะเพิ่มเงินเดือนให้ใกล้เคียงกับพนักงานอัยการ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องสอบหลักสูตรเนติบัณฑิตไทยด้วย เพื่อให้เขามีความภาคภูมิใจ เนื่องจากตอนนี้ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นพนักงานสอบสวน ทั้งที่พนักงานสอบสวนถือเป็นหัวใจหลักของงานด้านสอบสวน ซึ่งสายการบังคับบัญชาระหว่างฝ่ายปราบปราม กับพนักงานสอบสวนออกจากกัน ต่อไปพนักงานสอบสวนอาจไม่ต้องขึ้นกับผู้กำกับการสถานีตำรวจ แต่อาจจะแยกเป็นกองบัญชาการหรือกรมต่างหาก


      


นอกจากนี้การพัฒนาตำรวจชั้นประทวนก็มีความสำคัญ ที่ผ่านมาแม้โรงเรียนพลตำรวจจะมีการพัฒนาบ้าง จากการปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์วิชาชีพตำรวจ แต่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียการคัดเลือกคนเข้ามาจากผู้ที่จบชั้นม.ปลาย หลักสูตรการฝึกอบรมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน ซึ่งต้องดูแลเขาให้ดีมีสวัสดิการ เครื่องไม้เครื่องมือต้องเพียงพอ จากนั้นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนมาก ในขณะที่ตำรวจเหล่านี้ เป็นผู้ที่สัมผัสกับประชาชนอย่างใกล้ชิดมากที่สุด แต่มีปัญหาเงินเดือนน้อย การฝึกอบรมที่ไม่ต่อเนื่องสายการบังคับบัญชาที่ยาวไกล มีค่านิยมและทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง


      


นอกจากนี้นายกิติพงษ์ ยังกล่าวถึง หลักการการปรับโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องปรับให้เล็กลง กระชับ และมีการบริหารงานบุคคลที่โปร่งใส แนวคิดปัจจุบันแทนที่จะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจมากที่สุด ก็ให้กระจายอำนาจไปสู่กองบัญชาการระดับภาค ที่มีผู้บัญชาการตำรวจประจำภาคเทียบเท่ากับอธิบดีตำรวจ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน และการพัฒนาบุคลาการ การสนธิกำลังที่จำเป็น ซึ่งจะเหมือนกับต่างประเทศ และลดการให้ความสำคัญกับยศและตำแหน่ง เนื่องจากภารกิจสนับสนุน เช่นงานด้านการสอบสวน งานนิติวิทยาศาสตร์และหลายๆ ด้านไม่จำเป็นต้องมียศ


      


ส่วนปัญหาการซื้อขายตำแหน่งและการแต่งตั้งโยกย้าย จะต้องทำให้โปร่งใส ถือเป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบตำรวจเป็นห่วง และต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างหากเป็นการรวมศูนย์อำนาจก็จะมีอำนาจใหญ่โตสามารถโยกย้ายตำรวจได้ทั่วประเทศ


      


ฉะนั้นการแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งต้องเริ่มที่การกระจายอำนาจที่เหมาะสม ถ้าหากยังไม่พร้อมที่จะกระจายอำนาจไปสู่ระดับจังหวัด ก็กระจายไปสู่ระดับกองบัญชาการภาคได้ เพราะตรงกับทิศทางของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2547 ที่ต้องการทำให้กองบัญชาการภาคเข้มแข็ง มีงบประมาณ และการโยกย้ายเบ็ดเสร็จอยู่ในนั้น แต่ต้องมีคณะกรรมการบริหารบุคคล เช่นก.ตร.จังหวัด ที่อิสระไม่มีใครมาครอบงำได้ เป็นหน่วยงานที่จะสร้างความเป็นกลางทางการเมืองให้กับตำรวจ และกลไกในการโยกย้ายแต่งตั้งเป็นไปโดยชอบธรรม เชื่อว่าระบบที่ดีจะช่วยให้คนทำเลวได้ยากขึ้น


 


ซึ่งตัวอย่างในต่างประเทศหรือระบบสากล จะเป็นบอร์ดหรือคณะกรรมการฯ ที่ฝ่ายพลเรือนมากำกับตำรวจ และจะต้องให้คุณให้โทษหรือปลดตำรวจได้ มีระบบรับเรื่องร้องเรียนที่เข้มแข็งมีเครื่องมือ คณะทำงานที่อิสระ มีกลไกลที่มีความเข้มแข็งไม่ใช่พึ่งตำรวจอย่างเดียว เช่นที่อังกฤษ แคนาดา องค์ประกอบของ คณะกรรมการฯ ที่ดี อาจมาจาก ประชาชน อัยการ หรือ ผู้พิพากษา เพราะโดยหน้าที่ก็ต้องทำงานประสานกันอยู่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นคณะกรรมการมีแนวคิดว่าหากจะให้ตำรวจมีทั้งหมด 9 ภาค เหมือนกับอัยการและ ศาล พร้อมกับสร้างระบบการตรวจสอบที่ยึดโยงกันและก็ทำให้ระบบการตรวจสอบระบบตำรวจมีประสิทธิภาพ หากตำรวจแต่งตั้งกันเอง ก็อาจจะเป็นไปเพื่อองค์กรมากกว่าเพื่อบริการประชาชน


      


อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อไปจะพยายามเปิดประเด็นการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประเด็นสาธารณะ ประชาชน ตำรวจทุกระดับ และหลายๆ ฝ่ายสามารถร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้ ต่อไปจะจัดเวทีให้ความรู้ตามสถานที่ต่าง มีเว็บไซต์ และการทำโพลล์สำรวจความเห็นร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ หรือทำกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับสมัชชาแห่งชาติ เป็นต้น


 


 


 


............


ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net