Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เคยลองนับกันบ้างไหมว่าที่ผ่านมา เราแต่ละคนเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า "เดจาวู" กันมากี่ครั้ง แล้วมีอีกกี่ครั้งที่เดจาวูนั้นไปตรงกับเดจาวูของคนในสังคมเดียวกันโดยพร้อมเพรียง


 


ถ้ายังนึกไม่ออก อาจลองทวนความจำด้วยละครเวที "ความฝันกลางเดือนหนาว" ละครซ้อนละคร ซึ่งพระจันทร์เสี้ยวการละคร นำกลับมาแสดงใหม่อีกครั้ง ในวาระรำลึก 30 ปี 6 ตุลาคม 2519 หลังจากแสดงครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน


 



 


"โลกกำลังหมุนไป ขณะที่เรากำลังยืนอยู่กับที่..." ข้อความที่ถูกโปรยไว้ข้างใต้ชื่อละคร ชวนให้นึกสงสัยว่า เดจาวูรวมหมู่นั้นมีอยู่จริง วันเวลาที่ผ่านเลยไป ไม่ได้ทำให้เดจาวูหายไป แต่กลับทำให้มันเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วหรือ แล้วเราต้องรับมือกับความรู้สึกเคยชินจนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดเป็นวัฎจักรได้อย่างไร  


 


ขณะที่ยังไม่ได้คำตอบ คำถามก็กระหน่ำเข้ามาอีกหลังจากละครเวทีได้เริ่มขึ้น


 


000


คณะละครหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งกำลังต้องเปลี่ยนแนวทางการแสดงเพื่อให้สอดรับกับคนดูที่เริ่มออกห่างจากโลกของความฝันมาอยู่ในโลกของความจริงมากขึ้น ระหว่างการหาคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการแสดงที่ทั้งผู้แสดงและผู้ชมจะพึงพอใจ ผู้ชม (ข้างล่างเวที) ก็ได้ชมละครเวทีอีก 4 เรื่องที่ซ้อนขึ้นมา   


 


ละครทั้ง 4 เรื่องนำมาจากบางส่วนของบทละครจากหลากหลายยุคซึ่งล้วนแล้วแต่เคยตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ในช่วงเวลาของตัวมาแล้วทั้งนั้น


 


บทละคร สู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) ของ เดล วาสเซอร์มัน ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ ดอน มิเกล เด เซรบานเตส เสนอเรื่องราวของ ดอน กิโฮเต้ ที่หันหลังให้ลามันช่า เพื่อมุ่งมั่นไปตามทางของอัศวิน ผู้หวังจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่าที่เป็น แม้ระหว่างทางจะถูกคนรอบข้างและสังคมติดป้ายว่า "บ้า" และสุดท้ายต้องกลับบ้านด้วยความพ่ายแพ้และจบชีวิตลงก็ตาม


 


แต่นั่นก็ช่วยให้เกิดคำถามว่า "เราจะมีชีวิตอยู่อย่างที่มันเป็น หรือจะมีชีวิตอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น"


 


ขณะเดียวกันนั้น โปรเจคเตอร์ที่อยู่เหนือเวทีอีกฝั่ง ฉายภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475...


 


ผู้บริสุทธิ์ (The Justice) จากบทประพันธ์ของ อัลแบร์ กามู นักประพันธ์รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ที่ฉายให้เห็นการถกเถียงกันของนักปฏิวัติหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งว่าจะสละชีวิตของลูกหลานเผด็จการและคนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของคนส่วนใหญ่หรือไม่ โดยกล่าวถึงคนบางพวกที่ทำการปฏิวัติเพื่อความรุนแรงและความเกลียดชังว่าไม่ใช่ความรักและว่า "คนพวกนี้จะเป็นต้นตอของเผด็จการแบบรวบอำนาจ ซึ่งไม่ดีไปกว่ารูปแบบสังคมเก่าเท่าใด"


 


วิธีการกับเป้าหมายอย่างไหนกันที่จะสำคัญกว่า และใครคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจะตัดสินชีวิตของใครคนอื่นหรือไม่ หากชีวิตของคนๆ นั้น อาจแลกได้กับอิสรภาพของคนอื่นๆ อีกมากมาย


 


อีกด้านของเวที เราเห็นภาพของขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 2516…


 


หมอผีครองเมือง (The Crucible) ของ อาเธอร์ มิลเลอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ในยุคหมอผีครองเมือง ที่หญิงสาวถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด และถูกลงโทษอย่างโหดร้าย


 


อีกฟากหนึ่ง คนดูก็จะได้เห็นภาพของนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ถูกทำร้ายอย่างเหี้ยมโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519


 


สุดท้าย บทละครเรื่อง ความตายของหญิงสาว (Death and the Maiden) ของแอเรียล ดอร์ฟแมน เรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกข่มขืนระหว่างเหตุการณ์ทางการเมืองในชิลี เธอได้พบกับชายที่ทำร้ายเธออีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี


 


สิ่งที่เธอร้องขอต่อคนรักหนุ่มคือค้นหาความจริงให้เจอ แต่เขากลับให้เธอ "ลืมเรื่องที่เกิดขึ้น" แล้วเริ่มต้นใหม่


 


แต่เธอเองยังคงมีคำถาม "ทำไมต้องเป็นฉันที่ต้องเสียสละ จำยอมและนิ่งเงียบ"


 


ผู้ถูกกระทำจะอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับผู้กระทำได้อย่างไร เราจะเยียวยาสังคมด้วยวิธีไหน และหากมัวแต่กลัวว่า การหาความจริงอาจนำภัยบางอย่างมาให้ แล้วเราจะไปหาความจริงได้จากไหน แม้จะมีคนบอกให้ลืมมันเสีย แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันจะไม่ย้อนกลับมาเล่นงานเราซ้ำสอง 


 


บางทีความเคยชินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับเดจาวู อาจทำให้เราเองก็ดึงเอาคำตอบสูตรสำเร็จกลับมาใช้อยู่เรื่อยๆ โดยไม่ได้ลองตั้งคำถาม หรือพยายามค้นหาความจริงของเหตุการณ์นั้นออกมาจริงๆ


 


บ้า ฝันเฟื่อง อุดมการณ์กินไม่ได้...


 


เจ้าหลักการ ประชาธิปไตยจ๋า...


 


เป็น "คนอื่น" นำพาความแตกแยก...


 


ให้อภัย สมานฉันท์...


 


การพร่ำพูดด้วยวาทกรรมพวกนี้ อาจทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านมาและผ่านไป


 


จะมีครั้งไหนไหมที่เหตุการณ์พวกนี้จะถูกตรวจสอบ ขุดค้น ไปจนเจอสาเหตุของมัน และเมื่อถึงตอนนั้น เราก็จะได้หลุดจาก "ภาวะเดจาวู" ร่วมกันเสียที


 


 


 


.................................


เว็บไซต์ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร http://www.crescentmoontheatre.com/Home.htm


 


    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net